xs
xsm
sm
md
lg

จี้จัดเรตติงรายการสมัครหวั่นเด็ก “ใช้คำหยาบ”ตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยเครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์สุขชุมชน) กล่าวว่า การที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสำนักวิจัยฯนั้น ตนเองได้ให้อภัยและอโหสิท่านแล้วทุกอย่าง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหาร ผู้นำของประเทศใช้ถ้อยคำที่ใช้อารมณ์รุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก และเยาวชนที่มีงานวิจัยยืนยันชัดเจนแล้วว่า รายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหารุนแรง หยาบคาย มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่อาจเบี่ยงเบนไป
“หากเด็กได้ชมรายการและซึมซับถ้อยคำรุนแรงของผู้นำประเทศอย่างคำว่า เฮงซวย เลวทราม ไปใช้โต้เถียงกับพ่อแม่ผู้ปกครองในครอบครัวจะเกิดอะไรขึ้น และยิ่งท่านได้ออกสื่อบ่อยครั้ง คำพูดที่ส่อถึงอารมณ์ยิ่งทำให้เด็กได้เห็นบ่อยครั้ง ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ทั้งนี้ในรายการ สนทนาประสาสมัคร ที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูด หลายครั้งที่หลุดคำพูดใช้อารมณ์รุนแรงน่าจะต้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดเรตติ้งเนื้อหารายการด้วยเช่นกัน อาจเป็น น.+18 (คือรายการเด็กอายุ 13-18 ปี ดูได้ แต่ต้องมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำเพราะมีภาพและเนื้อหาไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน) หรือไม่ก็ ฉ (คือรายการเฉพาะไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชน เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป) เลยก็ได้ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ควรดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นแบบอย่างแก่รายการอื่น เพราะมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก”
นาย นพดล กล่าวว่า ตนเองยังมองโลกในอีกมุมว่า นายสมัครจะเป็นผู้ใหญ่ ในชีวิตที่ผ่านมา ที่ปากร้ายแต่ใจดี การตำหนิของท่านเหมือนกับการให้พร เพื่อเอามาปรับปรุงในการทำวิจัยต่อไป โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองที่เป็นตัวสะท้อนความคิดของประชาชนให้ฝ่ายบริหารของประเทศทราบปัญหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการอยู่ในขณะนี้ แต่เป็นเรื่องของปากท้องของประชาชนที่ควรเร่งแก้ไขมากกว่ารัฐธรรมนูญ
ด้าน นายเผชิญ ขำโพธิ์ รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการทำโพล ถามความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดรายการ สนทนาประษาสมัคร ของนายสมัคร สุนทรเวช ว่าความจริงโพล์มีหลายหน่วยงานจัดทำอยู่แล้ว ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์ก็มีศูนย์สาระนิเทศสำรวจอยู่แล้ว ซึ่งก็เห็นว่าประชาชนก็ตอบรับในทางที่ดีชื่นชอบรายการนี้ แต่อาจจะมีโพลที่ออกหลายสำนักบางครั้งประชาชนก็อาจจะคล้อยตามโพล บางครั้งอาจจะไม่เห็นด้วย
ส่วนที่ประชาชนมองว่านายสมัคร ใช้รายการ เป็นเครื่องมือในการกล่าวพาดพิง ผู้อื่นทางกรมประชาสัมพันธ์มองอย่างไรนั้น นายเผชิญ กล่าวว่า ท่านมีสิทธิที่จะพูดในรายการ โดยส่วนตัวไม่ได้คิดอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าประชาชนตอบรับเท่าไหร่เกี่ยวกับรายการ สนทนาประสาสมัคร นายเผชิญ กล่าวว่า โพลก็คือความเห็นอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งหมด เช่น คนกรุงเทพฯ ก็ส่วนหนึ่ง แต่เราก็ฟังความคิดเห็น ของทั้งสองด้านและอีกส่วนก็สุ่มเอาจากบางกลุ่มมาเช่นจะสุ่มจากช่วงอายุ การศึกษา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังดำเนินการอยู่และมีกระแสตอบรับที่ดีขึ้นเนื่องจากต้องมีการประเมิณจากหลายด้าน ซึ่งในวันที่ 21 ก.ค.นี้จะมีการปรับปรุงรายการเพื่อให้ตรง ตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากฝ่ายค้านจะออกรายการทางสถานีโทรทัศน์ NBT ได้หรือไม่ นายเผชิญ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ก็เคยออกรายการเจาะประเด็น ก็สามารถออกได้ บางครั้งตนยังมองว่าฝ่ายค้านออกอากาศค่อนข้างเยอะไม่ว่าจะเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้หมายความว่าจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือแม้แต่รายการอื่นเราก้เชิญรอบด้านไม่ได้กีดกันว่าคนั้นห้ามออก ไม่มี
กำลังโหลดความคิดเห็น