xs
xsm
sm
md
lg

‘พลเมือง’ผู้ชูคบเพลิงปฏิรูปสื่อ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การตกอยู่ใต้อาณัติอิทธิพลอำนาจธุรกิจ การเมือง และรัฐ นับเป็นปัญหาคาค้างหัวใจใฝ่รักอิสรภาพของสื่อมวลชนที่ศรัทธาในอาชีวปฏิญาณและยึดมั่นกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพเรื่อยมา เพราะไม่ว่ากาลเวลาล่วงไปแค่ไหนและอยู่มุมไหนในโลกสื่อมวลชนผู้มุ่งมั่นก็ยังคงต้องต่อกรกับอำนาจทั้งสามข้างต้นอย่างเร่าร้อนแหลมคมหากปรารถนาให้ข้อมูลข่าวสารที่องค์กรตนเองผลิตและเผยแพร่อยู่ในครรลองของอิสระเสรี ยึดข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และยืนอยู่ข้างความเป็นธรรม

ประเทศไทยในห้วงหลังชู ‘คบเพลิงปฏิรูปสื่อ’ เมื่อราวทศวรรษที่แล้วเป็นต้นมาก็มากมายด้วยฉากการฟาดฟันกันระหว่างฟากเพรียกหาสิทธิเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะกับฝั่งที่พยายามแทรกแซงคุกคามครอบงำสื่อเพื่อสานประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องผ่านโฆษณาชวนเชื่อ หรือไม่ก็บิดเบือนข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อเทียมที่มีช่วงชีวิตสั้นๆ เกิดและตายเพียงเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม

ความพยายามปฏิรูปโครงสร้างสื่อทั้งระบบตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2540 จึงถูกบดบังจากความร้อนแรงแห่งสมรภูมิสงครามสื่อ ซ้ำร้ายฝ่ายพลังสร้างสรรค์ทั้งในนามของปัจเจกและองค์กรก็อ่อนแรงเพลี่ยงพล้ำลงไปเรื่อยๆ จากการไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เชิงให้ความรู้อย่างเป็นระบบแก่สาธารณชน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในขวบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับช่อง 11 เป็น NBT การเปลี่ยนทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ หรือกระทั่งการปิดตัวของพีทีวี

ขณะเดียวกันก็ขาดการศึกษาเชิงลึกว่ากฎหมายที่กระทบภารกิจสื่อสารมวลชนที่คลอดมาถึง 5 ฉบับด้วยกัน ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 นั้นเป็นกัลยาณมิตรหรือปฏิปักษ์กับการปฏิรูปสื่ออย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการปฏิรูปสื่อผ่านประเด็นความเป็นเจ้าของ (Ownership) และเสรีภาพสื่อมวลชน (Freedom of the press) แล้ว จักพบว่าสารัตถะสำคัญกว่าครึ่งของความเคลื่อนไหวในรอบปีทั้งแง่มุมองค์กรและกฎหมายจะมีลักษณาการของการควบคุมมากกว่าสร้างการรับรู้ เนื่องด้วยรัฐยังคงกุมอำนาจการตัดสินใจมากดังเดิม ดังปรากฏความพยายามจัดระเบียบสื่อทั้งจากรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ดังมาตราใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และ พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ที่ยังให้อำนาจรัฐเซ็นเซอร์และชี้นำประชาชนว่าควรรู้หรือไม่รู้อะไร

ขณะอย่างหลังก็มักอ้างความชอบธรรมของเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตยจะเข้ามาแทรกแซงทีวีสาธารณะ ปรับช่อง 11 ประชันขันแข่งกับ ไทยพีบีเอส ดิสเครดิต การบริหารงานของผู้บริหารช่อง 9 อ.ส.ม.ท. สั่งวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีกำหนดเวลาประชาสัมพันธ์นโยบายรัฐบาลโดยมีข้อเสนอแลกเปลี่ยน รวมถึงแอบยกร่างกฎหมาย กสทช.ร่วมกับกฤษฎีกาโดยตัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสื่อสารมวลชนที่จะนำไปสู่การแทรกแซงองค์กรอิสระในที่สุด

แม้นว่าบางกฎหมายใหม่ในรอบปีจะเปิดกว้างทางสิทธิเสรีภาพมากขึ้นอย่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ และป้องกันการผูกขาดคู่กับเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสามารถประกอบกิจการได้ไม่ต่างกับภาครัฐและเอกชนของ พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ จะสอดรับกับสายธารการปฏิรูปสื่อก็ตามที

ทว่าถึงที่สุดแล้ว อำนาจกฎหมายเพียงลำพังก็ไม่อาจเป็นหลักไมล์ในการปฏิรูปสื่อทั้งส่วนของโครงสร้างและหลักประกันสิทธิเสรีภาพได้ หากระหว่างย่างก้าวบนเส้นทางสายปฏิรูปสื่อของสังคมไทยขาดหายซึ่งกลไกและจิตสำนึกสรรค์สร้างพลเมืองที่เข้มแข็งของท้องถิ่น ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลก ไว้คอยเกื้อหนุน

ด้วยการไร้พลเมืองเป็นกลจักรขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อนั้นได้ทำให้ทุกก้าวย่างในการปฏิรูปสื่อของวันนี้ยังคงก้าวย่ำซ้ำรอยเท้าแห่งความล้มเหลวที่ตามหลอกหลอนมานานนับทศวรรษ ดังร่องรอยความผิดหวังยังประจักษ์ชัดจากการกระจุกตัวของสื่อในอุ้งมือรัฐและทุน ประชาชนเคยชินกับการถูกจับจองในฐานะหน่วยบริโภคตามหลักการตลาดที่ครอบงำวิสัยทัศน์สื่อกระแสหลัก รวมทั้งยังรักหลงบทบาทฐานเสียงสร้างความชอบธรรมทางการเมืองตามการปลุกระดมของสื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งโดยเต็มใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกต่างหาก

ตรงกันข้าม หากการปฏิรูปสื่อทั้งระบบหันมาเน้นหนักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางทั้งระดับปฏิบัติการและนโยบายผ่านการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ (Accountability) คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะมากกว่าปัจเจกบุคคล ตลอดจนผลิตและเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างพลเมืองผู้มีความรับผิดชอบ เป็นธุระกับปัญหานานัปการ ก็จะทำให้สังคมไทยไม่ร่วงหล่นหุบเหวขัดแย้งแตกแยกจนป่ายปีนไม่ขึ้น

ไม่ใช่เพราะสังคมไทยในวันที่สื่อสามารถสร้างสรรค์พลเมือง (Citizen) และประชาสังคม (Civil society) ขึ้นมาได้จะไร้ความแตกแยก อาบอิ่มด้วยความสมานฉันท์แต่อย่างใด หากเป็นด้วยคู่ขัดแย้งจะใช้ข้อมูลหลักฐานความรู้หักหาญกันมากกว่ากำลังอำนาจหรือสถานะทางสังคม

ในขณะเดียวกับที่ช่องทางและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่เท่าเทียมกันทั้งคนชั้นกลางและรากหญ้าก็จักเป็นหนึ่งในเงื่อนไขไม่ให้สภาวะสองนัคราประชาธิปไตยของไทยที่ได้ไพร่ฟ้าประชาชนเป็นน้ำหล่อเลี้ยงไร้วันสุดสิ้นลงได้ด้วย

อนึ่งถึงแม้แวดวงสื่อสารมวลชนไทยในภาพรวมทั้งระดับองค์กรและกฎหมายเกี่ยวข้องจะยังไม่ค่อยตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการสร้างพลเมืองขึ้นมาแทนฐานคะแนนเสียงผู้ง่อยเปลี้ยเสียขาจากการกัดกินของระบบอุปถัมภ์และนโยบายประชานิยม

หากอย่างไรเสียถ้าชี้ช่องให้สื่อมวลชนเห็นถึงคุณูปการของพลเมืองที่จะแปรเปลี่ยนเป็นปราการยันกองทัพสนับสนุนยามพวกเขาเผชิญวิกฤตแทรกแซงคุกคามครอบงำ ทำลายสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารนั้น นอกจากจะดึงดูดสื่อที่ยึดมั่นอุดมคติ มีจิตวิญญาณความเป็นมืออาชีพเข้ามาร่วมขบวนวิ่งคบเพลิงนี้อย่างคึกคักแล้ว ยังสามารถส่งผ่านคบไฟไปจุดยังกระถางคบเพลิงการปฏิรูปสื่อที่ถูกทิ้งร้างนานเนิ่นให้กลับลุกโชติช่วงได้ด้วย

เมื่อพลเมืองที่แตกต่างหลากหลายทางผลประโยชน์รวมตัวกันติดจากแรงหนุนของสื่อ จนพัฒนาเป็นเครือข่ายอุดมคติ มีอุดมการณ์กอบกู้วิกฤตการณ์สังคม ก็ย่อมมีความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral courage) ตามมา จึงไม่ยอมศิโรราบต่อการลุอำนาจของรัฐบาลที่มักใช้ ‘สื่อรัฐ’ เป็น ‘สื่อรัฐบาล’ บิดเบือนข้อมูลข่าวสารเพื่อรักษาอำนาจของตนเองเสมอๆ ดังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35 ที่วิทยุโทรทัศน์ที่มีอำนาจกำหนดวัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมถูกนำมาใช้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลอย่างชัดแจ้ง

กระนั้น แม้นล่วงแรงลมโลกาภิวัตน์ รัฐบาลก็ยังตื้นเขินคับแคบปรับตัวไม่ทัน ยังพยายามใช้สื่อรัฐกำหนดวาระสังคม และสื่อสารอย่างมีวาระซ่อนเร้น (Hidden agenda) ผ่านผังรายการ มากกว่านั้นยังพยายามปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนและสื่อที่เห็นต่างไม่ให้มีเวที

มิพักจะเอ่ยว่าวันนี้คุณค่าข่าว (Newsworthiness) ถูกคลางแคลงจากสังคมมากมายว่าถูกนำมาใช้คำนวณในสมการสงครามข่าวสารที่กำลังขยายตัวผ่านฟรีทีวีทุกช่องมากน้อยแค่ไหน เพียงใด ไม่เพียงเท่านั้นการรายงานข่าวสารผ่านช่องทางที่รัฐสามารถแทรกแซงได้จะเป็นปรปักษ์กับพัฒนาการทางการเมืองภาคประชาชนหรือไม่ อย่างไร เอียงข้างทุนและรัฐมากขนาดไหน

เนื่องด้วยหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยชัดเจนว่าโทรทัศน์วิทยุที่อยู่ภายใต้อุ้งมือรัฐทั้งจากการให้สัมปทานและบริหารโดยตรงล้วนขัดขวางวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชนมาตลอด ตรงข้ามกลับกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ขยายกิ่งก้านความคิดความเชื่อว่าการเมืองเป็นของนักการเมือง ไม่มีการเมืองของประชาชน

ทั้งๆ ถ้าไม่อคติก็จักพบว่าการรวมตัวกันชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นไปตามมาตราในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นพัฒนาการอย่างเข้มของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะเป็นแหล่งอนุบาลพลเมืองควบคู่สร้างสรรค์สื่อที่มีจิตวิญาณความเป็นธรรม

ประชาธิปไตยไทยจึงต้องเต้นด้วยจังหวะหัวใจที่เปลี่ยนไปหากต้องการพ้นวิกฤตแตกแยก อย่างน้อยก็ต้อง ‘บายพาส’ ให้สำนึกของความเป็นพลเมือง (Citizenship) และการปฏิรูปสื่อไหลเวียนสู่ทุกองคาพยพดีขึ้น ดังโทรทัศน์สาธารณะที่กำหนดให้มีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ และการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางการให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกระทั่งบางองค์กรสื่อก็ก้าวหน้ากว่าด้วยการสร้างพลเมืองที่มีความเป็นมวลชนมาสนับสนุนด้วยการเผยข้อเท็จจริงที่มากกว่าเหตุการณ์เฉพาะหน้า สืบย้อนไปในเหตุปัจจัยตามหลักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative reporting)

ถึงจะหยุดยั้งนโยบายสาธารณะอยุติธรรมและคอร์รัปชันเชิงนโยบายได้ แต่กลับถูกติดฉลากว่าไม่เป็นกลาง เลือกข้าง และชี้นำสังคมไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก และก็คงไม่แปลกที่สังคมบันเทิงเริงรมย์อย่างบ้านเราจะสมาทานฉลากเหล่านี้ง่ายดาย แม้นท้ายสุดจริงๆ พลเมืองผู้รับสารจะเป็นผู้ตรวจสอบเองว่าสื่อไหนใช่-ไม่ใช่สถาบันสาธารณะที่เป็นตัวแทนของพวกเขา

เส้นทางการปฏิรูปสื่อจึงต้องเคลื่อนขับมิติพลเมืองควบคู่ไปด้วยดังสุภาษิต ‘น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า’ หาไม่แล้วคบเพลิงการปฏิรูปสื่อคงมอดดับในยามฝ่าห่าฝนลมกรรโชกจากพลังการเมืองแทรกแซงคุกคามครอบงำ ด้วยขาดผู้วิ่งคบเพลิงที่เอาจริงเอาจัง ประคับประคองคบเพลิงในมือจนถึงจุดหมาย และเคร่งครัดพิทักษ์ไฟในกระถางคบเพลิงปฏิรูปสื่อให้สว่างไสวเสมอ.-

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น