xs
xsm
sm
md
lg

หมักไร้คุณธรรม-ตร.กลับสู่ยุคมืด เลือกปฎิบัติอุ้ม"พัชรวาท"พ้นผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ

"เสรีพิศุทธ์" ระบุ ตร.กลับสู่ยุคมืดอีกครั้ง หลัง"หมัก"ปล้นตำแหน่งผบ.ตร.ชี้ชัดอำนาจเก่าอาฆาตเหตุสลายม็อบ นปก.หน้าบ้านป๋า เป็นเหตุไฟแค้นปะทุล้างบางย้ายข้าราชการ ซัดเบื้องหลังมีการวางแผนโค่นล้มเป็นกระบวนการ พร้อมแฉขั้นตอนอุ้ม"พัชรวาท"พ้นผิดวินัยร้ายแรง กรณีเอกชนร้องถูกกีดกันไม่ให้ประมูลงานของ ตร.ทั้งที่หลักฐานมัดแน่น ลั่นเลือกปฏิบัติ

จากกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร.เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปราปการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 25 เม.ย ที่ผ่านมา เพื่อให้ไต่สวนนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมายอื่นๆ เพื่อดำเนินคดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 และ 276 โดยเอกสารที่นำไปยื่นได้สรุปข้อเท็จจริง ที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงตนเอง ถึงการสั่งให้ออกจากราชการ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการสอบข้อเท็จจริงก่อน ถือว่าเป็นการปล้นตำแหน่ง ผบ.ตร. นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือร้องเรียนดังกล่าวมีจำนวน 24 หน้า ลงวันที่ 25 เม.ย. 2550 เรื่อง กล่าวหานายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชาการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือ ทุจริตต่อหน้าที่ตาม ก.ม.อื่น ตามรัฐธรรนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 275 โดยเนื้อหาในหนังสือร้องเรียนระบุว่าต้องการให้ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง และสรุปสำนวนความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง กรณี นายสมัคร ได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามก.ม. ดังนี้

**ถูกพลังประชาชน-นปก.แก้แค้น**

1.ผู้ร้องรับราชการตำรวจตั้งแต่ปี 2514 ถึงปัจจุบันรวม 37 ปี ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประเทศชาติ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริตมาตลอดรับราชการจนได้รับพระราชทานรางวัลที่ทรงเกียรติคุณมากมาย 2.จากเหตุความไม่สงบของกลุ่ม นปก.ที่หน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ร้องได้สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจในบังคับบัญชา เข้าระงับเหตุและจับกุมกลุ่มบุคคลเหล่านั้นดำเนินคดีตาม ก.ม. ซึ่งจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของผู้ร้องทำให้กลุ่ม นปก. กลุ่มนักการเมืองที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนที่มีนายสมัคร เป็นหัวหน้าพรรค และกลุ่มนักการเมืองคนอื่น ๆที่ถูกผู้ร้องจับกุมในอดีต รวมทั้งกลุ่มนักการเมืองในพรรคไทยรักไทยเดิม อาฆาต แค้นเคืองผู้ร้องถึงขนาดกล่าวกันทั่วไปและตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ว่า หากกลุ่มหรือพรรคของตน(พลังประชาชน)ได้จัดตั้งรัฐบาล ก็จะกระทำการแก้แค้นหรือล้างบาง บุคคลหรือเจ้าพนักงานคนใด ๆ ที่รับอาสาเข้ามาช่วยบริหารบ้านเมืองประเทศชาติตามคำขอหรือนโยบายของคมช.โดยเฉพาะตัวผู้ร้องซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิก คมช. และเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นในการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำกลุ่มนปก. โดยหลังจากที่นายสมัคร แถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้เพียง 2 วัน รัฐบาลได้เริ่มปฏิบัติการ "ล้างบาง" ตามที่เคยกล่าวไว้ โดยกระทรวงยุติธรรมมีการโยกย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ไปรักษาราชการเลขาธิการ ป.ป.ท. และรายต่อไปที่จ่อคิวต้องถูกโยกย้ายคือนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้โยกย้าย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการส.น.ง.อาหารและยา เข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการ และยังมีการโยกย้ายนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

**"หมัก"ไร้คุณธรรม-ตร.เข้าสู่ยุคมืด**

กระแสการโยกย้ายสื่อกระพือข่าวทุกหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนายกรัฐมนตรีคงไม่สามารถย้ายผู้ร้องออกจากตำแหน่งได้ หากผู้ร้องไม่สมัครใจ เพราะมี พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ม. 62 คุ้มครอง ดังนั้น ผู้ที่ถูกย้าย หรือมีข่าวจะถูกย้าย ล้วนเป็นคนที่เข้ามาช่วยบริหารบ้านเมืองในยุค คมช.ทีมีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้อำนาจทางการเมืองโยกย้ายรังแก กลั่นแกล้ง ข้าราชการประจำโดยไร้คุณธรรมขัดต่อ ก.ม.และหลักนิติรัฐ 3. มีเพียงวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้ร้องพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้โดยเร็วในทันที คือ นายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ตาม ม. 84 ประกอบ ม.86 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 แล้วนายกรัฐมนตรีรีบดำเนินการออกคำสั่งให้ผู้ร้องออกจากราชการไว้ก่อน(คล้ายกับคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในคดีแพ่งตาม ป.วิแพ่งฯ) เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยตาม ม. 95 เมื่อมีคำสั่งเช่นนี้แล้ว นายกรัฐมนตรีสามารถตั้งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือกลุ่มพรรคพวกของตนขึ้นผบ.ตร.แทนผู้ร้องได้ โดยไม่ต้องรอฟังผลสอบสวนว่าผิดหรือถูก และการโยกย้ายนายตำรวจยศนายพลที่เป็นญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องแกนนำพรรคไทยรักไทยเดิม กลับมาในตำแหน่งสำคัญในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรอวันเป็นใหญ่ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับไปสู่ยุคมืดอีกครั้ง เป็นยุค "กระเบื้องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม" โดยนายกรัฐมนตรีสามารถชี้นำกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นได้ รวมทั้งมีอำนาจครอบงำกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกทางหนึ่งด้วย 4. หลังจากนายกรัฐมนตรีวางแผนเป็นขั้นตอนแล้ว ก็ได้เริ่มปฏิบัติการปล้นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากผู้ร้อง

**เลือกปฎิบัติอุ้ม"พัชรวาท"พ้นผิด**

นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังระบุในหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ว่า นายกรัฐมนตรีเลือกปฏิบัติ อันขัดต่อ ม. 4 ,30 และ 31 ตามรัฐธรรมนูญในกรณีไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ว่าที่ ผบ.ตร. กับพวก กรณีเมื่อเดือน พ.ย.2550 ตนได้รับการร้องเรียนจากบริษัทผลิตรายการที่มีคุณภาพบริษัทหนึ่ง และถูกกีดกันไม่ให้เสนอราคาในการประมูลงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการกระทำอันเป็นการทุจริตของข้าราชการระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตนได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ทวีพร นามเสถียร ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามระเบียบ ก.ม.ที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา พล.ต.ท.ทวีพร ได้ทำรายงานเป็นหนังสือลงวันที่ 27 ก.พ. 51 แจ้งให้ตนทราบว่ามีการกระทำผิดจริง ตนจึงมีหนังสือลงวันที่ 17 มี.ค. 51 สรุปเรื่องพร้อมพยานหลักฐานที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามระเบียบและกฎหมายแล้วทั้งหมดเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ขณะนั้นผู้ร้องไม่มีอำนาจสั่งการใด ๆ ในสำนักงานตำรวจ เพราะถูกสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งที่ 35/2551 ตั้งแต่ 29 ก.พ. 51) ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับข้าราชการตำรวจระดับสูง จำนวน 3 ท่าน ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ม.86 ,ม. 79(1) ประกอบด้วย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตผบ.ตร. ,พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผบ.ตร. รักษาราชการแทนผบ.ตร. และ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยเสนอเห็นสมควรมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.บุญเรือง มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่อาวุโสถัดจาก พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นผู้รักษาราชการแทน

**"หมัก"ผิดฐานละเว้น**

กรณีดังกล่าวถ้าพิจารณาตามพยานหลักฐานต่าง ๆ เปรียบเทียบกับกรณีของตนแล้วจะเห็นชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีกระทำความผิดกฎหมาย และเลือกปฏิบัติ หรือละเว้นปฏบิติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตาม ก.ม.อาญามาตรา 157 โดยละเว้นไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อพล.ต.อ.พัชรวาท กับพวก ทั้งที่พยานหลักฐานชัดแจ้ง และมีการสืบสาวราวเรื่องพร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายถูกต้องชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้แสดงตารางเปรียบเทียบกรณีของตน และของ พล.ต.อ.พัชรวาท ว่า กรณีร้องเรียนพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ 1. กรณีทุจริตเช่ารถยนต์ 4 โครงการ 2. กรณีสั่งการโดยใช้ถ้อยคำที่มิบังควรและไม่เหมาะสมในระหว่างการไว้ทุกข์ตามมติ ครม. 3. กรณีมีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับพันตำรวจเอกโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ร้องเมื่อ 28 ก.พ. 51 ร้องโดย พ.ต.อ.ทินกร มั่งคั่ง ที่ถูกให้ออกจากราชการแล้ว

ส่วนกรณีของพล.ต.อ.พัชรวาท 1. กรณีทุจริตโครงการดำเนินการจัดจ้างโฆษณาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้องเมื่อ 28 พ.ย. 50 ร้องโดย บริษัทผลิตรายการบริษัทหนึ่ง และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผบ.ตร.ปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีวันที่ 17 มี.ค.51 การสืบสวนข้อเท็จจริงหรือพิจารณาในเบื้องตันว่ากรณีมีมูลตาม ม. 84 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ส่วนของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุไม่มีการสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น และไม่มีการพิจารณาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลตาม ก.ม. ส่วนกรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท ระบุ มีการสั่งเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2550 ให้พล.ต.ท.ทวีพร นามเสถียร ผู้บัญชาการประจำสำนักฯทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสรุปความเห็นเสนอเพื่อพิจารณาสั่งการและมีการสรุปโดย พล.ต.ท.ทีวีพร นามเสถียร ลงวันที่ 27 ก.พ. 51 ว่ามีการกระทำผิดของพล.ต.อ.พัชรวาท กับพวก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ,151,152,157,83,84,86,90,พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 86,79(1)คำสั่งของนายกรัฐมนตรี ส่วนของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ 1.ออกคำสั่งที่ 34/2551 ลงวันที่ 29 ก.พ. 51 แต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อผู้ร้อง 2. ออกคำสั่งที่ 35/2551 ลงวันที่ 29 ก.พ. 51 ให้ผู้ร้องไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมแต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท รักษาราชการแทน ผบ.ตร. 3. ออกคำสั่งที่ 71/2551 ลงวันที่ 4 เม.ย.51 แต่งตั้งกรรมการสืบสวน ข้อเท็จจริงกรณีมีการกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 4 ข้อหาต่อผู้ร้อง 4. ออกคำสั่งที่ 73/ 2551 ลงวันที่ 8 เม.ย. 51 ให้ผู้ร้องออกจากราชการไว้ก่อน

**ช่วยพวกพ้องกลับเป็นใหญ่**

ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท นายกรัฐมนตรีไม่มีคำสั่งใดๆเลยเกือบ 1 เดือน โดยโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงว่าไม่มีมูลความผิด ไม่สามารถดำเนินการตามที่ถูกร้องเรียน เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 51 ต่อมาเมื่อ 11 เม.ย.51 นายกรัฐมนตรีเสนอในที่ประชุม กตช.ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นผบ.ตร.และในวันเดียวกัน กตช.ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธานได้มีมติให้ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นผบ.ตร.

จากตารางเปรียบเทียบในการออกคำสั่งต่าง ๆ ของนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 กรณี จะเห็นได้ว่า นายกรัฐมนตรีเลือกปฏิบัติในการออกคำสั่งตามอำเภอใจ ไร้กฎเกณฑ์และขัดต่อกฎหมาย เพื่อกลั่นแกล้งตนอย่างไร้คุณธรรม เพียงเพื่อช่วยพวกพ้องตนเองให้เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในทางที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นความผิดตามก.ม.อาญา 157 และขัดต่อมาตรา3 ,4,27,30,31 ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและ ก.ม.โดยต้องคำนึงถึงสิทธิแห่งความเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น