xs
xsm
sm
md
lg

ถกลดภาษีวืดส่อซบ NGV “มิ่ง” ฝันใช้ข้าวแลกน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอุ้มภาคขนส่งส่อวืด เผยประชุมระดับปลัดกระทรวงเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เหตุช่วยทำให้ราคาลดลงจิ๊บจ๊อยเพราะตลาดโลกยังพุ่งสูง เอกชนสอนรัฐอย่าตั้งรับปัญหา จับตาน้ำมันสุดสัปดาห์ขยับอีกรอบ หมอเลี้ยบเผยถก “พูนภิรมย์” ชี้ขาดใน 1-2 วัน ก่อนชง ครม.อังคารหน้า เบื้องต้นไม่แตะกองทุนน้ำมัน แต่ส่งเสริมเอ็นจีวีโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ด้าน “มิ่งขวัญ” สวมบท “ปธ.คกก.บริหารจัดการข้าวและพลังงาน” ขายฝันบาเตอร์เทรด “เกษตร-น้ำมัน” กับประเทศอาหรับ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการหารือระดับปลัดกระทรวงเพื่อพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเพื่อช่วยเหลือภาคขนส่ง วานนี้ (24 เม.ย.) ว่า  ที่ประชุมไม่มีข้อยุติเนื่องจากหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวแต่เมื่อเป็นนโยบายลงมาจากรัฐบาลจึงไม่สามารถจะขัดได้  จึงโยนเรื่องทั้งหมดกลับไปที่รัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และ พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตภัลลภ รมว.พลังงานตัดสินใจกันใหม่

“มีการถกกันถึงความคุ้มค่าการลดภาษีซึ่งพบว่าการลด 1 บาทต่อลิตร ไม่ได้ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลถูกลง และที่สำคัญเป็นการลดเฉพาะภาคขนส่งคือ รถ บขส., รถทัวร์ รถเมล์เท่านั้น รถยนต์บ้านจะไม่ได้รับการลดภาษีแต่อย่างใด อาจมีเสียงครหาตามมา” แหล่งข่าวกล่าวและว่า ยังมีบางฝ่ายก็มองว่าไทยใช้น้ำมันดีเซลเดือนละ1,500 ล้านลิตร หากลดภาษี50สต.ต่อลิตร ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะหายไป 750 บาทต่อเดือน หากลดภาษี1บาทต่อลิตรภาษีจะหายไป1,500 ล้านบาทต่อเดือนแต่ข้อเท็จจริงจะต้องดูตามการใช้ดีเซลจริงเมื่อพิจารณาล่าสุดรถบรรทุกได้ติด NGV ไปมากแล้วการใช้น้ำมันจะไปอยู่ขนส่งสาธารณะมากกว่าดังนั้นท้ายสุดรายได้ที่หายไปอาจจะแค่เล็กน้อยเท่านั้น  

สุดท้ายมุกเดิมส่งเสริม NGV

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการระยะสั้นที่ออกมาจะไม่ทำให้เกิดการผ่องถ่ายหรือผลักภาระด้านราคาให้กับประชาชน โดยรัฐบาลจะพิจารณาแหล่งเงินทุนอย่างเหมาะสมที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องรอให้รัฐมนตรีของทั้ง 2 กระทรวงเห็นชอบก่อน จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า (29 เม.ย.)

“หลักการของ 2 กระทรวงเห็นตรงกัน คือไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาให้ต้นทุนน้ำมันของผู้ประกอบการลดลงอย่างถาวร แต่มุ่งหวังให้ต้นทุนการใช้น้ำมันของผู้ประกอบการลดลงด้วยการปรับเปลี่ยนกรรมวิธีในการทำงาน ได้แก่ การใช้น้ำมันที่ถูกลง เช่น ก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งจะใช้เวลาสั้นๆ รองรับการบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมัน” นายศุภรัตน์ กล่าว

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาน้ำมันแพงดังกล่าว คงไม่ใช้การลดการนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะขณะนี้เงินในกองทุนฯ อยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 3 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีแผนที่จะนำไปใช้อยู่แล้ว แต่การสนับสนุนผู้ประกอบการภาคขนส่งอาจปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นเอ็นจีวี โดยอาจเป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งขณะนี้มีเงินสนับสนุนอยู่แล้วจำนวน 9,000 ล้านบาท โดยมาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 ล้านบาท และ ปตท. 5,000 ล้านบาท

“แหล่งเงินทุน เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมจะมาจากแหล่งใด ต้องขึ้นกับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี” นายพรชัย กล่าว และว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้สาเหตุสำคัญมาจากการปั่นราคาของนักเก็งกำไร โดยราคาน้ำมันที่แท้จริงควรอยู่ในระดับ 95 เหรียญ/บาร์เรล แต่ปัจจุบันเกินไปถึง 20 เหรียญ/บาร์เรล โดยเชื่อว่าราคาน้ำมันคงจะไม่ปรับตัวสูงเกินไปกว่านี้แล้ว

ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า การหารือถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงในระดับรัฐมนตรีของ 2 กระทรวง จะมีขึ้นใน 1-2 วันนี้ โดยมาตรการที่รัฐบาลจะนำออกมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบเรื่องปัญหาราคาน้ำมันแพงจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนไม่เห็นถึงความจำเป็นในการประหยัดพลังงาน ขณะเดียวกัน มาตรการที่ออกมาจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าจำเป็นต้องเร่งหันมาใช้พลังงานทดแทนให้เร็วขึ้น

“หากสามารถสรุปแนวทางร่วมกันได้ระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานก็จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า แต่หากยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ก็ต้องพิจารณาร่วมกันต่อ” นพ.สุรพงษ์กล่าว

บอกลดภาษีดีเซลช่วยจิ๊บจ๊อย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งดูแลด้านขนส่งหรือลอจิสติกส์ กล่าวว่า  แม้ว่ารัฐจะลดภาษีฯดีเซลช่วยเหลือภาคขนส่งเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงก็คงไม่ได้ช่วยอะไรได้มากเพราะเท่าที่ดูทิศทางน้ำมันตลาดโลกยังคงเป็นขาขึ้นอีกเพราะจากข้อมูลสำรองน้ำมันสหรัฐฯ ที่ลดต่ำลงอย่างมาก รัฐบาลจึงควรจะมีมาตรการที่เป็นวาระแห่งชาติในการรองรับวิกฤตน้ำมันแพงมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ

“ ผมคิดว่าวันนี้เป็นวิกฤติน้ำมันแพงแล้วแทนที่เราจะแก้ไขเฉพาะกิจหรือวางแผนเชิงรับก็ควรจะมองเชิงรุก กำหนดโมเดลและมองไปข้างหน้าเลยว่า ถ้าน้ำมันดิบทะลุ 120 เหรียญต่อบาร์เรลจะทำอย่างไรและมองไปไกล 150 เหรียญต่อบาร์เรลจะทำอะไรบ้างจะดีกว่าเพราะเวลานี้ต่างประเทศเขาเริ่มพูดกันที่ 200 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว ขณะที่ขนส่งไทยภาพรวมมีต้นทุนเพิ่มจากน้ำมันนับตั้งแต่ต้นปี 11% และน้ำมันเริ่มเข้าไปเป็นต้นทุนการผลิตสูงขึ้นต่อเนื่อง” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ ระยะสั้นเห็นว่ารัฐควรจะมุ่งเน้นให้ภาคขนส่งหันมาใช้ NGV แทนด้วยการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการติดตั้งให้เป็นกรณีพิเศษทั้งเรือ รถบรรทุก ขนส่งมวลชน แทนที่จะนำเงินมาลดราคาดีเซลที่ในที่สุดก็สูญเปล่า ส่วนระยะกลาง ต้องมองพลังงานทดแทนซึ่งปัญหาขณะนี้น่าวิตกถึงความชัดเจนของพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ระหว่างทำพลังงานและอาหารหากไม่จัดระเบียบให้ดีคนไทยอาจต้องบริโภคอาหารแพงมากขึ้นได้และนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่สูงตามไปด้วย  ระยะยาวจะต้องมองพลังงานอื่นๆ ประกอบทั้งแสงอาทิตย์ การหาแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงนิวเคลียร์

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูงดังนั้นคงจะต้องติดตามราคาสำเร็จรูปสิงคโปร์อีก 1-2 วันโดยขณะนี้ค่าการตลาดดีเซลติดลบ 1 บาทต่อลิตร เบนซินบวก 20 สตางค์ต่อลิตรโอกาสที่สุดสัปดาห์จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาก็มีอยู่สูง อย่างไรก็ตามดูทิศทางตลาดโลกและค่าการตลาดที่ติดลบแล้วหากรัฐลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 1 บาทต่อลิตรก็คงจะตรึงราคาดีเซลแค่สั้นๆ เท่านั้นในที่สุดก็คงจะต้องขึ้นอยู่ดี

“ผมเห็นว่าการลดภาษีสรรพสามิตไม่น่าจะทำให้ราคาลดลงหรือช่วยเหลืออะไรได้มากแถมยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากควบคุมลำบาก แต่ควรจะช่วยเร่งสินเชื่อเพื่อ NGV จุดนี้น่าจะดีกว่า” นายมนูญกล่าว

เชลล์รุกต่อเตือนเบนซินขาขึ้น

แหล่งข่าวจากเชลล์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชลล์จะขอดูราคาสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์อีก 1-2 วันหากมีทิศทางปรับขึ้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงราคาทั้งสองชนิดในสุดสัปดาห์นี้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามขณะนี้เบนซินเริ่มไต่ระดับสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับดีเซลจึงต้องจับตาใกล้ชิดเพราะเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวของสหรัฐและยุโรปจะมีความต้องการสูงทิศทางเบนซินจึงจะปรับเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่องได้

“มิ่ง” กระฉูดสินค้าเกษตรแลกน้ำมัน

เมื่อเวลา 10.00 น. คณะเอกอัครราชทูตและอุปทูตประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับประจำประเทศไทย 6 ประเทศ ประกอบด้วย โอมาน คูเวต ซาอุฯ ยูเออี กาต้าและบาเรน เข้าเยี่ยมคารวะนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการข้าวและพลังงาน เพื่อรองรับวิกฤติข้าวและพลังงานโลกแพง ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยภายหลังการหารือนายมิ่งขวัญ กล่าวว่า สาเหตุที่คณะดังกล่าวมาพบเพื่อเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสที่รัฐบาลเข้ามารับตำแหน่ง ประกอบกับตนรับผิดชอบดูแลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการข้าวและพลังงานฯ ซึ่งผลจากการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้น ทั้ง 6 ประเทศเป็นผู้ผลิตน้ำมันและแก๊ส ส่วนประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหาร ข้าว เนื้อสัตว์ พืชผักผลไม้ และไทยมีรถยนต์ 9 ล้านคันที่ยังต้องพึ่งพาน้ำมันจากอาหรับ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือในเรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือมีการค้าขายระหว่างกัน ส่วนจะค้าด้วยอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ด้วยวิธีบาเตอร์เทรด หรือวิธีค้าขายกับภาคเอกชนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเราได้มีการพูดกันว่าจะจัดอำนวยความสะดวกให้กับเขาภายใน 3 เดือน ซึ่งเขาจะหยุดปิดภาคฤดูร้อนทั้ง 6 ประเทศ โดยเขาขอที่จะมาพักร้อนหรือเที่ยวที่ประเทศไทย โดยเรื่องนี้จะได้หารือกับนายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เพื่ออำนวยความสะดวกโดยในรายละเอียดจะได้เตรียมเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว การจัดโรงแรมชั้น1 การช้อปปิ้ง การอำนวยความสะดวกการเข้าเมือง และจะคุยกันเรื่องการค้า น้ำมัน สินค้าเกษตร นอกจากนั้นก็จะมีการเตรียมที่จะหารือร่วมมือทางด้านธุรกิจ ส่วนจะเป็นเมื่อไรก็ต้องดูความพร้อมของเขาด้วย” นายมิ่งขวัญกล่าวและว่า คณะเอกอัครราชทูตและอุปทูตฯ บอกตนว่าเขามีความสุข ที่เขาเห็นรองนายกรัฐมนตรีคนนี้ที่มาจากภาคเอกชน เพราะเขาไม่อยากคุยอะไรที่เป็นการเมืองเกินไป ซึ่งตนบอกไปว่าการพบกันถือเป็นการเริ่มศักราชใหม่ด้านความสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่งระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มอาหรับ

นายมิ่งขวัญกล่าวถึงแนวทางการทำงานในตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารจัดการข้าวและพลังงานฯ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจาก ครม.ว่า ครม.แต่งตั้งให้ตนดูแลเรื่องอาหารและพลังงาน ซึ่งอาหารรวมทั้งข้าวด้วย ซึ่งขณะนี้ข้าวกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกไปแล้ว ทั้งนี้นายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ได้พูดเรื่องนี้ออกมาว่ากำลังเกิดวิกฤติอาหารโลก ส่วนเรื่องพลังงานก็คงปฏิเสธไม่ได้

“จากการพบทูตอาหรับ 6 ประเทศที่ผลิตน้ำมันของโลก ซึ่งเราก็ซื้อจากเขา ขณะที่เราก็เป็นประเทศที่ผลิตอาหาร เราจึงได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เราก็เลยบอกว่าพวกคุณก็มีจุดแข็งคือคุณมีน้ำมัน โดยเฉพาะไทยมีรถยนต์ 9 ล้านกว่าคันต้องใช้น้ำมัน ยังไงเราก็เป็นลูกค้าจ้องใช้น้ำมันอยู่แล้ว แต่คุณก็ต้องการข้าว เนื้อสัตว์ พืช ผลไม้ต่างๆ ก็ให้ตั้งโต๊ะเจรจากัน เพื่อพูดคุยกัน ซึ่งเขาก็เห็นด้วย” นายมิ่งขวัญกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น