xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯประณามไทย-บังกลาเทศ อุตสาหกรรมกุ้งใช้"แรงงานทาส"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - "เดอะ โซลิดาริตี เซ็นเตอร์" ซึ่งเป็นองค์กรด้านแรงงานของสหรัฐฯ เผยรายงานการศึกษา ระบุแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งในประเทศไทยและบังกลาเทศมีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ เนื่องจากพบทั้งการใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ การผูกมัดด้วยหนี้สินและบังคับใช้แรงงาน อีกทั้งการไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯถึงขั้นเรียกสภาพที่เกิดขึ้นว่า เป็น "การค้าทาสสมัยใหม่"

ผลสรุปดังกล่าวมาจากรายงานเรื่อง "ต้นทุนแท้จริงของกุ้ง" ที่ "เดอะ โซลิดาริตี เซ็นเตอร์" จัดทำขึ้น ภายหลังจากการสัมภาษณ์คนงานในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย 2 ประเทศ คือ ไทยและบังกลาเทศ

"การบังคับใช้แรงงาน การใช้แรงงานเด็กและการผูกมัดด้วยภาระหนี้สิน ทั้งหมดนี้คือรูปแบบการค้าทาสสมัยใหม่" มาร์ก ลากอน หัวหน้าสำนักงานด้านการเฝ้าระวังและต่อสู้กับการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงวอชิงตัน และเสริมว่า

"เราจำเป็นต้องให้ประชาชนรู้อย่างถูกต้องชัดเจนว่ากุ้งที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ นั้นปนเปื้อนด้วยกุ้งที่มีการแปรรูปด้วยมือของผู้คนที่ทำงานเยี่ยงทาส"

ทั้งนี้ "เดอะ โซลิดาริตี เซ็นเตอร์" ได้ร่วมมือกับสหพันธ์แรงงานเอเอฟแอล-ซีไอโอ เรียกร้องให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทะเลและรัฐบาลของประเทศทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกุ้งในทุกขั้นตอน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน และจัดมาตรฐานด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้รัดกุมขึ้น

ประเทศไทยเป็นผู้นำโลกในอุตสาหกรรมกุ้งและเป็นผู้ซัพพลายกุ้งให้ตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 โดยมียอดส่งออกสูงถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2006 ส่วนบังกลาเทศซึ่งเป็นผู้ส่งออกกุ้งหน้าใหม่ที่กำลังมาแรงนั้นส่งออกกุ้งให้กับสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ และเป็นผู้ซัพพลายกุ้งให้สหรัฐฯ เป็นอันดับ 9

รายงานระบุว่า "ในขณะที่ทั้งสองประเทศต่างก็อยู่ในวงจรธุรกิจค้ากุ้งที่มีมูลค่ามหาศาลในตลาดโลก คนงานในอุตสาหกรรมนี้กลับเผชิญกับปัญหาค่าแรงต่ำ การมีชั่วโมงทำงานยาวนาน และต้องทำงานในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากลักษณะพื้นฐานของอุตสาหกรรมแขนงนี้เอง"

"เดอะ โซลิดาริตี เซ็นเตอร์"บอกว่า คนงานในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งในประเทศไทยจะได้ค่าแรงราว 4.60 ดอลลาร์ต่อวันสำหรับการทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน โดยที่การใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป

นอกจากนั้น ในอุตสาหกรรมแขนงดังกล่าวยังใช้ประโยชน์จากพวกนายหน้าค้ามนุษย์และผู้ลักลอบนำแรงงานอพยพเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่หลบหนีการปราบปรามและภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพม่า อีกทั้งบางส่วนยังมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา

ส่วนอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งในบังกลาเทศนั้นมีการใช้แรงงานแบบรับเหมาช่วง เพื่อทดแทนการจ้างแรงงานเต็มรูปแบบซึ่งต้องจ่ายค่าแรงสูงกว่า อีกทั้งยังมีการใช้แรงงานเด็กจำนวนมากด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการมักจะละเลยกฎหมายว่าด้วยชั่วโมงการทำงานและมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน และมักเบี้ยวเงินค่าจ้างทำงานล่วงเวลาอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม "เดอะ โซลิดาริตี เซ็นเตอร์" ก็ไม่ได้สนับสนุนให้สหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตรสินค้ากุ้งจากประเทศเหล่านี้แต่อย่างใด เพราะประเทศผู้ส่งออกนั้นจำเป็นต้องมีการลงทุนและมีการจ้างงาน ดังนั้นผู้นำเข้าอาหารทะเลจึงควรจะเอาอย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า ในการตอบโต้กับซัพพลายเออร์ที่ทำไม่ถูกต้องในเอเชียช่วงทศวรรษ 1990

ทางด้าน ลากอนก็เตือนเช่นกันว่า การดำเนินการตอบโต้อย่างผิดๆ จะทำให้เกิด "ความเสียหายทางอ้อม" แก่พวกคนงานที่จำเป็นต้องมีงานทำ และเขาได้เสนอว่าควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมเกิดความตระหนักรู้ในแบบเดียวกับการรณรงค์ให้อุตสาหกรรมประมงปลาทูนาลดอันตรายแก่โลมา

ปัจจุบัน กุ้งของไทยส่งไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อยี่ห้อต่างๆ ตามเชนซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำอย่างน้อย 9 แห่งในสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น