เฉพาะญี่ปุ่นชาติเดียวก็แย่แล้ว จีน-ฝรั่ง ยังฮิตกินซูชิและซาชิมิตามพี่ยุ่นอีก นักอนุรักษ์หวั่นเป็นเหตุทำทูนาสูญพันธุ์จากเมดิเตอร์เรเนียน หลังเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันมาแล้วกับทูนาแถบออสเตรเลีย
ปัจจุบันอาหารญี่ปุ่นแพร่หลายไปทั่วโลก โดยซูชิและซาชิมิหรือปลาดิบ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงและต่อเนื่องจากทั้งชาวตะวันตก รวมถึงชาวญี่ปุ่น ซึ่งในรายงานจากสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า ปลาทูนา (bluefin tuna) ที่รวมอยู่ในจานเด็ดดังกล่าว ส่วนใหญ่จับมาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้หลายฝ่ายกังวลกันว่า อาจทำให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่ของพวกมันได้ ในไม่ช้านี้ เพราะถูกล่ามากเกินพอดี
โรเบอร์โต มิเอลโก เบรกัซซี (Roberto Mielgo Bregazzi) ผู้เชี่ยวชาญชาวสเปน ซึ่งเขียนรายงานให้กับกรีนพีซและกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) หลายครั้ง กล่าวว่า ลำพังการบริโภคปลาดิบของชาวญี่ปุ่นชาติเดียว ก็คุกคามทูนาในเมดิเตอร์เรเนียนอยู่แล้ว นี่ยังเพิ่มความนิยมบริโภคซูชิหน้าปลาดิบของชาวยุโรปและชาวจีนเข้าไปอีกอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ทูนาลดจำนวนลงมากกว่าเดิม
ข้าวปั้นหน้าปลาดิบจากแดนอาทิตย์อุทัย แพร่หลายเข้าไปในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เมื่อราวช่วงทศวรรษที่ 90 และก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับในประเทศจีน ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นานนัก ซึ่งเบรกัซซีได้อ้างรายงานของคณะกรรมาธิการเพื่อการอนุรักษ์ปลาทูนาในมหาสมุทรแอตแลนติก (International Commission for the Conservation of Atlantic Tunas: ICCAT) ที่สำรวจพบว่ามีการบริโภคเนื้อทูนาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่มีการบริโภคที่สุด ซึ่งฌอง-มาร์ค โฟรมองแตง (Jean-Marc Fromentin) ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาทูนาจากสถาบันวิจัยการใช้ประโยชน์จากทะเลแห่งฝรั่งเศส (French Research Institute for Exploitation of the Sea: IFREMER) เผยข้อมูลว่าปลาทูนาที่จับได้จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมดถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่เดียวมากถึง 80-85%
ทั้งนี้ การบริโภคซูชิได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ซึ่งทูนาที่บริโภคกันในขณะนั้น นิยมใช้ทูนาจากซีกโลกใต้ที่มีอยู่มากมายในเขตน่านน้ำออสเตรเลีย แต่เพราะถูกล่ามาเป็นอาหารของมนุษย์มากเกิน ส่งผลให้ทูนาที่เคยอุดมสมบูรณ์ในแถบนั้นกลายเป็นสิ่งที่หายากยิ่งในปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นจึงบ่ายหน้าไปแสวงหาทูนาในมหาสมุทรแอตแลนติกแทน ซึ่งแหล่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนดังกล่าว
ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการเพื่อการอนุรักษ์ปลาทูนาในมหาสมุทรแอตแลนติกบ่งชี้อีกว่าเทคโนโลยีการประมงที่ทันสมัยมากขึ้น ทั้งจากในยุโรป ตุรกี และประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกา ส่งผลให้ทุกวันนี้ มีการจับทูนาขึ้นมาจากทะเลรวมแล้วมากกว่า 50,000 ตันต่อปี ขณะที่ปริมาณการจับ ที่จะไม่กระทบต่อปริมาณทูนาในธรรมชาติในระยะสั้นนั้น จะต้องไม่เกิน 15,000 ตันต่อปีเท่านั้น
คาร์ลี โธมัส (Karli Thomas) หนึ่งในอาสาสมัครของกรีนพีซกล่าวว่า อุตสาหกรรมการจับปลาทูนาอย่างเกินขนาดก็เท่ากับการฆ่าตัวเอง เพราะอีกหน่อยก็จะไม่เหลือทูนาให้จับอีกแล้ว และอีกหลายพันคนก็จะต้องตกงาน.