ศูนย์เชียงใหม่-ที่ดินรกร้างว่างเปล่ากลายเป็นขุมทองเกษตรกรพากันจับจองขอเช่าไว้ปลูกข้าว บ้างลักลอบปลูกจนเจ้าของมาพบต้องผงะเมื่อเห็นต้นข้าวปลูกเต็มที่ดินตนเอง ด้านเจ้าของนาแห่ขึ้นค่าเช่าไร่ละ 30-70 % อ้างปุ๋ยแพงแถมบางรายไม่ได้ทำสัญญา โดนเจ้าของนายึดที่คืนมาปลูกเอง ระบุแม้ภาครัฐจะประกาศห้ามบอกเลิกสัญญาก็ไร้ผลเหตุต่างรู้ว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก
จากปรากฏการณ์ที่ข้าวมีราคาแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบถึงชาวนาที่ปลูกข้าวเกือบทั่วภาคเหนือโดยเฉพาะที่ไม่มีที่นาเป็นของตัวเองจากการสำรวจพบว่า ที่เชียงใหม่มีการลักลอบปลูกข้าวในที่นาร้าง จนเจ้าของต้องแจ้งความต่อตำรวจเกรงจะถูกยึดครอบครอง โดยนายประสิทธิ์ ชูดวง นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตรวจสอบที่นา บริเวณบ้านปากกอง ตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนำป้ายและเลขโทรศัพท์ไปติดประกาศ หลังถูกชาวบ้านลักลอบ เข้ามาปลูกข้าวในที่นาของตนเอง รวมกว่า 7 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา มาเป็นระยะเวลานาน จนต้นข้าวโตใกล้ออกรวง เกรงว่าภายหลังจะถูกผู้ที่มาลักลอบปลูกข้าวยึดครอบครองปรปักษ์
ทั้งนี้ต่อมาได้มีนายกมลศักดิ์ กองตา อายุ 45 ปี ชาวบ้านในอำเภอสารภี โทรศัพท์ติดต่อแสดงตัวเป็นเจ้าของต้นข้าว จึงนัดเจรจาขอเช่าที่นา เพื่อปลูกข้าวไร่ละ 600 บาทต่อปี โดยปีแรกเจ้าของที่นาให้ปลูกฟรีโดยไม่เก็บค่าเช่า
นายกมลศักดิ์ บอกว่าข้าวเหนียวเปลือกปีนี้ราคาดีกิโลกรัมละ 8 บาท จึงลงทุนปรับพื้นที่นาร้าง ปลูกข้าวเหนียวทั้งหมด 28 ไร่ แต่ตามหาเจ้าของที่นาพบเพียง 2 ราย ส่วนรายของนายประสิทธิ์ตามหาไม่พบ จนกระทั่งเจ้าของที่นา นำป้ายมาปิดประกาศตามหา จึงติดต่อขอเช่าที่นาในราคาถูก
เจ้าของนาพะเยาหันทำเอง
บางรายเพิ่มส่วนแบ่งครึ่ง ๆ
นายยืน คันทวี เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ตามที่ข้าวมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่ราคาสูงประมาณเกวียนละ 17,000 กว่าบาท ทำให้กลุ่มนายทุน และชาวนาบางรายซึ่งมีที่นาจำนวนมากได้หันกลับมาทำนาเองจากเดิมที่ให้เช่าพื้นที่นาเพื่อปลูกข้าว เนื่องจากหากทำเองจะสามารถขายได้เงินมากกว่าให้เช่าเกือบเท่าตัว
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาจะให้ชาวนาเช่าทำนาโดยไม่คิดค่าเช่า แต่เมื่อขายข้าวเสร็จแล้วก็จะแบ่งรายได้กันคนละครึ่ง โดยกรณีนี้เจ้าของนาจะเป็นคนออกค่าปุ๋ยและค่าน้ำมันรถไถ ส่วนอีกแบบหนึ่งจะให้ผู้เช่าเป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดแต่หลังจากเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้วจะแบ่งรายได้ให้เจ้าของที่นา 1 ส่วน และอีก 2 ส่วนสำหรับผู้เช่านา
ส่วนในปีนี้เจ้าของที่นาหลายรายเริ่มที่จะลงมือปลูกข้าวเองทั้งหมด เนื่องจากข้าวมีราคาสูง รวมทั้งหาเช่าที่นาเพื่อปลูกข้าวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีเพียงบางรายที่ยังคงให้ชาวนาเช่าที่นาเพื่อปลูกข้าวเนื่องจากมีที่นาหลายไร่ ซึ่งอัตราส่วนแบ่งก็ยังคงเท่าเดิมกับปีที่ผ่านมา ยกเว้นบางรายที่มีที่นาไม่มากนักแต่ก็พยายามขอเพิ่มส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมโดยบางครั้งก็ข่มขู่หากไม่เพิ่มก็จะไม่ให้เช่า เป็นต้น
“ฤดูทำนาใกล้จะมาถึงแล้วชาวนาหลายรายที่เคยให้คนอื่นเช่าที่นา ในปีนี้ได้หันกลับมาทำเองเพราะข้าวมีราคาสูง แต่ยังมีบางรายที่ยังคงให้คนอื่นเช่าเพราะมีที่นาเยอะหากทำเองก็จะไม่ทั่วถึงสู้ให้คนอื่นเช่าแล้วแบ่งครึ่งกันดีกว่า” นายยืนกล่าว
นายยืน กล่าวต่ออีกว่า ส่วนราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อชาวนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องใช้ปุ๋ยในการทำนา แต่ขณะนี้ชาวนาในหลายพื้นที่เตรียมนำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาใช้แทนปุ๋ยเคมีบ้างแล้ว เพราะต้นทุนต่ำกว่า ในขณะที่ปุ๋ยมีราคาสูงโดยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากเดิมราคา 500 บาทปัจจุบันเพิ่มเป็น 1,000 บาทนี่ไม่นับรวมราคาน้ำมันอีกต่างหาก แต่ได้ผลผลิตในปริมาณที่เท่ากัน จะแตกต่างกันก็เพียงการทำปุ๋ยชีวภาพต้องใช้เวลาในการทำนานและต้องทำด้วยกันเป็นกลุ่มซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลงตามไปด้วย
นอกจากนี้อยากให้หน่วยงานของรัฐเข้ามารับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะจะทำให้ชาวนาได้ราคาตามท้องตลาดไม่ต้องถูกกดราคาอย่างเช่นปัจจุบันที่จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางเกวียนละ 10,000 กว่าบาท แต่ราคาตามท้องตลาดจริงสูงกว่านั้นมาก
“ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยชาวนา เพราะราคาที่สูงอยู่ทุกวันนี้คนที่ได้ประโยชน์คือพ่อค้าคนกลาง ในขณะที่ชาวนาแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งเรื่องปุ๋ย และน้ำมัน หากไม่ขายข้าวให้พ่อค้าคนกลางก็ไม่รู้จะขายให้ใคร สุดท้ายก็ยังเป็นหนี้เหมือนเดิม” นายยืนกล่าว
พิจิตรเพิ่มค่าเช่านาอีก 30-70%
นายพงษ์มนัส ทองกลัด ผู้ช่วยสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า หลังจากที่ ข้าวเปลือกและข้าวสารมีราคาขยับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดการตื่นตัวในการปลูกข้าวของชาวนา ทำให้ชาวนามีการทำนาปรังกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะขณะนี้มีการกว้านเช่าที่นามาทำนากันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผู้ที่มีพื้นที่นาให้เช่า ก็ขึ้นค่าเช่าที่แพงขึ้นด้วย จนมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีเจ้าของนาหลายรายบอกยกเลิกชาวนา ที่เคยเช่าทำนาและหันมาทำเองก็มี จนเกิดปัญหาข้อพิพาท โดยเฉพาะที่อำเภอตะพานหิน หากชาวนาไม่ยอมก็ขอขึ้นค่าเช่านา โดยก่อนหน้านี้ให้เช่าไร่ละ 700-800 บาท แต่ขณะนี้ขึ้นมาเป็นไร่ละกว่า 1,000 บาท จึงมีการร้องเรียน ขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอ
ในส่วนของราคาข้าวปลูก ขณะนี้ก็มีนายทุนบางรายฉวยโอกาสขึ้นราคาอีก เนื่องจากขาดแคลนพันธุ์ข้าวปลูก และมีการกักตุนพันธ์ข้าวไว้เพื่อเก็งกำไร ซึ่งเกษตรจังหวัดพิจิตรได้ออกไปแนะนำให้แก่ชาวนาแล้วว่า สามารถซื้อได้ที่ศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวที่จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้ทางราชการก็ออกไปตรวจสอบแล้ว แต่ไม่สามารถบังคับนายทุนให้ขายข้าวเปลือกในราคาถูกได้ เพราะเป็นไปตามกลไกตลาด
ชาวนาย่านตะพานหินกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ยุคนี้จะถือเป็นยุคทองของชาวนาก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวนาเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ดี เพราะเมื่อราคาข้าวดีแทนที่ชาวนาจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ แต่ปรากฏว่า เจ้าของนาก็เข้ามามีส่วนแบ่งแถมขอเพิ่มตามราคาข้าวด้วยซ้ำ บางครั้งเรื่องของต้นทุนเจ้าของนาทำเป็นไม่รับรู้บ้าง หรือบางครั้งเจ้าของนาก็บอกเลิกไม่ให้เช่าหน้าตาเฉย แม้ขณะนี้ทราบข่าวว่า ภาครัฐมีประกาศห้ามบอกเลิกให้เช่านาแบบกะทันหันก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าจะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เพราะอยู่ในยุค “น้ำขึ้นให้รีบตัก” และเมื่อราคาข้าวถูกลงหรือน้ำไม่มีให้ปลูกจริง ๆ เจ้าของนาก็เลิกปลูกและกลับมาให้เช่าเหมือนเดิม
“ชาวนายังไงก็เป็นชาวนาไม่สามารถไปทำมาหากินอย่างอื่นได้ จึงต้องเป็นฝ่ายรอเท่านั้น” ชาวนาย่านตะพานหินกล่าว