xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญ หวังข่มขืนและยึดครององค์กรอิสระ

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

การพยายามจะลบล้างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอาศัยสถานะความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ในครั้งนี้ ต้องสงสัยตั้งแต่แรกเริ่มแล้วว่า เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อหลบหนีการถูกดำเนินคดีเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งในคดียุบพรรค ทุจริตเลือกตั้ง เข้าสู่อำนาจโดยวิถีทางที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล

แต่ขณะนี้ ขบวนการดังกล่าวได้รุกคืบหนักกว่าเดิม เพราะได้ก้าวล่วงเข้าไปสู่การลบล้างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. หรือ กกต. รวมถึงเป้าหมายหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องพิจารณาคดีสำคัญหลายเรื่อง

พูดง่ายๆ ว่า นอกจากจะแก้ตัวบทกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการพิจารณาความผิดของพรรคพวกตนแล้ว ยังจะไปรื้อตัวองค์กร ตัวบุคคล ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาความผิดนั้นด้วย

ข้ออ้างหลักของพรรคพลังประชาชน แกนนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คือ อ้างว่า องค์กรอิสระต่างๆ ที่ทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่เป็นผลิตผลของการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ไม่มีความชอบธรรม จึงต้องทำการแก้ไขใหม่ทั้งหมด ทั้งที่มา วิธีการสรรหา ทั้ง ป.ป.ช. ก.ก.ต. และศาลรัฐธรรมนูญ โดยชุดปัจจุบันจะต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่ในเร็ววัน และต้องสรรหาใหม่ทั้งหมด ทั้งๆ ที่ กฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้องค์กรอิสระเหล่านี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ถูกครอบงำแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง

องค์กรอิสระเหล่านี้ เป็นผลิตผลจากการรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการสรรหาที่ชอบธรรม จริงหรือ ?

ข้อเท็จจริงขององค์กรอิสระชุดปัจจุบัน

1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ได้มีกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งผู้ผ่านการเลือกของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2549 จำนวน 5 คน ได้แก่ นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นางสดศรี สัตยธรรม นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายสุเมธ อุปนิสากร อยู่ในขั้นตอนระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 กระบวนการทุกอย่างก็หยุดชะงัก แต่ปรากฏว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้อาศัยอำนาจตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 20 ก.ย. 2549 แต่งตั้งให้บุคคลทั้ง 5 ข้างต้น ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541

จึงชัดเจนว่า คณะปฏิรูปฯ ได้แต่งตั้งบุคคลที่ผ่านกระบวนการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นเอง เข้ามาทำหน้าที่ กกต. โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2540 มิใช้มีอำนาจตามอำเภอใจ

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า วุฒิสภาชุดที่ทำการเลือก กกต. 5 คน จากผู้ที่ผ่านการสรรหาหาเข้ามา 10 คนนั้น เป็นวุฒิสภาที่เสียงข้างมากตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบอบทักษิณ ซึ่งปรากฏว่า บุคคล 5 คน ที่วุฒิสภาชุดดังกล่าวไม่ได้เลือก ประกอบด้วย นายนาม ยิ้มแย้ม นายแก้วสรร อติโพธิ นายวิชา มหาคุณ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

ถึงขนาดนี้แล้ว นายชูศักดิ์ ศิรินิล นักกฎหมายของพรรคพลังประชาชน ที่อ้างว่าต้องรื้อองค์กรอิสระเพราะไม่ได้มีที่มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น กลับยังพยายามอ้างอีกว่า ทั้ง 10 รายชื่อที่ถูกเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาเลือกเป็น กกต. 5 คนนั้น ศาลฎีกาเป็นคนเลือกมาทั้ง 10 คน จึงดูว่าไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบธรรม ไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง ศาลฎีกาต้องทำเช่นนั้น ก็เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นเอง

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชิงยุบสภา ทำให้การสรรหาบางส่วนติดขัด กรณีเช่นนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดทางออกไว้ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาทำหน้าที่เลือกตัวแทนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 5 คน และทำหน้าที่เลือกแทนคณะกรรมการสรรหาอีก 5 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด

ไม่แน่ใจว่า คนที่เคยเป็นลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล จะรู้สึกอย่างไรที่เห็นการพยายามตะแบงโดยอ้างความจริงครึ่งเดียว เพื่อลากไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเยี่ยงนี้

2.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ป.ป.ช.ชุดที่มี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ เป็นประธานฯ และมีพล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ เป็นกรรมการและโฆษก (คนเดียวกับที่เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนในปัจจุบัน) ได้ทำผิดกฎหมาย โดยขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง จนถูกศาลฎีกาพิพากษาลงดทษจำคุก จนต้องพ้นจากตำแหน่งไป ทำให้ต้องมีการสรรหา ป.ป.ช.ชุดใหม่

เมื่อมีการสรรหาใหม่ คณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอรายชื่อ 18 คน เพื่อให้วุฒิสภาเลือกเหลือ 9 คน แต่ปรากฏว่า พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ หนึ่งในผู้ได้รับการสรรหาขอถอนตัว ทำให้มีรายชื่อเสนอต่อวุฒิสภาเพียง 17 คน ซึ่งไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่วุฒิสภาชุดที่มีนายสุชน ชาลีเครือ เป็นประธาน ก็ยังรวบรัด ลงมติเลือก และเร่งรีบนำรายชื่อทูลเกล้าฯ แต่ปรากฏว่า ไม่มีพระบรมราชโองการฯ กลับลงมา ก็เลยเริ่มต้นสรรหาใหม่

เมื่อสรรหาใหม่ ได้รายชื่อ 18 คน ก็เกิดปัญหาในชั้นตรวจสอบคุณสมบัติ ประวัติ และความประพฤติ เพราะผู้ผ่านการสรรหาบางคนขาดคุณบัติ ไม่เคยเป็น “อธิบดีหรือเทียบเท่า” วุฒิสภาจึงยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาชี้ขาด แต่ระหว่างรอคำวินิจฉัย ก็เกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

น่าสังเกตว่า รายชื่อบุคคลที่ผ่านกระบวนการสรรหา ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จำนวน 18 คนนั้น มีรายชื่อที่น่าสนใจ อาทิ ศ.ภักดี โพธิศิริ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ศ.เมธี ครองแก้ว นายวิชัย วิวิตเสวี เป็นต้น

แต่เมื่อคณะปฏิรูปฯ ต้องตั้ง ป.ป.ช.ขึ้นมาทำหน้าที่ ก็มีประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 ก.ย. 2549 แต่งตั้งบุคคล 9 คน ขึ้นมาทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นายกล้านรงค์ จันทิก นายใจเด็ด พรไชยา นายประสาท พงษ์ศิวาภัย ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี และนางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ในที่สุด จึงเห็นว่า คปค. ได้ตั้งบุคคลที่ผ่านกระบวนการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ถึง 5 คน เข้ามาเป็น ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช.

มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ป.ป.ช.ทั้งหมด

3.ศาลรัฐธรรมนูญ

หลังเกิดรัฐประหาร ได้มีประกาศ คปค. ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2549 ให้ศาลทั้งหลายนอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย ส่วนศาลรัฐธรรมนูญให้สิ้นสุดลง และหลังจากนั้นก็ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ซึ่งมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2549 โดยมีบทบัญญัติ มาตรา 35 กำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนนูญใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน มีผู้พิพากษาซึ่งได้รับการเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 5 คน และมีตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นก็แต่โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ซึ่งมีที่มาและการสรรหาจากศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด

จะเห็นว่า คณะปฏิรูปฯ ไม่ได้เป็นคนคัดเลือกบุคคล หรือแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเลย แม้แต่คนเดียว


น่าสังเกตว่า ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิม ได้ถูกครหาว่าออกระเบียบขึ้นค่าตอบแทนให้ตัวเองในลักษณะคล้ายกันกับที่ ป.ป.ช.ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว และจนถึงขณะนี้ ก็อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีอาญา

การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างและยึดครององค์กรอิสระ

1. พิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว พบว่า ข้อที่อ้างว่า องค์กรอิสระชุดปัจจุบัน ทั้ง กกต. ป.ป.ช. และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีที่มาจากคณะรัฐประหาร เป็นบุคคลที่ไม่ผ่านกระบวนการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีความชอบธรรมนั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และเป็นความจริงแค่ส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้น

2 หากอ้างว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร หรือสืบเนื่องมาจากรัฐประหาร มีความไม่ชอบธรรม จะต้องยุติ เพื่อเริ่มต้นใหม่ ก็ไม่ควรใช้วิธีการ “ดับเบิล สแตนดาร์ด” (double standard) หรือสองมาตรฐาน แต่ควรใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด เพราะสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ก็มาจากกฎหมายเลือกตั้ง และกกต.ที่ถูกอ้างว่ามาจากรัฐประหาร นอกจากนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันและกฎหมายจำนวนมากที่บังคับใช้อยู่ก็ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ควรยุติลงด้วย มิใช่หรือ

อย่างไรก็ตาม การที่นักการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 กระทั่งได้อำนาจและใช้อำนาจตามแนวทางดังกล่าว ก็เท่ากับว่าได้ให้สัตยาบันรับรองรัฐธรรมนูญไปแล้วในตัว จะเลือกปฏิบัติ หรืออ้างว่าไม่ยอมรับ หรือจะเอาแต่ประโยชน์โดยไม่เอาความรับผิดชอบ หรือจะเอาแต่อำนาจโดยไม่เอาหน้าที่ มิได้

3.เชื่อได้ว่า เจตนาที่แท้จริงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งหลาย คือ ไม่ต้องการให้องค์กรอิสระในปัจจุบัน ที่ค่อนข้างจะเป็นอิสระจากอำนาจฝ่ายการเมืองในรัฐบาล และไม่อยู่ใต้อาณัติหรืออิทธิพลสั่งการของผู้ต้องหาที่กำลังจะถูกพิจารณาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งโดย กกต. ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อครอบงำไม่ได้ สั่งการไม่ได้ แทรกแซงไม่ได้ จึงพยายามตัดตอน ล้มล้าง ยุติการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระเหล่านี้ ด้วยข้ออ้างว่าจะต้องมีการสรรหาใหม่ทั้งหมด

4.ในความเป็นจริง การสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีช่องโหว่ ข้อบกพร่อง ที่ทำให้ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลทักษิณ ที่ผ่านมาได้มีการเข้าแทรกแซงและครอบงำในชั้นของการสรรหาอย่างฝังแน่น ประกอบกับการครอบงำและแทรกแซงวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง กระทั่งสื่อมวลชนขนานนามว่าเป็นสภาทาสนั้น ทำให้ในที่สุดแล้ว องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็ตกอยู่ใต้อาณัติ สั่งการ หรืออิทธิพลครอบงำของฝ่ายการเมืองไปเสียส่วนใหญ่

ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผู้ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระมาตลอดสมัยที่รัฐบาลทักษิณครองอำนาจ ยืนยันว่า การสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการสรรหาที่ฝ่ายการเมืองในระบอบทักษิณคุ้นชิน รู้ลู่ทาง และสามารถเข้าครอบงำแทรกแซงองค์กรอิสระได้อย่างมีเบ็ดเสร็จเกือบทั้งหมด

เพราะฉะนั้น การที่ฝ่ายการเมืองพยายามจะแก้ไขลบล้างรัฐธรรมนูญ โดยกลับไปใช้วิธีการสรรหาแบบรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น จึงน่าจะเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้า เจตนาที่แท้จริง คือ ต้องการใช้วิธีการสรรหาที่ทำให้ตนสามารถครอบงำแทรกแซงและยึดครององค์กรอิสระได้อย่างเบ็ดเสร็จ

5.รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2540 มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี และทั้ง 2 ฉบับก็ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงกับผ่านการลงประชามติ แต่สิ่งที่นักการเมืองพยายามจะทำในขณะนี้ คือ นำส่วนที่เลวของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ โดยนำเฉพาะส่วนที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพรรคพวกมารวมกัน แล้วอ้างว่าไม่ต้องประชาพิจารณ์ เพราะทั้ง 2 ฉบับเดิมผ่านการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางมาแล้ว

จะเรียกว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมือง ฉบับเลวยกกำลัง 2 ได้หรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น