“วิชา” ย้ำเจ้ากระทรวงหมอพ้นสภาพการเป็น รมต.เป็นเรื่องของจริยธรรม ชี้ช่องการทำหน้าที่ของ ส.ส.-ส.ว.และ กกต.หาก “หมัก” บิดพลิ้วไม่ยอมเซ็นหนังสือลาออก
วันนี้ (9 เม.ย.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ถือว่า นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของรัฐมนตรี แต่ผู้ที่จะให้พ้นจากตำแหน่ง คือ นายกรัฐมนตรี ป.ป.ช.จึงต้องมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งได้อย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า ต่อข้อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้ดุลพินิจอย่างอื่นได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีสงสัย และเห็นว่า มีปัญหา ก็ต้องใช้ช่องทางที่เคยพูดไปแล้ว ในมาตรา 91 ที่ ส.ส.หรือ ส.ว.ต้องยื่นเพื่อให้ประธานของแต่ละสภาเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพราะมีความสงสัยหรือมีความขัดแย้ง และมีปัญหาในเรื่องตำแหน่ง แต่หาก ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่ดำเนินการ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถทำได้
ต่อข้อถามว่า หากมีความล่าช้า หรือไม่มีการดำเนินการใดๆ กับเรื่องดังกล่าว นายวิชา กล่าวว่า เรื่องนี้พัวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตนเชื่อว่า นายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้ยืดเยื้อ เพราะจะทำให้เกิดกระแสที่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เห็นว่า หากนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตัดสินใจให้นายไชยา ออกจากตำแหน่งจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
เมื่อถามว่า อยากเห็นนักการเมืองแสดงสปิริตอย่างไร นายวิชา กล่าวว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้มองว่า นายไชยา ทำทุจริตคอร์รัปชัน แต่เป็นเรื่องกระบวนการที่ไม่ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม ที่อาจไม่คุ้นเคย
“เรื่องนี้เหมือนคนมาเข้าห้องสอบไม่ทันตามกำหนด แล้วอาจารย์บอกว่าไม่มีสิทธิสอบ ซึ่งเท่ากับว่าสอบตกวิชานั้น และต้องเรียนซ้ำชั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า กระทำการทุจริต เพียงแต่ไม่มีสิทธิสอบ ก็เท่ากับขาดคุณสมบัติ และพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ตามรัฐธรรมนูญถือว่าพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเรื่องนี้คล้ายกับสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ที่มีตัวอย่างรัฐมนตรีลาออกแม้ไม่ได้ทำผิดอะไร เรื่องที่เกิดขึ้นขณะนี้เราก็เห็นใจแต่ไม่มีช่องให้เราใช้ดุลยพินิจได้ว่าท่านตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และเรื่องนี้ไม่เหมือนการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ที่จะใช้ดุลพินิจได้ว่าต้องการปกปิดหรือไม่” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้ง นายไชยา กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ ว่า เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้อยู่ในกระแสของการเมืองและต้องมองเรื่องความเชื่อมั่นความเชื่อถือของประชาชน เพราะการจะปรับคณะรัฐมนตรีแล้วเอาคนเดิมมาดำรงตำแหน่งเดิม ซึ่งในอดีตเคยเห็นมาแล้วว่าการกระทำลักษณะนี้ก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นในบ้านเมือง ดังนั้น ตนเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีคงต้องระวังในเรื่องนี้อยู่แล้ว และอยู่ในการเมืองมานานมีความชำนาญและรู้เรื่องกระแสดี หากทำเช่นนั้นจะมีปัญหา ทั้งนี้ เมื่อ นายไชยา ลาออกก็ควรจะรอสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้เป็นการแข็งขืน หรือหลบเลี่ยง และเมื่อลาออกก็ถือว่าจบ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่มีความผิดแค่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม
ด้าน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่ชี้มูลความผิดและส่งให้ 4 องค์กร พิจารณาดำเนินการเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย และถือว่าการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.สิ้นสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์นี้จะส่งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้กับ 4 องค์กร และเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความผิดเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ป.ป.ช.ได้ทำตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้กลั่นแกล้งแต่อย่างใด