xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เล็งตีกรอบสินเชื่อSME

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ธปท.พอใจผลประกอบการแบงก์พาณิชย์ไตรมาสแรกปีนี้ดีเกินคาด หลังมีการกันสำรองตามมาตรฐาน IAS39 ครบ หันจับตาแบงก์แข่งดุปล่อยกู้เอสเอ็มอี หวั่นอาจทำให้ละเลยการบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบคุณภาพสินเชื่อ เผยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ดี ด้านแบงก์รัฐตั้งเป้าปล่อยกู้ล้านล้าน นำโดยออมสิน 4.9 แสนล้าน
นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.รู้สึกพอใจกับผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ต่างมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าไตรมาสก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีการกันเงินสำรองตามมาตรฐานการบัญชีการเงินระหว่างประเทศ(IAS39) ครบตามจำนวนที่ธปท.ได้สั่งการไว้เรียบร้อยหมดแล้ว
“ปัจจัยที่ส่อเค้าจะมีปัญหาซ้ำเติมต่อธุรกิจแบงก์เท่าที่ดูไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะปัจจัยสำคัญอย่างการกันสำรองตามมาตรฐาน IAS39 ที่เป็นภาระหนักของแบงก์แต่ละแห่งในตอนนี้ก็มีการกันสำรองครบ ซึ่งถือเป็นการลดความกังวลของการดำเนินการแบงก์ได้ในระดับหนึ่ง จึงเชื่อว่าต่อไปการดำเนินธุรกิจของแบงก์จะเป็นไปตามปกติ โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวม”
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปปัจจัยที่ต้องติดตามดูต่อไป คือ การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มหันมาเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น แม้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต่างระมัดระวัง โดยมีการบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบคุณภาพในการปล่อยสินเชื่อ แต่จากการที่มีการแข่งขันในตลาดประเภทนี้กันมาก ทำให้ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างศึกษาหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ดีควรมีมาตรฐานเป็นอย่างไรบ้าง
“นอกเหนือจากที่แบงก์จะมีการวิเคราะห์ การประเมินหลักประกัน หรือแม้แต่การพิจารณาโครงการที่จะยื่นขอสินเชื่อจากลูกค้า รวมทั้งการจัดเรทติ้งของผู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน(เครดิตสกอริ่ง) ว่าต่อไปควรมีรายละเอียดอะไรบ้าง ซึ่งแบงก์แต่ละแห่งจะนำมาเป็นปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่แตกต่างกัน ดังนั้นอย่างน้อยระบบโดยรวมควรมีมาตรฐานในทิศทางเดียวกันโดยแบงก์พาณิชย์อย่าเห็นเพียงเห็นว่าการรุกตลาดเอสเอ็มอีจะช่วยลดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส เรโช) น้อยลงหรือใช้คุ้มค่ามากขึ้นเพียงอย่างเดียว”
**แบงก์รัฐตั้งเป้าปล่อยกู้ล้านล้าน**
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปี 2551 รัฐวิสาหกิจสาขาสถาบันการเงิน (SFI) ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อจำนวน 1,045,555 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อจำนวน 495,200 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 200,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 120,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 95,000 ล้านบาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือเอสเอ็มอีแบงก์ 61,300 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ 58,500 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 15,555 ล้านบาท
นอกจากการปล่อยสินเชื่อแล้วสถาบันการเงินของรัฐยังได้แจ้งขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง จำนวน 20,900 ล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ ธอส.จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในการจัดหาที่อยู่อาศัย ธ.ก.ส. 1,800 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขนาดของเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการขยายการดำเนินงานเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลเช่น การปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มฐานราก การขยายโครงการกองทุนหมู่บ้าน และโครงการพักชำระหนี้ ให้แก่เกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี เอ็กซิมแบงก์ขอเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาท เพื่อขยายเงินให้สินเชื่อแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยได้ 113,640 ล้านบาท ในปี 2555 เอสเอ็มอีแบงก์ขอเพิ่มทุนจำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนการแก้ปัญหา NPLs เดิม บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน การรองรับการขยายธุรกรรมจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากตลาดแรก และการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถกู้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวได้มากขึ้น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินโครงการตามแผนงานปกติจำนวน 29 โครงการ และการดำเนินงานตามนโยบาลรัฐบาล เช่น การร่วมมือกับ ธพว. เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น