xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยบ” สั่งรื้อใหญ่ 58 รสก.จ้องสูบทุน-ต่อท่อเลี้ยงรากหญ้า ดีเดย์ 30 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
“หมอเลี้ยบ” สั่งรื้อใหญ่ 58 รัฐวิสาหกิจ อ้างยกระดับเป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สคร.รับลูกทันควัน กำหนดแผนระยะสั้น-ปานกลาง-ยาว ทั้งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน พัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจและเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาทางการเงิน

วันนี้ (11 เม.ย. ) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 58 แห่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้ สคร.มีแผนที่จะปรับปรุงและยกระดับรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยแผนงานระยะสั้น ประกอบด้วย มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจำนวน 330,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2551 ให้ได้ตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 85% จากปีงบประมาณ 2550 ที่มีอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 64 ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สามารถเติบโตได้ถึง 5.6% ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

การพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI-Special Financial Institutions) ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อให้เป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น โดยในปี 2551 ตั้งเป้ารวมกันจำนวน 7.715 แสนล้านบาท

การสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน, การปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและภาพลักษณ์ที่ดี และการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Directors’ Pool) เป็นต้น

ทั้งนี้ สคร.ได้เตรียมวางแผนระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อปรับปรุงและยกระดับรัฐวิสาหกิจ หวังให้เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเสนอทางเลือกแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ

นายอารีพงศ์ กล่าวถึงแผนงานระยะปานกลาง ประกอบด้วย การฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาทางการเงิน ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งขณะนี้ 3 รัฐวิสาหกิจดังกล่าวมีผลขาดทุนสะสมรวมกันถึง 9.6 หมื่นล้านบาท, การวางระบบการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2511, การผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ (แทน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542) เป็นต้น

นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า สคร.ได้ประมาณการลงทุนของรัฐวิสาหกิจใน 10 ปีข้างหน้า (49-58) เท่ากับ 3.6-4 ล้านล้านบาท ดังนั้นเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ สคร.จึงได้พิจารณาทางเลือกใหม่ของแหล่งเงินทุน ไม่ว่าจะเป็น การแปลงทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์ (Securitization) การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ (Public Private Partnership) ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้

ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สคร.จำนวน 58 แห่ง แบ่งออกเป็น 9 สาขา เป็นสถาบันการเงิน 9 แห่ง ปี 2550 มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 6.605 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 4.986 ล้านล้านบาท มีผลกำไร 1.908 แสนล้านบาท ยอดเงินนำส่งคลังประมาณ 8.612 หมื่นล้านบาท อัตราการเบิกจ่ายเงินลงทุนเท่ากับร้อยละ 64 จากวงเงินลงทุนที่อนุมัติ 3.367 แสนล้านบาท และอัตราผลตอบแทนกำไรเบื้องต้น 7.2%

นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ นายแพทย์ (นพ.) สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเรียกประชุมและมอบนโยบายให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่ง

**มั่นใจ ศก.ไทยแข็งแกร่ง ห่วงแต่เงินเฟ้อสูง

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยังมีความมั่นใจภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ภายหลังที่มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ปัญหาเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้นราคาและจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งรัฐบาลต้องวางแนวทางประคับประคองไม่ให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น รวมถึงปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ

“เศรษฐกิจยังอยู่บนพื้นฐานที่มั่งคง และรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้น แต่คงต้องระวังเงินเฟ้อไม่ให้ปรับสูงขึ้นมาก จากราคาน้ำมันโลกที่ยังปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดความผันผวนต่อความเชื่อมั่นและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ”

**มาตรการภาษีกระตุ้น ศก.ทำให้ยอดจัดเก็บรายได้ปีงบ 51 ต่ำเป้า 1%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ในปีงบ 2551 ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.495 ล้านล้านบาท ราว 1% แม้การจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค.50-มี.ค.51) ของปีงบประมาณ 2551 จะสูงกว่าประมาณการ 1,940 ล้านบาท

“ผลจากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2551 กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมายเพียงเล็กน้อย”

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 629,650 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,940 ล้านบาท หรือ 0.3% ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีกรมสรรพากรและกรมศุลกากรสูงกว่าเป้าหมายเป็นสาเหตุหลัก

ส่วนในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มียอดการจัดเก็บได้จำนวน 92,841 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6,916 ล้านบาท หรือ 6.9% เนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่สามารถนำส่งรายได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยนำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,162 ล้านบาท รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีสรรพสามิตหลายประเภทจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น