xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพิมพ์เขียว"รธน.ฟอกมาร"โละ กกต. - ปปช. - เพิ่มตุลาการฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พลังแม้ว" คลอดพิมพ์เขียวร่างแก้ไขรธน.แล้ว ยอมให้ส.ว.อยู่ครบวาระ หวังขอเสียงสนับสนุน ส่วนกกต.-ป.ป.ช. ชุดนี้ต้องโละภายใน 180 วัน แถมแก้เกมเพิ่มตุลาการศาลรธน.จาก 9 ให้เป็น 15 คน หลังเห็นชื่อ 7 คนแล้วไม่ถูกชะตา ตัด ม.309 ทิ้ง แต่ยังกั๊ก ม.237 ด้าน"หมัก"ไม่ให้นักข่าวซัก แต่จะขอพูดเอง เออเองคนเดียววันอาทิตย์นี้ "อภิสิทธิ์" เชื่อสังคมจะลุกฮือต่อต้านหากคิดตัดตอนองค์กรอิสระ แฉ"พลังแม้ว"กลัวคดีที่จะโอนจาก คตส.ไปอยู่ในมือป.ป.ช. ด้านส.ว.ลูกผสม ผนึกต้านแก้ รธน.ล้ม ส.ว.สรรหา หวั่นจุดชนวนนองเลือดซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มเติม ของพรรคพลังประชาชน แถลงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก เนื่องจากผ่านการกลั่นกรองมีการบังคับใช้มา10ปีแล้ว ซึ่งการประชุมเมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) ได้ข้อยุติในบทเฉพาะกาล เหลือเพียงถ้อยคำเพื่อไปยกร่างให้รัดกุมก่อนเสนอให้วิปรัฐบาลพิจารณาแล้วจะเข้าสู่ที่ประชุมพรรคต่อไป คาดว่าจะเสนอร่างเข้าสู่สภาได้ในสัปดาห์หน้า

นายชูศักดิ์ ได้กล่าวถึงตัวอย่างบทเฉพาะกาล ในส่วนขององค์กรอิสระที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี2550 โดย ส.ว.ชุดปัจจุบันจะยังอยู่ครบวาระ โดยส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง อยู่ครบ 6 ปี ส่วนส.ว.สรรหา อยู่ครบ 3 ปี แล้วให้เลือกตั้งให้ครบ 200 คน

ส่วน ส.ส.ปัจจุบันจำนวน 480 คน หากจะมีเลือกตั้งซ่อม ให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ต่อไป ทั้งการเลือกตั้งส.ส.ระบบเขต และระบบสัดส่วน เพราะเป็นรอยต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อยุติดังกล่าวต้องการให้เกิดความเป็นไปได้ของการใช้กฎหมาย

เพิ่มตุลาการศาล รธน.พลิกเกม

สำหรับในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ได้เสนอแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน ซึ่งปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีการกำหนดองค์คณะเพียง 9 คน ดังนั้นในส่วนที่กำลังสรรหา ก็ให้ดำเนินการต่อไป แต่เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ จะต้องสรรหาเพิ่มให้ครบ 15 คน

ขณะที่ องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กำหนดให้มีการสรรหาใหม่ภายใน 180 วัน โดยใช้กระบวนการได้มา ตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง แต่จะไม่ตัดสิทธิ์ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งให้สามารถเข้ารับสรรหาใหม่ได้อีกครั้ง

ส่วนมาตรา 309 ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม จะมีการแก้ไขอย่างไรนั้น นายชูศักดิ์ ย้ำว่าจะต้องมียกเลิก แต่การนิรโทษกรรมได้มีผลไปแล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเราเห็นว่าไม่ควรจะมีการนิรโทษกรรมในอนาคต

สำหรับการลดวาระขององค์กรอิสระ มั่นใจว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางข้อกฎหมาย เพราะเมื่อมีกฎหมายใหม่ ก็ต้องยกเลิกของเก่าไป แล้วใช้ของใหม่แทน ทั้งนี้ ที่มาของ กกต.และ ป.ป.ช. มีความแตกต่างกัน คือ มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้กลัวการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ที่จะสานต่อคดีจาก คตส.

เมื่อถามว่า การแก้ไขมาตรา 237 จะมีผลกับคดีการยุบพรรคด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อาจใช้เวลานาน 8-9 เดือน หรือ 12 เดือนเพราะมีถึง 344 มาตรา อาจแก้ไม่ทันการพิจารณาคดียุบพรรคก็ได้ หรือหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว แต่ความผิดคดียุบพรรคยังมีอยู่ ต้องไปดูว่า เข้าข่ายตามมาตรา 68 หรือไม่ และโทษการยุบพรรค จะยึดหลักตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก

ส่วนที่มีการมองว่ารัฐบาลวางเกมว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นจะมีการยุบสภานั้น เราไม่ได้มองถึงขั้นนั้น เพราะเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่เราได้ยกร่างโดยมีสมมุติฐานว่า รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ส.ส.และส.ว.จะอยู่จนครบวาระ

เมื่อถามถึงท่าทีของพรรคพลังประชาชน กับแนวคิดที่จะยุบ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา แต่จากการประเมินพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่วิตกตรงนี้ แต่หลักการ คือ ส.ว.สรรหา มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.ปฎิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ จะมีการเปิดเผยเนื้อหาให้ประชาชนทราบอย่างแน่นอน โดยไม่มีการหมกเม็ด แต่จะไม่มีการทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญ 2540 และ2550 ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว

เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะเชื่อมโยงกับแผนการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดแบบนั้นเลย และไม่ทราบว่าข่าวออกมาได้อย่างไร สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นปกติท่านก็มีเรตติ้งดีอยู่แล้ว เพราะเป็นอดีตนายกฯ และคนก็ให้ความสนใจซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

"ที่มีข่าวว่าคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้เป็นคนที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนเองนั้น ก็ไม่เป็นไร คนที่พูดเขาก็ออกมาแก้ข่าวแล้วว่าเข้าใจผิด บางคนก็พูดเก่ง แต่ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งคงไม่มีอะไร ผมเข้าใจว่าขบวนการนี้เป็นขบวนการที่ทำให้พรรคพลังประชาชนพังเร็วๆ ไม่มีอะไรอื่นเลย เสี้ยมไป เสี้ยมมา เดี๋ยวคนนั้นทะเลาะคนนี้ ขัดแย้งกันจะได้พังเร็วๆ ก็เข้าล็อก เข้าแผนเขา" นายชูศักดิ์ กล่าว

หมักเตรียมล็อบบี้ หน.พรรคร่วม

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ภายใน 2-3 วันนี้ ตนจะคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เพื่อทำความเข้าใจให้ทุกอย่างตรงกัน โดยเฉพาะในเรื่องของ 2 องค์กรอิสระ แต่จะยังไม่ให้สัมภาษณ์นักข่าวตอนนี้

"ผมจะพูดเข้าหูคนฟังเลย วันอาทิตย์สารคดีของผมชื่อ "รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ทาไม่ได้ แต่เป็นหัวใจของการปกครอง เพราะมีคนมาผูกจึงต้องมีคนแก้" เป็นสารคดีของผมวันอาทิตย์ ไม่ให้สัมภาษณ์รายละเอียดตรงนี้ เดี๋ยวยุ่งยากสับสน"

ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากให้ขยายคำว่า 2 องค์กร ที่ว่าคือองค์กรอะไร นายสมัคร กล่าวว่า คือ ป.ป.ช. และกกต. เพราะความเป็นมาไม่ครบถ้วนตามขบวนความ จึงต้องทำให้ถูกต้อง ก็เท่านั้นเอง ถ้าหากรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับองค์กรอื่นเลย แม้กระทั่งสมาชิกวุฒิสภา ก็ไม่คิดไปตัดตอนอะไร เขาทำถูกต้องแล้วจะได้ไม่มีปัญหา

"ทั้งหมดขอยืนยันตรงนี้เลยว่า มันจะไม่มีผลกับเรื่องของยุบพรรคทั้ง 3 หรือเรื่องของอดีตนายกฯทักษิณ แต่อย่างใดทั้งสิ้น แก้รัฐรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกตีความว่าอะไรใช้ได้ ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะไม่มีความหมายเรื่องนี้เลย แต่ที่จะทำ ขอให้เข้าใจนะว่า เรามีคนจำนวนมากที่จะแก้ไข เลยได้คิดแก้ไขเสีย ถ้าเราไม่แก้ ปล่อยทิ้งไว้ เดี๋ยวเดียวเลือกตั้งกันใหม่ ก็ต้องใช้ของพรรค์อย่างนี้อยู่อีก ก็จะไม่มีโอกาสได้แก้ คราวนี้มีโอกาสแก้ ก็แก้เสียเพื่อวันข้างหน้า ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้แทนราษฎรคนใหม่ ชุดใหม่จะได้ประโยชน์จากการแก้ของเรา"

ผู้สื่อข่าวถามว่า รูปแบบของการแก้ไขในส่วนขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. , กกต. รวมถึง ส.ว. จะมีรูปแบบอย่างไร นายสมัคร กล่าวว่า ส.ว.ไม่เกี่ยวข้องเป็นของเขาไปธรรมดา องค์กรอื่นอีก 7 องค์กร ก็ไม่เตะต้อง อธิบายความให้ฟังไว้ว่า เมื่อมีความไม่ถูกต้องควรจะได้รับการแก้ไขเสียใหม่ เช่น กกต.มาไม่ถูกต้อง ก็ทำเสียใหม่ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ด้วยซ้ำไป ก็จะทำเสียใหม่ สรรหาใหม่

พรรคร่วมฯ ไม่ยอมถูกมัดมือชก

พล.ต.สนั่น ขจรประสาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย กล่าวถึงร่างแก้ไขรธน.ว่า ยังไม่ได้คุยกันเลย เพราะตนไม่ทราบว่าใครแถลงอะไรกันไปบ้าง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปคุยกันในพรรคอีกที อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ พรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ไม่ใช่ว่าพรรคเดียวจะทำได้

เมื่อถามว่า แล้วใครจะเป็นคนไม่ยอมให้พวกมากลากไป พล.ต.สนั่น กล่าวว่า "ผมว่าก็ลากยากลำบากเหมือนกันนะ คนคนเดียวกับคน 5 คน มันต้องทำความเข้าใจกัน"

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะนัดพรรคร่วมรัฐบาล พูดคุยกันให้เข้าใจ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ใช่ เป็นการพูดกันภายในกันก่อน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการยกร่างใครยกร่างก็ยกไป แต่เราเห็นด้วยไหม ถ้าไม่เห็นด้วยเราก็ไม่เอาด้วยในมาตราอะไรก็ว่าไป ไม่สามารถมัดมือชกได้เพราะ 5 พรรคคงไม่ยอม

โละ ป.ป.ช. - กกต.มีวาระซ่อนเร้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ คณะอนุกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชาชน ได้เสนอแก้ไข ให้มีการสรรหา คณะกรรมการ ป.ป.ช.และ กกต. ใหม่ภายใน 180 วัน ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง 2 องค์กร มีความเป็นกลางมาโดยตลอด และรัฐบาลก็เคยแสดงความชื่นชม ก่อนที่คนของพรรคตัวเองจะถูกใบเหลือง ใบแดง เรื่องนี้จึงถือว่ามีวาระซ่อนเร้น แอบแฝง

"เป็นการสะท้อนความกังวลของพรรคพลังประชาชน ที่เห็นว่าต่อไป คตส. จะหมดวาระลง และงานที่ คตส. ตรวจสอบอยู่จะถูกถ่ายโอนมายังป.ป.ช. ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในคดีที่ค้างอยู่ และยิ่งจะใช้วิธีการสรรหาแบบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็จะยิ่งมีปัญหา เพราะวิธีการดังกล่าวมีจุดอ่อนที่เห็นชัดเจนแล้วว่าถูกแทรกแซงได้จากทางการเมือง จนทำให้องค์กรอิสระไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง ทำให้เกิดวิกฤตการเมือง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนด้วยการแสวงหาความร่วมมือ ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อหาจุดร่วมกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่ล่าช้า และจะเป็นไปเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งจะได้รับการยอมรับจากสังคมด้วย แต่ถ้ายังดึงดันอย่างที่ทำอยู่ ผมก็คิดว่าคงแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

จงใจให้เกิดการเผชิญหน้าในสังคม

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความจริงรัฐบาลไม่มีเจตนาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการใช้ประเด็นนี้สร้างความวุ่นวายในสังคม หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังมองไม่ออกว่ารัฐบาลจะทำเช่นนั้นทำไม เพราะสุดท้ายแล้วประเทศชาติจะบอบช้ำ ซึ่งหากรัฐบาลหวังดีกับประเทศจริง ก็ต้องทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกระบวนการสร้างความยอมรับในสังคม อย่าทำให้เกิดการเผชิญหน้า

"ข้ออ้างที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการทำรัฐประหาร จึงไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ผมคิดว่าฟังไม่ขึ้น เพราะหากคิดเช่นนั้น ส.ส.ทุกคนก็มาจากการทำรัฐประหารทั้งหมด เพราะมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน วันนี้รัฐบาลจึงควรหยุดอ้างเรื่องนี้ได้แล้ว แต่หันมาพูดถึงเนื้อหาที่มีปัญหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตยน่าจะเป็นประโยชน์กว่า ที่สำคัญคือควรหันไปแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติบ้าง แทนที่จะมาหมกมุ่นอยู่แต่กับการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานก็ยังมีปัญหา รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของประชาชนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข" ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่รัฐบาลอ้างว่า รัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน และทำให้ต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจจนไม่มาลงทุน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะความเชื่อมั่นของต่างชาตินับจากวันก่อนการเลือกตั้ง จนถึงหลังเลือกตั้ง ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ที่มีปัญหาเป็นเพราะตัวรัฐบาลเองมากกว่า ที่สร้างเงื่อนไขทำให้เกิดการเผชิญหน้าในสังคม บ้านเมืองเกิดความตึงเครียด ดังนั้นหากรัฐบาลหันมาเดินหน้าตามกฎหมายทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดี ที่สำคัญคือความเชื่อมั่นของต่างชาติ จะอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลว่าจะต้องมีความชัดเจน

จี้ กสม. ออกมาทวงสิทธิให้ ปชช.

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่าสังคมลืมไปแล้วว่าองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มาจากการสรรหาของ ส.ว. 2540 และเป็นองค์กรเดียวที่ไม่ได้เกิดจากคณะรัฐประหาร แต่ว่าที่ผ่านมาองค์กรนี้ไปอยู่ไหน ทำไมไม่ออกมาแสดงความเห็นเลย ตนอยากให้กรรมการสิทธิฯ ช่วยดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากเพียงใด เพราะเท่าที่มองก็เห็นมี 4 มาตรา ละเมิดสิทธิ มนุษยชน เช่น เรื่องกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจทหารอย่างเต็มที่ในการจับกุม คุมขัง ทั้งทางร่างกาย และทรัพย์สิน อยากให้กรรมการสิทธิฯไปประชุม และออกมาอธิบายประชาชนว่า รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้หรือไม่ บนเหตุผลใด เพราะประเทศประชาธิปไตยเรื่องสิทธิมนุษยชน ถือว่ามีความสำคัญที่สุด การประท้วงในเรื่องต่างๆ ก็ออกมาเรียกร้องในสิทธิข้อนี้กันทั้งนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูแลประชาชน 63 ล้านคน แต่กลับมีการละเมิดสิทธิฯกันแบบนี้ โดยเฉพาะการให้คน 7 คนมาเลือก ส.ว.ได้ถึง 74 คน แล้วคนอยู่ใน 63 ล้านคนไปอยู่ที่ไหน ตรงนี้เป็นการละเมิดสิทธิฯ ที่ชัดเจนมาก

ส.ว.เลือกตั้งยัน ส.ว.สรรหามีคุณภาพ

นางสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวถึงความพยายามของพรรคพลังประชาชน ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกส.ว.สรรหา ว่า ตนมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งแต่เดิมก็มีความมุ่งมั่นว่าจะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะเห็นว่า ส.ว.สรรหานั้นเข้ามาง่ายเหลือเกิน แต่เมื่อได้เข้าทำหน้าที่จริงๆแล้ว ความคิดก็เปลี่ยนไป หลังจากพบว่าส.ว.สรรหาจำนวนมาก เป็นผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิรู้ มีความเป็นกลาง เหมาะสมกับภารกิจวุฒิสภา ขอชื่นชมประมุของค์กรอิสระ 7 คน ที่คัดเลือกบุคคลที่ยอดเยี่ยมเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิก ตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก ส.ว.สรรหา และเห็นว่า ส.ว.สรรหา ควรจะอยู่ต่อไป เพื่อถ่วงดุล ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนที่พรรคพลังประชาชนระบุว่า ส.ว.สรรหาไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนั้น ตนเห็นว่าการจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเสมอไป

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ส.ว.ชุดที่ผ่านมาถูกตั้งฉายาว่าเป็นสภาทาส สภาผัวเมีย หรือสภาเป็ดง่อย ขณะที่อดีตประธานก็ถูกเปลี่ยนชื่อ จึงเห็นว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ได้มีความวิเศษวิโส ยอดเยี่ยมจนหาที่ติดไม่ได้ เช่นเดียวกับส.ว.สรรหา ก็ไม่ใช่ว่าจะยอดเยี่ยมเช่นเดียวกัน แต่ยืนยันว่า กระบวนการได้มาของส.ว.สรรหา นั้นก็มีขั้นตอน ต้องมีองค์กรส่งชื่อให้กับประมุของค์กรสำคัญถึง 7 คน เพื่อคัดเลือก

"ส.ว.สรรหานั้นปราศจากอิทธิพลของฝ่ายการเมือง ขณะที่ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งมีฐานของพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ในที่สุดจะแก้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรนั้น ขอให้ประชาชนในสังคมวินิจฉัย" นายประสารกล่าว

หวั่นแก้ รธน.ซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ออกแบบ ส.ว.สรรหาให้ทำงานถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เนื่องจากความล้มเหลวที่เคยเกิดขึ้นของส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ชุดที่แล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ออกแบบไว้ให้ ส.ว.สรรหา ทำงานภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งหลังจากที่ ส.ว.สรรหาทำงานครบ 3 ปีแล้ว เห็นว่าไม่มีผลงานค่อยมาประเมินอีกครั้งหรือจะยกเลิกเลยก็ได้ หากไม่มีผลงานปรากฏ แต่นี่รัฐบาลกลับบุ่มบ่าม ประกาศแก้รัฐธรรมนูญทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ผลงานหรือหน่วยงานองค์กรใดเลย ก็จะมาปลดเขา เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง

หากรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ควรที่จะมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุด 3 ขึ้นมา และควรจะมีการศึกษารัฐธรรมนูญปี 2540 และ2550 ควบคู่กันเพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแต่ละมาตรา ของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ อีกทั้งควรเชิญสถาบันพระปกเกล้า ที่ศึกษาวินิจฉัยรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด มาร่วมพิจารณาในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

"หากรัฐบาลยังไม่ฟังเสียงใครอยู่แบบนี้ จะยิ่งสร้างความสับสนให้ประชาชนเป็นทวีคูณ และจะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง เพราะทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยความไม่ชอบธรรม ก็จะเกิดวิกฤติทางการเมืองตามมาทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ควรไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนจะประกาศออกมา" นายสมชาย กล่าว

พันธมิตรตะวันออกรวมตัวต้าน

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญ 2550 นั้น มีกระบวนการที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา และเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วประเทศ แต่การแก้ไขนั้นเป็นไป เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนในคณะรัฐบาลและพวกพ้องเท่านั้น ถ้าจะแก้ต้องแสดงให้เห็นเจตนาชัดว่า จะแก้ทำไม เพื่ออะไร เมื่อไร และประชาชนจะมีส่วนร่วมคิดเห็นอย่างไร

ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯได้ประชุมร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จ.ระยอง โดยที่ประชุมลงฉันทามติเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพร้อมจะเคลื่อนไหว 2 แนวทาง คือ การรณรงค์เชิงรุกเพื่อสร้างเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และการทำงานเชิงลึกในการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยผ่านกลไกของกลุ่มองค์กรสมาชิกของโครงข่ายฯ ต่อไป

นอกจากนั้นทางเครือข่ายฯกำหนดจัดเวทีปราศรัยใหญ่ ที่ลานอเนกประสงค์เทศบันเทิงพลาซ่า เทศบาลนครระยอง ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ เวลา 17.00-21.00 น.โดยในวันนี้ (19 เม.ย.) ตนจะไปร่วมประชุมกับคณะทำงานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อนำประเด็นต่างๆ มาพูดคุยกับพี่น้องกลุ่มองค์กรสมาชิกโครงข่ายระยอง ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนชาวระยอง ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มาร่วมเวทีปราศรัยนับพันคนอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น