xs
xsm
sm
md
lg

ไชโย! พิมพ์เขียว “รธน.แม้ว” คลอดแล้วโละ ป.ป.ช.-กกต.ใน 180 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พลังแม้ว” คลอดพิมพ์เขียวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เตรียมดันเข้าสภาสัปดาห์หน้า เปลี่ยนใจให้ ส.ว.สรรหาอยู่ครบวาระ 3 ปี ส่วน กกต.ที่ทำเรื่องยุบพรรค และ ป.ป.ช.ที่ต้องรับโอนคดีโกงหลัง คตส.หมดอายุต้องโละใหม่ให้สรรหาภายใน 180 วัน ยันไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ไม่ทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็นชาวบ้านเด็ดขาด

วันนี้ (18 เม.ย.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มเติม ของพรรคพลังประชาชน แถลงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก เนื่องจากผ่านการกลั่นกรองมีการบังคับใช้มา 10 ปีแล้ว ซึ่งการประชุมวันนี้ได้ข้อยุติในบทเฉพาะกาล เหลือเพียงถ้อยคำเพื่อไปยกร่างให้รัดกุมก่อนเสนอให้วิปรัฐบาลพิจารณาแล้วจะเข้าสู่ที่ประชุมพรรคต่อไป คาดว่า จะเสนอร่างเข้าสู่สภาได้ในสัปดาห์หน้า

นายชูศักดิ์ ได้กล่าวถึงตัวอย่างบทเฉพาะกาลในส่วนขององค์กรอิสระที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ2550 โดย ส.ว.ชุดปัจจุบันยังอยู่ครบวาระ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง อยู่ครบ 6 ปี ส่วน ส.ว.สรรหา ครบ 3 ปี แล้วให้เลือกตั้งให้ครบ 200 คน ส่วน ส.ส.ปัจจุบันจำนวน 480 คน หากจะมีเลือกตั้งซ่อมให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ต่อไป ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต และระบบสัดส่วน เพราะเป็นรอยต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อยุติดังกล่าวต้องการให้เกิดความเป็นไปได้ของการใช้กฎหมาย

สำหรับในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ได้เสนอแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ให้มีจำนวน 15 คน ซึ่งปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีการกำหนดองค์คณะเพียง 9 คน ดังนั้น ในส่วนที่กำลังสรรหาก็ให้ดำเนินการต่อไป แต่เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้จะต้องมีการสรรหาให้ครบ 15 คน

ขณะที่ องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดให้มีการสรรหาใหม่ภายใน 180 วัน โดยใช้กระบวนการได้มาตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง แต่จะไม่ตัดสิทธิ์ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งให้สามารถเข้ารับสรรหาใหม่ได้อีกครั้ง

เมื่อถามถึงในส่วนมาตรา 309 ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม จะมีการแก้ไขอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวย้ำว่า จะต้องมีการยกเลิก แต่การนิรโทษกรรมได้มีผลไปแล้วรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเราเห็นว่าไม่ควรจะมีการนิรโทษกรรมในอนาคต

ต่อข้อถามว่า การลดวาระขององค์กรอิสระจะทำให้เกิดขัดแย้งทางข้อกฎหมายหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีความขัดแย้ง เพราะเมื่อมีกฎหมายใหม่ก็ต้องยกเลิกไปแล้วใช้ของใหม่แทน ทั้งนี้ ที่มาของ กกต.และ ป.ป.ช.มีความแตกต่างกัน คือ มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้กลัวการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ที่จะสานต่อคดีจาก คตส.

เมื่อถามว่า การแก้ไขมาตรา 237 จะมีผลกับคดีการยุบพรรคด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจใช้เวลานาน 8-9 เดือน หรือ 12 เดือน เพราะมีถึง 344 มาตรา อาจแก้ไม่ทันการพิจารณาคดียุบพรรคก็ได้ หรือหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว แต่ความผิดคดียุบพรรคยังมีอยู่ ต้องไปดูว่าเข้าข่ายตามมาตรา 68 หรือไม่ และโทษการยุบพรรคจะยึดหลักตามรัฐธรรมนูญใน 2540 เป็นหลัก

ส่วนที่มีการมองว่ารัฐบาลวางเกมว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นจะมีการยุบสภานั้น รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เราไม่ได้มองถึงขั้นนั้น เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่เราได้ยกร่างโดยมีสมมติฐานว่า รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ส.ส.และ ส.ว.จะอยู่จนครบวาระ

เมื่อถามถึงท่าทีของพรรคพลังประชาชนกับแนวคิดที่จะยุบ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา จากการประเมิน พรรคร่วมไม่เห็นด้วยกับร่างของพรรคพลังประชาชน อาจทำให้พรรคหวั่นว่าร่างจะไม่ผ่านการพิจารณา นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่วิตกตรงนี้ แต่หลักการ คือ ส.ว.สรรหา มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.จึงให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จจะมีการเปิดเผยเนื้อหาให้ประชาชนทราบอย่างแน่นอน โดยไม่มีการหมกเม็ด แต่จะไม่มีการทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว /0110
กำลังโหลดความคิดเห็น