xs
xsm
sm
md
lg

7วันอันตรายยอดตาย368ศพเอาแน่งดเหล้าสงกรานต์-ปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่กระทรวงมหาดไทย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2551 วานนี้ (18 เม.ย.) มีการแถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนน รวมอุบัติเหตุสะสมในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. โดยพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 4,243 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 368 ราย บาดเจ็บ 4,803 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า ปี 2550 จำนวน 7 ราย หรือร้อยละ 1.94
นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) แถลงว่าวานนี้ (17 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในช่วง 7 วันอันตราย แต่ ศปถ. มีแนวคิดจะร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายกำหนดแนวทาง การจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงรณรงค์ต่อเนื่องระยะยาว เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ตลอดจนจะได้ประสานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับรถกระบะที่ตระเวนเล่นน้ำบนถนนทางหลวงแผ่นดิน โดยกำชับให้จังหวัดนำบทเรียนอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นพื้นที่ มาปรับแผนการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นายสหัส กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในวั 17 เม.ย. ที่รวบรวมโดย ศปภ. พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 287 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 36 ราย ผู้บาดเจ็บ 310 ราย โดยเมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุใหญ่ขึ้นกับรถโดยสารไม่ประจำทาง ที่จ.พิษณุโลก มีสาเหตุมาจากคนขับหลับใน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นเป็น 288 ครั้ง น้อยกว่าปี 2550 (451 ครั้ง) จำนวน 163 ครั้ง ร้อยละ 36.14 ผู้เสียชีวิต 44 ราย มากกว่าปี 2550 (43 ราย) ผู้บาดเจ็บ 319 ราย น้อยกว่าปี 2550 (512 ราย) จำนวน 192 ร้อยละ 37.69
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 27.78 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.63 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้น บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.28 จุดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ทางตรง ร้อยละ 61.81 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงพลบค่ำ เวลา 16.01-20.00 น. คิดเป็นร้อยละ 27.43 ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ มีอายุระหว่าง 30-39 ปี คิดเป็นร้อยละ 17.18
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก ราชบุรี จังหวัดละ 13ครั้ง จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ มี 10 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก จำนวน 10 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม 52 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่ พิษณุโลก 22 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ รวม 11 จังหวัด
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 40.56 พฤติกรรมเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 47.13 เมาสุรา ร้อยละ 33.09 ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.97 ถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.30 ถนนกรมทางหลวง 32.45 โดยเฉพาะบริเวณทางตรง ร้อยละ 57.48 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ เวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 32.24 ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่มีอายุ 15.-19 ปี ร้อยละ 17.62 และอายุ 30-39 ร้อยละ 17.27
สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมสูงสุด พบว่า เชียงราย 176 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ 159 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 25 ราย รองลงมา ได้แก่ เชียงใหม่ 14 ราย จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต รวม 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก สิงห์บุรี ยะลา กระบี่ ศรีสะเกษและยโสธร จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 183 ราย รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ 171 ราย
นายสหัส กล่าวว่า ปัญหาการกระทำผิดกฎจราจรของเด็ก และเยาวชนที่มีอายุ 15-24 ปี ศปถ.จะได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และ สตช. เผยแพร่การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้รับทราบ รวมทั้งให้มีกระบวนการสร้างจิตสำนึก เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน และชุมชน อย่างต่อเนื่องและจริงจัง
วันเดียวกัน ที่กระทรวงมหาดไทย กลุ่มมูลนิธิเมาไม่ขับ พร้อมด้วย กลุ่มเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ นำโดยมี นพ.แท้จริง ศิริพานิช เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง ให้ดำเนินการเอาผิดกับพวกเมาแล้วขับอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนนโยบายงดขายเหล้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์
น.พ.แท้จริง กล่าวภายหลังการเข้ายื่นหนังสือว่า อยากเรียกร้องให้ออก กฎหมายเอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนการตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้มีโทษรุนแรงเท่าคนที่เมาแล้วขับ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ และควรกำหนดวันเข้าพรรษาให้เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ด้วย
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องนี้จะได้มอบให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการดูแล ส่วนตัวไม่อยากให้อุบัติเหตุเกิดขั้น ส่วนการจำหน่ายสุรา ในช่วงเทศกาลต้องดำเนินการเด็ดขาด วันนี้ได้สั่งดำเนินการแล้ว หากใครฝ่าฝืนจะจับปรับแหลก
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่าการงดจำหน่ายสุราจะไม่ทำแค่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่จะให้งดในช่วงปีใหม่ด้วย ซึ่งอาจออกเป็นกฎกระทรวงของกฎกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความชัดเจนว่าจะออกกฎกระทรวงมาบังคับใช้ในช่วงปีใหม่นี้เลย เพราะเมื่อก่อนไม่กล้า แต่ขณะนี้องค์กรต่างๆ เห็นด้วยกันหมด โดยการอกกกฎกระทรวงคงไม่ต้องเชิญเอกชนมาทำประชาพิจารณ์ เพราะแต่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปทำประชาพิจารณ์ให้เสร็จภายใน 15 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น