xs
xsm
sm
md
lg

7 วันสงกรานต์ตายพุ่ง 368 เจ็บกว่า 4 พัน พิษณุโลกครองแชมป์ 25 ศพ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
สรุปสถิติ 7 วันอันตราย เสียชีวิตพุ่ง 368 ศพ บาดเจ็บ 4,803 ราย เพิ่มจากปีก่อน 7 ราย พิษณุโลกครองแชมป์ตายสูงสุด 25 ศพ รองลงมาเชียงใหม่ 14 ศพ เหตุเกิดจากเมาสุราซิ่ง จยย.เกิดอุบัติเหตุวัยรุ่นบาดเจ็บมากสุด ส่วนวัยทำงานเหมาสถิติการเสียชีวิต ขณะที่ ศปถ.เตรียมจับมือหน่วยงานรัฐศึกษาแผนงดขายเหล้าวันสงกรานต์สนองแนวคิด “เป็ดเหลิม” ด้าน “อนุชา” กำชับเจ้าหน้าที่ใช้สถิติปีนี้เป็นบทเรียนปรับแผนให้สอดคล้องเพื่อควบคุมกลุ่มเสี่ยงเกิดเหตุซ้ำ


วันนี้ (18 เม.ย.) ที่กระทรวงมหาดไทย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2551 แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน รวมอุบัติเหตุสะสม 7 วัน (11-17 เม.ย.) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 4,243 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 368 ราย บาดเจ็บ 4,803 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า ปี 2550 จำนวน 7 ราย ร้อยละ 1.94

นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ศปถ.มีแนวคิดจะร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายกำหนดแนวทางการจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงรณรงค์ต่อเนื่องระยะยาว เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ซึ่งจะประสานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับรถกระบะที่ตระเวนเล่นน้ำบนถนนทางหลวงแผ่นดิน โดยกำชับให้จังหวัดนำบทเรียนอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มาปรับแผนดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

นายสหัส กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 17 เม.ย.2551 รวบรวมโดยศูนย์อำนวยการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 287 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 36 ราย ผู้บาดเจ็บ 310 ราย โดยเมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุใหญ่ขึ้นกับรถโดยสารไม่ประจำทาง ที่จังหวัดพิษณุโลก มีสาเหตุมาจากคนขับหลับใน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นเป็น 288 ครั้ง น้อยกว่าปี 2550 (451 ครั้ง) จำนวน 163 ครั้ง ร้อยละ 36.14 ผู้เสียชีวิต 44 ราย มากกว่าปี 2550 (43 ราย) ผู้บาดเจ็บ 319 ราย น้อยกว่าปี 2550 (512 ราย) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 27.78 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.63 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.28 จุดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ทางตรง ร้อยละ 61.81 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงพลบค่ำ เวลา 16.01-20.00 น. คิดเป็นร้อยละ 27.43 ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ มีอายุระหว่าง 30-39 ปี คิดเป็นร้อยละ 17.18 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก ราชบุรี จังหวัดละ 13 ครั้ง จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ มี 10 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก จำนวน 10 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม 52 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่ พิษณุโลก 22 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ รวม 11 จังหวัด

ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีการจัดตั้งจุดตรวจ รวม 3 ,036 จุด มีผู้ปฏิบัติงาน รวม 89 ,787 คน และได้เรียกตรวจยานพาหนะ 597,672 คัน พบผู้กระทำผิด รวม 31,314 คัน ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 11,715 คน อุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11-17 เม.ย. 51) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 4,243 ครั้ง น้อยกว่าปี 2550 (4 ,274 ครั้ง) จำนวน 31 ครั้ง ร้อยละ 0.73 ผู้เสียชีวิต รวม 368 ราย มากกว่าปี 2550 (361 ราย) จำนวน 7 ราย ร้อยละ 1.94 ผู้บาดเจ็บ รวม 4,803 ราย น้อยกว่า ปี 2550 (4 ,805 ราย) จำนวน 2 ราย ร้อยละ 0.04

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 40.56 พฤติกรรมเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 47.13 เมาสุรา ร้อยละ 33.09 ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.97 ถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.30 ถนนกรมทางหลวง 32.45 โดยเฉพาะบริเวณทางตรง ร้อยละ 57.48 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ เวลา 16.01-20.00 น.ร้อยละ 32.24 ผู้เสียชีวิตและผู้บาด
เจ็บส่วนใหญ่มีอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 17.62 และอายุ 30-39 ร้อยละ 17.27

สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมสูงสุด พบว่า เชียงราย 176 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ 159 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 25 ราย รองลงมา ได้แก่ เชียงใหม่ 14 ราย จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต รวม 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก สิงห์บุรี ยะลา กระบี่ ศรีสะเกษและยโสธร จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 183 ราย รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ 171 ราย

นายสหัส กล่าวต่อไปว่า การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในภาพรวมที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2551 พบว่า เกิดจากการเมาสุราแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์บนถนนสายรอง ได้แก่ ถนนของกรมทางหลวงชนบท ถนนในเขตหมู่บ้าน/อบต.ศปถ.จึงได้มีแนวคิดที่จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางการงดจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาล สงกรานต์อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากคนเมาขับรถ รวมทั้งจะร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย รณรงค์ชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงอันตรายจากการดื่มสุราแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงการไม่ซ้อนท้ายผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะนำไปสู่การลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปัญหาการกระทำผิดกฎจราจรของเด็ก และเยาวชนที่มีอายุ 15-24 ปี ศปถ.จะได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยแพร่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้รับทราบ รวมทั้งให้มีกระบวนการสร้างจิตสำนึก เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน และชุมชน อย่างต่อเนื่องและจริงจัง”

นายสหัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ศปถ.จะมุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และการปฏิบัติตามวินัยจราจร ส่วนปัญหาการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างไม่เหมาะสม จนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จะได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์สร้างแรงจูงใจในการเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีอันดีงามของไทย ที่สำคัญจะได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม ออกมาตรการและบทลงโทษ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กับรถกระบะที่ตระเวนเล่นสาดน้ำสงกรานต์ และสาดน้ำในลักษณะรุนแรงบนทางหลวงแผ่นดิน

ด้าน นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น อายุระหว่าง 15-19 ปี และกลุ่มคนวัยทำงานที่อายุระหว่าง 30-39 ปี ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ และมักเกิดในช่วงเวลาพลบค่ำ บนเส้นทางสายตรง ของถนนสายรอง ได้แก่ ถนนของกรมทางหลวงชนบท และถนนในหมู่บ้าน / อบต. สาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ และมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ศปถ. จึงได้สั่งกำชับให้จังหวัดนำสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และบทเรียนจากการดำเนินงาน ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มาปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพปัญหาในพื้นที่ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นในระยะยาวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น