xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนกั้นโขง โรงไฟฟ้าแสนล้าน และพลังงานที่ล้นเกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องโดย ....ลัลธริมา หลงเจริญ โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA)

แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่าน 6 ประเทศ จากที่ราบสูงทิเบต ผ่านภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไหลสู่ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,909 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในอุษาคเนย์

มาวันนี้ แม่น้ำโขง แม่น้ำสายที่หล่อเลี้ยงคนในภูมิภาคกว่า 60 ล้านคน กำลังถูกรุมทึ้งด้วยโครงการเขื่อนขนาดใหญ่หลายต่อหลายเขื่อน โดยมิได้ใส่ใจถึงผลกระทบต่อลุ่มน้ำโขงและชีวิตผู้คนอย่างรอบด้าน ยิ่งไปกว่านั้น มายาภาพที่ถูกสร้างด้วยรัฐเกี่ยวกับ “ความจำเป็น” ของโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่สูงขึ้นของประเทศไทย ก็เป็นสิ่งที่ต้องถูกตรวจสอบก่อนเดินหน้าโครงการ

เขื่อนใหญ่คืนชีพ

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเคยวางแผนก่อสร้างชุดเขื่อนขั้นบันไดแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 แต่แผนการต้องชะงักไปด้วยภาวะสงครามความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดจีน และปัญหาว่าเป็นโครงการที่ราคาสูงจนเกินไป อีกทั้งจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น โครงการเขื่อนผามองขนาด 4,800 เมกะวัตต์ที่เคยเสนอในครั้งนั้น จะก่อให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมมหาศาลถึง 3,700 ตารางกิโลเมตร และต้องอพยพประชาชนในประเทศไทยและลาวถึง 250,000 คน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2549 บริษัทสัญชาติไทย มาเลเซีย เวียดนาม และจีน ก็ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างให้เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของเขื่อนต่าง ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่างถึง 8 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากลาย และเขื่อนดอนสะฮอง ในประเทศลาว เขื่อนซำบอในประเทศกัมพูชา เขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่ม บริเวณชายแดนไทย-ลาว

ผุดสองเขื่อนใหญ่ชายแดนไทย-ลาว

เขื่อนปากชม และ เขื่อนบ้านกุ่ม ถูกนำมาปัดฝุ่นโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน โดยในปี 2548 พพ. ได้ว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโคร คอนซัลแตนท์ ของไทย ให้ศึกษาศักยภาพเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบขั้นบันไดบนแม่น้ำโขงสายหลัก

ในปี 2550 ก็ได้ว่าจ้างให้จัดทำ “รายงานก่อนรายงานความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น” ของสองเขื่อนดังกล่าว ซึ่งได้ลงความเห็นว่ามีความเหมาะสมด้านวิศวกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยเรียกชื่อโครงการว่า “โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายปากชม” (หรือเขื่อนผามองในแผนดั้งเดิม) และ “โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายบ้านกุ่ม”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ สปป.ลาว เพื่อปูทางให้บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และเอเชีย คอร์ป เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้โครงการเขื่อนบ้านกุ่ม
ภาพแม่น้ำโขงแห้งแบบนี้ เริ่มชินตา หลังมีการสร้างเขื่อนหลายแห่ง และล่าสุดลาว จะมีการสร้างเขื่อนกันน้ำโขงอีก
ถัดมาในวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา พพ. ก็ได้จัดสัมมนาเสนอผลศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของเขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านกุ่ม โดยระบุว่า เขื่อนปากชม กำลังการผลิต 1,079 เมกะวัตต์ จะตั้งอยู่บนแนวพรมแดนไทย-ลาว ตรงบ้านห้วยขอบ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย และบ้านห้วยหาง เมืองสังทอง แขวงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ค่าลงทุนโครงการ – รวมภาษีนำเข้า ค่าเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง และค่าธรรมเนียม – อยู่ที่ 69,641 ล้านบาท

เขื่อนบ้านกุ่ม กำลังการผลิต 1,872 เมกะวัตต์ จะตั้งอยู่บนแนวพรมแดนไทย-ลาว ตรงบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และบ้านกุ่มน้อย เมืองชนะสมบูน แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ค่าลงทุนโครงการอยู่ที่ 120,390 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้ระบุผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่า เขื่อนปากชม ที่ระดับกักเก็บปกติ +192 ม.รทก. มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 50,217 ไร่ ส่งผลกระทบทำให้น้ำท่วมบ้านคกเว้า โรงเรียน และวัดโนนสว่างอารมณ์ อ.ปากชม และท่วมบ้านห้วยหาง เมืองสังทอง แขวงนครเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังท่วมพื้นที่เพาะปลูกริมตลิ่ง พื้นที่เกษตร ถนน และสะพานบางแห่ง และน้ำจะท่วมเอ่อท่วมเข้าไปในลำห้วยสาขาด้วย

ส่วน เขื่อนบ้านกุ่ม ที่ระดับกักเก็บปกติ +115 ม.รทก. มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 98,806 ไร่ ส่งผลกระทบน้ำท่วมบ้านคันท่าเกวียนและโรงเรียน ในอ.โขงเจียม และท่วมบ้านคำตื้อ และบ้านคันทุงไชย เมืองคงเซโดน แขวงสาละวันของลาว นอกจากนี้ยังท่วมพื้นที่เพาะปลูกริมตลิ่ง พื้นที่เกษตร และต้องโยกย้ายบ้านกุ่มน้อย เมืองชนะสมบูน แขวงจำปาสัก ฝั่งลาว ออกจากพื้นที่หัวงานด้วย รวมทั้งต้องขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ใน จ.อุบลราชธานี บางส่วนด้วย

เขื่อนคุกคามระบบนิเวศและสิทธิชุมชน

วันถัดจากการสัมมนาของพพ. สื่อมวลชนได้รายงานข่าวการสัมภาษณ์ชาวบ้านคันท่าเกวียน จ.อุบลราชธานี ซึ่งจะถูกน้ำท่วมจากเขื่อนบ้านกุ่ม ชาวบ้านเปิดเผยว่า พวกเขายังไม่รู้ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ แต่รู้แน่ว่าอาชีพประมง และการเพาะปลูกพืชริมฝั่งโขง เช่น การปลูกมัน ข้าวโพด ถั่ว ผักต่างๆ คงได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน พร้อมทั้งวอนให้รัฐช่วยชี้แจงต่อประชาชนว่ากำลังทำอะไร และจะย้ายพวกเขาไปอยู่ที่ไหน

ในขณะเดียวกัน ทางด้านเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเนื่องจากหวั่นถึงผลกระทบนานัปการที่จะเกิดขึ้น
เมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงมากขึ้น ปลาที่คน 2 ฝั่งเลยจับได้เพื่อดำรงชีพ ก็ลดลง
 “รัฐอ้างว่าเขื่อนพวกนี้เป็น “ฝาย’ แบบ run of river คือไม่มีอ่างเก็บน้ำใหญ่ แต่ข้อมูลจาก พพ. เองก็บอกว่า เขื่อนบ้านกุ่มมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดเกือบแสนไร่ ยาวขึ้นไปนับ 100 กิโลเมตรตามลำน้ำโขง จากอ.โขงเจียม จนถึงอ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ท่วมบ้านเรือน พื้นที่เกษตรริมฝั่ง จะส่งผลกระทบด้านประมงทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน ปิดกั้นการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง และอาจเป็นสาเหตุของการระบาดของเชื้อโรคในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งผลกระทบทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งสองประเทศ

“นอกจากนี้ น้ำจะท่วมรุกล้ำเขตแดนของทั้งประเทศไทยและลาว อาจจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวพรมแดนในแม่น้ำโขงของไทยและลาว ซึ่งถือเป็นผลกระทบด้านความมั่นคง และเกี่ยวข้องกับอธิปไตยของประเทศ” มนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าว

ที่ผ่านมา มีการศึกษาจำนวนมากได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางของเขื่อนที่มีต่อชุมชนและการประมงในแม่น้ำโขง และหลายปีมานี้ เสียงจากคนในลุ่มน้ำโขงที่บอกเล่าความสูญเสียที่มากับเขื่อนขนาดใหญ่ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานข่าวเกี่ยวกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างมากจนผิดสังเกต ชาวบ้านที่พึ่งพาลำน้ำได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่เด่นชัดขึ้นตามลำดับ ระดับน้ำโขงขึ้น-ลงไม่แน่นอน และไม่เป็นไปตามฤดูกาล

การสูญหายของพันธุ์พืชพันธุ์ปลาในลำน้ำโขงและลำน้ำสาขา ซึ่งผลเสียหายเหล่านี้มิได้เกิดเฉพาะพื้นที่ตัวโครงการเท่านั้น เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายใหญ่ มีระบบนิเวศที่ซับซ้อน เชื่อมร้อยชุมชนนับร้อยนับพันในหลายประเทศ ที่ผ่านมา ผลกระทบต่อระบบนิเวศของลุ่มน้ำและผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นสิ่งที่ถูกละเลยและไม่เคยถูกประเมินมาก่อนในตอนเสนอโครงการ และความสูญเสียของมันก็มักไปไกลกว่าที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการ

หลังการปิดกั้นแม่น้ำโขงของเขื่อนม่านวานและเขื่อนต้าเฉาซานในมณฑลยูนนานของจีนตั้งแต่ปี 2539 และ 2546 ชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำเช่นที่ อ.เชียงของ เริ่มสังเกตเห็นการลดลงของจำนวนปลาบึกและปลาอื่นๆ ที่เคยจับได้

ส่วนชาวบ้านใน จ.รัตนคีรี และสตึงเตร็งของกัมพูชา ก็ต้องเผชิญกับหายนะที่มากับเขื่อนยาลี ฟอลล์ ในประเทศเวียดนาม ที่อยู่ไกลจากพวกเขาไปถึง 300 กิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำแห้งหรือน้ำท่วมเฉียบพลัน ข้าว พืชผลทางการเกษตร และการประมงเสียหาย คุณภาพน้ำต่ำลง และนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ และความตาย ซึ่งประชาชนที่ประสบเคราะห์กรรมจากผลกระทบเหล่านี้ อยู่นอกเหนือจากคำจำกัดความ “ผู้ที่ได้รับผลกระทบ” ที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการเช่นกัน
เขื่อนจีนขนาดใหญ่ ที่มีผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมากมาย
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางพันธุ์ปลามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ผู้ผลักดันการสร้างเขื่อนมักอ้างอยู่เสมอว่า ผลกระทบต่าง ๆ สามารถ “บรรเทา” ได้ ทว่า แม้แต่งานวิจัยของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2547 ก็ยืนยันว่า โครงการเขื่อนต่าง ๆ ถือเป็น “การคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อปลาและการประมงในแม่น้ำโขง” และระบุว่า จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยมีตัวอย่างของมาตรการสัมฤทธิผลใด ๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบของเขื่อนที่มีต่อการประมงในภูมิภาคได้เลย

แต่ความล้มเหลวและความสูญเปล่าก็ยังคงทิ้งบาดแผลให้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น การสร้าง “บันไดปลาโจน” เพื่อบรรเทาผลกระทบของเขื่อนปากมูน ที่ได้ผลาญเงินลงทุนและงบโฆษณาไปหลายร้อยล้านบาท แต่กลับต้องถูกทิ้งร้าง ใช้การไม่ได้ ในขณะที่วิถีชีวิตและชุมชนต้องล่มสลาย เศรษฐกิจท้องถิ่นถูกทำลายเพื่อไปสังเวยความต้องการ “เติบโตทางเศรษฐกิจ” ของประเทศที่มาผิดทิศผิดทาง

และในวันนี้มันก็ยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในการเสนอโครงการขนาดใหญ่อีกเช่นเคย แต่ความเสียหายซ้ำซากที่เกิดจากโครงการต่าง ๆ กลับไม่เคยถูกประเมินค่าในทางเศรษฐกิจ สิทธิต่าง ๆ ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และตัดสินใจ มักถูกกีดกันละเลย และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ การแสร้งสร้างภาพให้เห็นว่าประชาชนมีส่วนร่วม แต่แท้จริงเป็นการจัดฉากเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการมากกว่าที่จะให้เห็นข้อเท็จจริงรอบด้าน ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ

มายาภาพของความต้องการไฟฟ้า

การอ้างถึง “ความจำเป็น” และ "ความน่าลงทุน" ของโครงการด้านพลังงาน เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอ้างถึงความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่สูงขึ้นตลอดเวลา ทำให้หน่วยงานผู้ทำหน้าที่จัดหาไฟฟ้าทั้งหลายใช้มันเป็นเครื่องมือในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาลอย่างไม่ลืมหูลืมตา และประเทศไทยยังรับบทเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของภูมิภาค โดยไม่สนใจว่าจะมีไฟฟ้าล้นเกินความต้องการเพียงใด

ที่ผ่านมา การพยากรณ์ด้านความต้องการไฟฟ้าของไทย มีความคลาดเคลื่อนและสูงเกินจริงมาโดยตลอด เช่น ปีที่ผ่านมา พยากรณ์ไว้ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มสูงถึง 6.14% แต่ในความเป็นจริงเพิ่มขึ้นเพียง 3.3%

ในขณะเดียวกัน การวางแผนด้านพลังงานของไทยได้ปิดกั้นพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน และไม่ต้องทุ่มทุนมหาศาล แต่กลับไปปูทางให้โครงการขนาดใหญ่อยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ปี 2007 ที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า ทำไมพลังงานทางเลือกจึงเข้ามาในแผนฯได้เพียง 1,700 เมกะวัตต์ และทำไมการประหยัดพลังงาน หรือการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกลับไม่ถูกพิจารณาเป็นทางเลือก? ทั้ง ๆ ที่มีการศึกษามากมายยืนยันว่า ประเทศไทยมีพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มากพอที่จะมาแทนที่โครงการเขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือแม้กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แต่อาจเป็นเพราะการสร้างภาพว่า ประเทศไทย กระหายพลังงานอยู่ตลอดเวลา ช่วยกรุยทางให้หน่วยงานจัดหาไฟฟ้าทั้งหลายสามารถเข้าไปอยู่ในวังวนผลประโยชน์ของแวดวงอุตสาหกรรมเขื่อน ที่พัวพันกับบรรดานายทุนที่ดินรายใหญ่ นักการเมือง บรรษัทข้ามชาติ บริษัทที่ปรึกษา และบริษัททำอีไอเอ เป็นต้น

แต่สิ่งที่อยู่เราอาจไม่เคยรู้หรือนึกไม่ถึงก็คือ การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มักก่อให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งยังสร้างภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ และท้ายที่สุด ต้นทุนเหล่านั้นจะถูกบวกอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า กลายเป็นภาระที่คนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับในที่สุด

“และหากหันกลับมามองที่เขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าที่พึ่งพิงได้เพียง 20% ของกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,872 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับประมาณ 375 เมกะวัตต์เท่านั้น แล้วการลงทุนโครงการที่มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทนี้จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ กับความเสียหายมหาศาลที่จะเกิดขึ้น” นายมนตรี จันทวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น