ตาก – สภาอุตสาหกรรมตากขอ “สุวิทย์” เข้ามาดูพื้นที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมแม่สอด-เมียวดี หวังช่วยผลักดันแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนที่คารา คาซังมานานให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด หลังพม่าปลุกปั้นเขตอุตฯเมียวดี จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง รองรับทุนจีน หวั่นช้าจนพลาดโอกาส
นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแปรสำคัญหลัก 3 ประการ คือ 1.อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท มีผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้า 2.ราคาน้ำมัน ที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลกระทบต่อราคาสินค้า ภายในประเทศที่จะส่งออกที่ท่าเรือ และ3.ปัญหาการเมือง ที่ยังไม่มีความเสถียร ทั้งก่อนและหลังปฏิวัติ ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ปัจจัยทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ยังคงเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านแม่สอด ที่ยังขาดการสานต่อนโยบาย ในการสร้างพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดนักลงทุน
“เราได้ประสานไปยังนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้เข้ามาดูสภาพความพร้อมของชายแดนแม่สอด ที่พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นพื้นที่ชายแดนภาคอุตสาหกรรม” นายชัยยุทธ กล่าว และว่า
ภาคเอกชนทุกฝ่ายพร้อมที่จะร่วมลงทุน หากรัฐบาลมีความชัดเจนและสานต่อนโยบาย เชื่อว่าหากเอกชน –รัฐบาล –ราชการ ร่วมมือกันในการสร้างพื้นที่อุตสาหกรรมชายแดนแม่สอด นโยบายในกระดาษจะเป็นจริง ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีพร้อมทั้งในเรื่องแรงงาน - พื้นที่ลงทุน ที่จะสอดรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ศูนย์อุตสาหกรรม และศูนย์พาณิชยกรรมเมียวดี ในประเทศพม่าที่มีความคืบหน้าไปอย่างมาก ซึ่งมีนักลงทุนจากฝั่งไทยหลายรายไปซื้ออาคารพาณิชย์ เตรียมทำธุรกิจรองรับความเติบโตของการค้า
“เป็นไปได้ว่าประเทศพม่า พัฒนาพื้นที่ลงทุนรับรับนักลงทุนจีน ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่ไทยเองควรจะต้องเร่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนด้านนี้ให้มีความสอดคล้องกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว อย่างมาก”
นายชัยยุทธ กล่าวอีกว่า พม่าเองก็พร้อมที่จะให้ตัวแทนภาครัฐ-เอกชนไทย เข้าไปดูพื้นที่อุตสาหกรรมเมียวดี ซึ่งคาดว่าหากไม่มีปัญหาอะไร จะมีการตอบรับจากทางท่านรัฐมนตรีฯ ภายในเดือนพฤษภาคม 51 นี้
ประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า วันนี้ปัญหาการใช้แรงงานในพื้นที่ถือว่า ได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดี ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้มีกฎกระทรวงฯ ในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน ในลักษณะเช้าไป-เย็นกลับ และแรงงานตามฤดูกาล ซึ่งกฎกระทรวง ฯทั้ง 2 ข้อนี้ มีผลดีอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรม - ภาคการเกษตร โดยพื้นที่ อ.แม่สอด ,อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวชาวพม่า รวมถึงภาคการเกษตรที่มีพื้นที่เพาะปลูก มีผลผลิตติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ
"หากรัฐบาลมีความชัดเจนและสานต่อ เดินหน้าพัฒนาเขตอุตสาหกรรมชายแดน อ.แม่สอด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเอง หรือให้เอกชนเข้ามาลงทุนเป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีหลายขนาด อาจจะเป็นนิคมขนาดกลางหรือเล็ก ก็จะทำให้แผนพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดตากได้รับการสานต่อให้เป็นรูปธรรมต่อไป"