ตาก– เปิดผลสำรวจพบคนชายแดนแม่สอดกว่า 80% พร้อมหนุนเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “เมืองแม่สอด” ผู้ว่าฯ ยืนยันเดินหน้าเต็มที่ วางแผน 2 ขั้นตอนก่อนเป็นเขตปกครองพิเศษเต็มรูปแบบ เริ่มจากยุบ 3 อปท. เป็นเทศบาลนครแม่สอด ก่อนยกฐานะเป็น “เมืองแม่สอด”
นายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ที่เดินหน้าผลักดันให้มีการรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชายแดนแม่สอดเข้าด้วยกันในรูปแบบเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ “เมืองแม่สอด” เปิดเผยรายละเอียดว่า จากผลการศึกษาวิจัยและสำรวจ ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานปฏิรูประบบราชการ ที่ได้เข้ามาศึกษาสำรวจการตั้งเขต “ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เมืองแม่สอด”
ล่าสุดได้มอบหมายให้นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด นายกเทศมนตรีตำบลท่าสายลวด และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่ปะ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องไปทำประชาคมชาวบ้าน ว่าเห็นด้วยกับการยกฐานะ “ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองแม่สอด” หรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากผลโพลสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ที่จะยกฐานะ ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” เมืองแม่สอด” ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภักกำแพงเพชร ศูนย์อุดมศึกษาแม่สอด พบว่า ประชาชนและข้าราชการส่วนใหญ่ร้อยละ 80 % เห็นด้วยกับการยกฐานะดังกล่าว ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบของ ยกฐานะเป็นเทศบาลนครแม่สอด ก่อนที่จะขยับไปสู่เขตปกครองพิเศษเมืองแม่สอด
นายชุมพร กล่าวอีกว่า ตนได้วางแผนยกฐานะเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “เมืองแม่สอด” ไว้ 2 ขั้นตอน คือ 1.รวบรวม 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เทศบาลเมืองแม่สอด-เทศบาลตำบลท่าสายลวด และ อบต.แม่ปะ ยกฐานะขึ้นเป็น “เทศบาลนครแม่สอด” เนื่องจากมีจำนวนประชากร พื้นที่ และการจัดเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถดำเนินการ ยกฐานะจากเทศบาลเมืองแม่สอด เป็นเทศบาลนครแม่สอด ได้เลย และ 2.เมื่อเป็นเทศบาลนครแม่สอด แล้วก็นำเข้าสู่กระบวนการยกฐานะเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “เมืองแม่สอด”
ด้านนายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด เทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ได้เผยถึงผลการศึกษาและวิจัย คณะรัฐศาสตร์ สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ศูนย์อุดมศึกษาแม่สอด ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วย กับโครงสร้างเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “เมืองแม่สอด” คือนายกเมืองแม่สอด มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีสมาชิกสภาท้องถิ่น 2 สภา คือสภาเมืองแม่สอด และสภาเขต
จากนั้น นายกเมืองแม่สอด แต่งตั้งรองนายกและเลขานุการนายกและที่ปรึกษา ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นนโยบายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในพื้นที่ได้ร่วมกันดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี และมีความคืบหน้าที่จะยกฐานะเป็นเมืองแม่สอด ตามที่ประชาชนต้องการ
สำหรับผลการศึกษา-สำรวจและวิจัย ในลักษณะการทำโพล หรือสอบถามความเห็น ประชาชนในการยกฐานะ เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองแม่สอด ที่สำรวจ แยกเป็น 3 อปท. คือ เขตเทศบาลเมืองแม่สอด เห็นด้วย 91.7 % ไม่เห็นด้วย 8.3 % เขตเทศบาลตำบลท่าสายลวด เห็นด้วย 63.2 % ไม่เห็นด้วย 37. 8 % และ อบต.แม่ปะ เห็นด้วย 87.4 % ไม่เห็นด้วย 19.6 % และผลเฉลี่ยการสำรวจและศึกษาทั้ง 3 อปท. อยู่ที่ เห็นด้วย 80.94 % ไม่เห็นด้วยเพียง 19.06 % เท่านั้น ทำให้ทิศทางการยกฐานะ เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “เมืองแม่สอด” มีความเป็นไปได้สูงตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ คือเทศบาลเมืองแม่สอด จะเร่งดำเนินการต่อไป