xs
xsm
sm
md
lg

ถนนวิทยุ “พัง” !

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

วันนี้ยังเป็น “วันหยุด” ของภาครัฐและภาคราชการ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปิดยาวมาตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ “ภาคเอกชน” บางแห่งได้เปิดเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะธนาคารเปิดทำการแล้ว เพื่อมิให้สภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจหยุดชะงักงัน!

แต่น่าเชื่อว่า ยังมีประชาชนจำนวนมากฉวยโอกาสหยุดต่ออีก 2 วัน โดยต่อไปจนถึงสุดสัปดาห์นี้ เรียกว่า “หยุดยาว 9 วัน” กันเลยทีเดียวมีเสาร์อาทิตย์ปิดหัวปิดท้าย และวันจันทร์ที่ 21 เมษายนนี้ ทุกอย่างก็จะเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร “รถราติด!” เหมือนเดิม

“แสงแดด” ไม่อยากจะเริ่มบ่นหรือต่อว่าต่อขานองค์กรใดๆ ทั้งสิ้นในช่วงที่ยังอบอวลไปด้วยเทศกาลสงกรานต์ แต่เมื่อมานึกถึงสภาพท้องถนนในกรุงเทพมหานครช่วงนับแต่นี้เป็นต้นไป จึงรู้สึกกังวลถึง “สภาพถนน” ที่เป็นปัญหาอยู่มากโดยทั่วไป

ปัญหาการก่อสร้างถนนหนทางทั้ง “ขุด-เจาะ” จนผิวถนนของกรุงเทพฯ ปัจจุบันแทบจะเรียกขานว่า “ใช้ไม่ได้!” เนื่องด้วยท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณ “ใจกลาง” เมืองหลวง โดยเฉพาะ “ถนนวิทยุ” และ “ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ย่านประตูน้ำ” ที่รถราวิ่งเร็วไม่ได้เลย

“การขุดเจาะ” จะด้วยการฝังท่อหรือเดินสายเคเบิ้ล เพื่อประโยชน์ทางสาธารณูปการสาธารณูปโภคนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ดี และก็เป็นกรณีปกติธรรมดาของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ทั่วไป ที่มีความจำเป็นต้องขยายและเพิ่มปริมาณทั้งงานการประปา กับสายไฟฟ้า หรือสายโทรศัพท์

ปัจจุบัน “ถนนหาทาง” ในบริเวณใจกลางกรุงเทพมหานครต้องบอกว่า “ดูไม่ได้” และไม่สำคัญเท่ากับว่า “รถวิ่งไม่ได้” เพราะมีการปิดกั้นถนน แต่เลวร้ายไปมากกว่านั้นคือ การปิดผิวถนนด้วยแผ่นเหล็กยาวขนาดใหญ่เกือบสิบแผ่น เพราะถนนที่ถูกเจาะลงไปนั้นมีบริเวณยาวอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4-5 เมตร และลึกน่าจะประมาณ 4-5 เมตรเช่นเดียวกัน

คำถามสำคัญที่ผู้คนโดยทั่วไปต่างฉงนสงสัยว่า “การขุดเจาะ” ท้องถนนนั้น “ฝัง” อะไรลงไปในนั้น ไม่ได้มีการอธิบายหรือติดป้ายบอกแต่ประการใด หรืออาจจะมีการติดป้ายบอก แต่พอวันเวลาผ่านไป ป้ายไม่ล้มก็มีการอันตรธานหายไป

ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดคือ การก่อสร้างที่ใช้เวลานานแรมปีกันเลยทีเดียว จนไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ก็เลยเกิดคำถามต่อว่า “ขุด-ฝัง อะไรกันวะนานเป็นปี!” เรียกว่า ทำเอาผู้ใช้ถนนหนทางต่างเอือมระอากับ “ขุดมาราธอน!”

การใช้แผ่นเหล็กปิดไว้อย่างไม่เรียบร้อย แบบหยาบๆ จนรถราวิ่งเร็วไม่ได้ เนื่องด้วยเกรงว่าจะกระแทกกับใต้ท้องรถ และหลายๆ คนก็กระแทกกันไปเรียบร้อย นอกเหนือจากการที่รถต้องชะลอการวิ่งให้ช้าลง ก่อให้เกิดปัญหารถติดในช่วงเร่งด่วน

“ถนนวิทยุ” ปัจจุบันเป็นถนนที่ “อัปลักษณ์” มากที่สุด เพราะผิวถนนเต็มไปด้วยแผ่นเหล็กปิดผิวถนนเกือบตลอดเส้นทาง รถรากระแทกกับแผ่นเหล็กเกือบตลอดเส้นทาง เนื่องด้วยผู้รับเหมาไม่ได้ปิดอย่างระมัดระวัง พูดง่ายๆ คือ ปิดกันแบบขอไปที หยาบๆ จนผู้ใช้รถใช้ถนนส่ายหน้ากันเป็นแถวๆ

เท่านั้นยังไม่พอ บริเวณเกาะกลางถนนและฟุตปาธ ก็ได้มีการรื้อปรับปรุงเพื่อให้ดูสวยงาม ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเพื่อใช้งบประมาณให้หมด และเพื่อความสวยงามเป็นระเบียบ เพราะเกาะกลางถนนและฟุตปาธต่างชำรุดทรุดโทรม เพียงแต่ผู้รับเหมาไม่ค่อยรับผิดชอบ เอาแท่งคอนกรีต และเศษวัสดุก่อสร้างพร้อมป้ายวางเกะกะการสัญจรอย่างมาก เรียกว่า “มักง่าย!” โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมาคือ “รถติด!”

ขอย้ำอีกครั้งว่า การปรับปรุงเกาะกลางถนนและฟุตปาธนั้นพอเข้าใจได้ และคาดว่าอีกประมาณ 2-3 เดือนคงแล้วเสร็จ แต่ “ผิวถนน” นั้นแทบไม่ต้องกล่าวถึงว่า “แผ่นเหล็ก” ที่วางไว้ชั่วคราวนั้น มีทั้งกระดกไม่เรียบและปิดไว้อย่างมักง่ายดูน่าเกลียด ขับรถยากต้องชะลอตลอด

อย่าลืมว่า “ถนนวิทยุ” เคยเป็นถนนที่เป็นหน้าตาของกรุงเทพฯ ที่มีต้นไม้ครึ้มร่มเย็นตลอดเวลา เพราะมีสถานเอกอัครราชทูตเรียงรายสองข้างทาง หรือแม้กระทั่งถนนเพชรบุรี แถวๆ ประตูน้ำก่อนเข้าถนนชิดลมก็เช่นเดียวกัน “อัปลักษณ์” ด้วย “แผ่นเหล็กมักง่าย” หรือตรงปากทางเข้าซอยร่วมฤดี กับสี่แยกพระราม 4 กับถนนสาธร

ชาวกรุงเทพฯ ไม่มีใครทราบเลยว่า “หน่วยงาน” ใดรับผิดชอบกับโครงการการก่อสร้างถนนหนทางเหล่านี้ จะไปต่อว่าบริษัทโทรศัพท์ฯ หรือ “การไฟฟ้าฯ” หรือ “การประปา” ก็ไม่มีใครแน่ใจ

หรือว่าหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบตรงๆ คือ “กรุงเทพมหานคร” ที่ต้องตรวจสอบและร่วมรับผิดชอบกับปัญหาการขุดเจาะและกลบอย่างมักง่ายเช่นนี้ ทั้งนี้มิใช่ว่าเพิ่งจะเริ่มก่อสร้างแต่คาราคาซังอัปลักษณ์เช่นนี้แรมปีแล้ว!

ถนนวิทยุไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อนเลย ถนนบริเวณใกล้เคียงโดนหมดเป็นหลุมเป็นบ่อเต็มไปด้วยแผ่นเหล็กตลอดถนนวิทยุทั้งสายเลยไปจนถึงถนนเพชรบุรี และถนนสารสิน

“ฝัง” อะไรกันหนักหนา ถึงได้ดำเนินการยาวนานเพียงนี้ หรือว่าฝังสายเคเบิ้ลระบบโทรคมนาคมเพื่อ “การลับ!” บางประการบริเวณสถานทูตแถวนั้น

ปัญหาสำคัญคือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง “มักง่าย” ด้วยการวางแผ่นเหล็กแบบชุ่ยๆ พร้อมทั้งวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องมือ ท่อวางระเกะระกะไม่ได้คำนึงถึงผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนกับประชาชนที่เดินฟุตปาธ

แต่ที่แย่มากที่สุดคือ “หน่วยงานภาคราชการ” และ “ภาครัฐวิสาหกิจ” ไม่ได้ลงมาคอยกำกับดูแลให้ผู้รับเหมาไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป หรือว่า “รับเหมา” ทุกอย่างจนไม่มีความจำเป็นต้องคอยตรวจสอบ ประชาชนเดือดร้อนก็ธุระไม่ใช่!

จริงๆ แล้ว จะไปตำหนิองค์กรใด หรือ “กรุงเทพมหานคร” ก็ไม่รู้ว่าจะไปไล่บี้กับใครได้ เนื่องด้วย ก่อสร้างมานานแรมปี และก็ต้องจำนนกับความมักง่ายของผู้รับเหมา

“แสงแดด” ว่าดีที่สุด น่าจะต้องให้ “ผู้บริหาร” กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ตรวจสอบการก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็วและเอาผิดกับ “ความมักง่าย” ของผู้รับเหมา

สื่อมวลชนทางด้านโทรทัศน์ น่าจะต้องทำสกู๊ปข่าว “ฟ้องด้วยภาพ” เพื่อกระตุ้น “ต่อมความรับผิดชอบ” ของผู้รับเหมาให้ดำเนินการเป็นไปตามสัญญาและเงื่อนไขเวลา

ยกตัวอย่าง การก่อสร้างปรับปรุงเกาะกลางถนนและฟุตปาธถนนวิทยุของกรุงเทพมหานคร ที่ตามป้ายปิดประกาศไว้ว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม แต่ปัจจุบันยังเลอะเทอะเปรอะเปื้อน วัสดุก่อสร้างระเกะระกะ จนถนนถูกบีบให้แคบลง รถราติดวินาศสันตะโร ส่วนผู้คนเดินถนนไม่สามารถใช้ฟุตปาธได้

สังคมยุคใหม่เป็น “สังคมภาคประชาชน” ที่มีสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ การดำเนินการภาครัฐทุกอย่างได้ อย่าลืมนะว่า “สังคมตรวจสอบ” ของ “การเมืองภาคประชาชน” นับวันจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

“ดีไม่ดี!” วันดีคืนดี เกิดมีการรวบรวมรายชื่อและรวมตัวกันของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน “หมดความอดทน” กับถนนสำคัญๆ ใจกลางเมืองอย่าง “ถนนวิทยุ” ที่ขอตอกย้ำว่าทุกวันนี้ “ขับรถยาก” และ “อัปลักษณ์” ที่สุด

ทั้งๆ ที่มีสถานทูตสหรัฐอเมริกา โรงแรมระดับห้าดาว ศูนย์การค้าดังๆ หลายแห่ง และที่สำคัญมีชาวต่างชาติพักอาศัยอยู่บริเวณถนนวิทยุมาก ต้องใช้เส้นทางนี้ตลอดเวลา ต่างบ่นเอือมระอากับการสัญจรไปมาที่เป็นเช่นนี้นานนับปีแล้ว

คงต้องขอฝากกับ “กรุงเทพมหานคร” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเข้ามาดำเนินการตรวจสอบว่า การก่อสร้างเมื่อไหร่จะแล้วเสร็จ และจะจัดการปรับปรุงผิวจราจรให้กลับไปสวยงามเรียบร้อย เชิดหน้าชูตา “ถนนวิทยุ” ที่เคยสวยงามเป็น “อเวนิว (Avenue)” ดังที่เคยเป็นในอดีต!
กำลังโหลดความคิดเห็น