ตะลึง! กระทรวงหมอปราบหนู วางกับดักล่อจับ คาด มีกว่าหมื่นตัว ชี้ หนูตัวร้ายกัดแทะสายคอมพิวเตอร์ สายไฟ จนลิฟต์ค้าง หวั่นหน้าฝน กลายเป็นแหล่งรังโรค แพร่เชื้อโรคฉี่หนู แฉ แม่ค้ามักง่ายทิ้งเศษอาหารลงท่อกลายเป็นภัตตาคารหนู รพ.หลายแห่ง เริ่มโวย หนูดอดกัดเฝือกคนไข้ สัตวแพทย์ ชี้ ประชากรหนูล้นเหตุจากโลกร้อน แผ่นดินทรุดต่ำ หนูอพยพ เผยในจีนเริ่มเป็นปัญหาใหญ่ หนูนับล้านเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปหาแหล่งอาหารหลังน้ำท่วม
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการควบคุมสัตว์แหล่งรังโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประสบปัญหาจำนวนประชากรหนูที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยนอกจากจะก่อปัญหาในแง่ของการแพร่เชื้อโรคแล้ว หนูยังออกมาสร้างความวุ่นวาย และก่อความรำคาญเป็นอย่างมาก โดยหนูเหล่านี้ได้กัดสายไฟ สายคอมพิวเตอร์ กัดแทะเอกสาร สิ่งของต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้จนถึงช่วงที่เกิดอุทกภัยในหน้าฝน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้น เช่น โรคระบาด จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการกำจัดหนูอย่างเป็นรูปธรรม
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำสั่งการควบคุมสัตว์แหล่งรังโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้อนุมัติให้สำนักโรคติดต่อทั่วไป จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนก่อนการเกิดอุทกภัยปี 2551 โดยเน้นการกำจัดแหล่งรังโรค โดยเฉพาะหนู ในกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานรอบๆ กระทรวง เช่น สำนักงาน ก.พ.สำนักงานประกันสังคม ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันทันตกรรม รพ.บำราศนราดูร ตลาดสด โรงฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีหนูอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานต่างๆ นำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมป้องกันแหล่งรังโรคที่จะเกิดก่อนเกิดอุทกภัย
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า จะเริ่มดำเนินการกำจัดหนูในช่วงหลังสงกรานต์ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อตัดวงจรของการแพร่โรค และจะให้มีการขยายผลโดยนำรูปแบบการกำจัดหนูไปใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศด้วย ซึ่งในอนาคตนอกจากการกำจัดหนูแล้ว อาจมีการขยายผลไปถึงการกำจัดแมลงสาบ ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งด้วย
“สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะประชากรหนูล้นโลก ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น สภาพอากาศที่รุนแรง แผ่นดินทรุดต่ำ ภาวะน้ำท่วม น้ำทะเลหนุนและการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น สัตว์อพยพไร้ที่อยู่ การเคลื่อนย้ายของประชากรหนู ผลที่ตามมาคือการเจ็บป่วยและการตายของโรคที่มากับน้ำท่วมโดยเฉพาะโรคเลปโตสไปโรซีส เป็นต้น” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุที่จำเป็นต้องกำจัดหนูก่อน เพราะหนูเป็นสัตว์ที่นำโรคร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง เช่น กาฬโรค ซึ่งปัจจุบันแม้จะไม่มีในประเทศไทย แต่ก็ยังพบผู้ป่วยโรคนี้ประปรายในประเทศอินเดีย ในประเทศไทยที่เป็นปัญหามาก ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซีส ซึ่งหนูติดเชื้อโรค แต่ไม่ตาย และสามารถแพร่เชื้อโรคให้กับคนได้ ตั้งแต่เกษตรกร ถึงคนเมืองโดยเฉพาะในภาวะน้ำท่วมที่ประชาชนต้องลุยน้ำท่วมขัง อย่างเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมที่อ.หาดใหญ่ในอดีต ประชาชนติดโรคกันมาก เพราะมีสภาพเป็นตลาด หนูจึงออกมาแพร่เชื้อ มีทั้งอุจจาระร่วง เลปโตสไปโรซีส ฯลฯ
“เฉพาะใน สธ.คาดว่า น่าจะมีประชากรหนูมากกว่า 1 หมื่นตัว ขนาดที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป แค่ 2 ชั้นของตึก ดักจับหนูเพียง 1-2 วัน ได้หนูถึงเกือบ 50 ตัว ซึ่งถ้าดักจับทุกตึก ทุกกรม และหน่วยงานรอบๆ กระทรวง คาดว่า จะได้หนูมากกว่าหมื่นตัวแน่นอน ขนาดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนหน้านี้ กรมอนามัย กรมควบคุมโรคไปช่วยดักจับหนู ยังได้หนูถึง 3 หมื่นตัว”นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนูมีปริมาณมากจนน่าตกใจ มาจากการทิ้งเศษอาหารโดยไม่มีการเก็บให้มิดชิด หนูจึงออกมาคุ้ยเขี่ย ร้านอาหารในหน่วยงาน ทิ้งเศษอาหารลงท่อ กลายเป็นแหล่งอาหารที่ดี เหมือนกับเป็นภัตตาคารของหนู ทำให้หนูแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น กลายเป็นแหล่งรังโรคที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่เกิดจากหนูที่นอกจากการแพร่เชื้อโรคแล้ว ล่าสุด หนูได้ออกมากัดสายไฟจนลิฟต์หลายตัวขัดข้อง ลิฟต์ค้างบ่อย เป็นอันตรายมาก
น.สพ.พลายยงค์ สักการะเศรณี นายสัตวแพทย์ 9 สำนักโรคติดต่อทั่วไปในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการควบคุมสัตว์แหล่งรังโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หนูเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์เร็วมาก ตั้งท้องแค่ 14 วันก็คลอดออกมา คลอกหนึ่งๆ นับสิบตัว และอีกไม่นานก็ตั้งท้องใหม่ ปีหนึ่งๆ หนูสามารถตั้งท้องได้หลายครั้ง จึงแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว อย่างในประเทศจีน มีรายงานว่า มีการอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรหนูกันอย่างมโหฬารโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดอุทกภัยในจีน การเคลื่อนย้ายของหนูไปกันเป็นกองทัพนับล้านๆ ตัว และสร้างปัญหาอย่างมาก ซึ่งปัญหาที่จะตามมาอีกอย่างหนึ่งหลังจากมีแหล่งรังหนู คือ งูจะออกมามาก โดยเฉพาะงูเหลือม งูหลาม ที่กินหนูเป็นอาหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาหนูก่อความรำคาญใน สธ.เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยหนูได้ออกหากินตามห้องทำงาน แม้แต่ในห้องผู้สื่อข่าว หนูก็ออกมาหากินอย่างไม่กลัวคน ทำให้บริเวณพุ่มไม้ข้างๆ ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ใกล้ๆ กับที่จอดรถของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข พบมีงูเหลือมขนาดใหญ่ โดยคาดว่า มานอนขดรอกินหนู นอกจากนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีการขายอาหารบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล และพ่อค้าแม่ค้า ชอบทิ้งเศษอาหาร หรือเทน้ำซุปที่เหลือจากหม้อก๋วยเตี๋ยวลงท่อ ทำให้เกิดปัญหาหนูมีจำนวนมาก และขึ้นไปก่อความรำคาญ กัดสายไฟ ข้าวของ จนถึงกัดแทะเฝือกหรือข้าวของของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องหาวิธีกำจัดอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ สำหรับการกำจัดหนู จะใช้กรงขนาดใหญ่ วางดักตามจุดต่างๆ ใช้อาหารล่อเพื่อให้หนูติดเข้าไปในกรง จากนั้นจะนำไปทำลายตามหลักสุขาภิบาลและการควบคุมโรคต่อไป