xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศล้างบางหนูกระทรวงหมอ 21-25 เม.ย.นี้ ควักงบกำจัดกรมละแสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยา” มั่นใจ สธ.หนูไม่ชุมถึงหมื่นตัว ห่วงหนูตลาดสดมากกว่า บุกห้องสื่อ เจอขี้หนูถึงกับอึ้ง กำหนดล้างบางหนู “บิ๊ก คลีนนิงเดย์” 21-25 เมษายนนี้ สั่งการหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศทั้ง สถานีอนามัย โรงพยาบาล ทำความสะอาด ไล่ทั้งหนู แมลงวัน แมลงสาบ และยุง ด้านกรมควบคุมโรคเตือนระวังหนูพาหะ 5 โรค เตรียมตั้งงบกรมละแสนจัดการปัญหา พร้อมรณรงค์พ่อค่าแม่ตามตลาดอย่าทิ้งเศษอาหารลงท่อ

วันนี้ (20 มี.ค.) ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำปี 2551 ว่า ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการนำร่องการกำจัดแหล่งรังโรคต่างๆ โดยเฉพาะหนู เนื่องจากใกล้เข้าสู่หน้าฝน ซึ่งจะมีโรคระบาดตามมากับน้ำฝนหลายโรค สธ.จึงต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาดมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะจะต้องทำเป็นประจำทุกปีก่อนที่จะเข้าหน้าฝน ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่า จับหนูได้ 40-50 ตัว ใน 2 วัน โดยทั่วไปแล้วหนูเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปและทั่วโลก ที่ใดมีเศษอาหาร เศษขยะ ก็จะพบหนูได้ ไม่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข

“เชื่อว่า ไม่น่าจะมีหนูมากถึงหมื่นตัว เพราะที่ผ่านมาได้วางกรง และเหยื่อดักหนูตลอด แต่ในฐานะที่กระทรวง เป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุข ข่าวที่เกิดขึ้นคงไม่ทำให้เกิดภาพลบ แต่ประชาชนควรจะมองในทางกลับกันมากกว่า ควรจะดีใจที่ สธ.ตื่นตัวเฝ้าระวังปัญหา และเตรียมการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งเข้าใจว่า หนูมีอยู่ทั่วไปทุกที่ แม้แต่ในกรุงเทพฯ เองก็มีจำนวนมาก ผมเป็นห่วงหนูตามตลาดสดมากกว่า ซึ่งตลาดสดในกรุงเทพฯ ก็มีหนูเหมือนกัน แต่มี กทม.ดูแลอยู่แล้ว” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวว่า ธรรมชาติของหนูมักจะหนีน้ำขึ้นที่สูง หรือบนบก หากไม่เร่งดำเนินการดักจับหนูก่อนเข้าหน้าฝนอาจทำให้มีปัญหาโรคระบาดตามมาอีกได้ ซึ่งกรมอนามัย และกรมควบคุมโรค มีวิธีและเทคนิคในการดักจับหนูซึ่งจัดทำเป็นกรณีศึกษา ที่ต่อไปการกำจัดหนูที่ได้ผลและถูกวิธีจะต้องทำอย่างไร ทั้งการดักจับ การใช้เหยื่อล่อ รวมถึงการทำลายซากที่ถูกสุขลักษณะ ทั้งนี้ ประชาชนก็ควรจะตื่นตัวและแก้ปัญหาเรื่องหนูชุกชุมด้วย

นายไชยา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี ในวันนี้ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่สถานีอนามัย โรงพยาบาล และหน่วยงานระดับกรมต่างๆ รวมกว่า 10,000 แห่ง ดูแลรักษาความสะอาดสำนักงานไม่ให้เป็นแหล่งรังโรค ต้องเป็นตัวอย่างหน่วยงานอื่นและประชาชนทั่วไปในเรื่องความสะอาด ไม่มีหนู แมลงวัน แมลงสาบ และยุง เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงสุขภาพ รวมทั้งเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากสัตว์ดังกล่าวเป็นพาหะนำโรคหรือแพร่กระจายเชื้อ เช่น หนูเป็นตัวก่อโรคเลปโตสไปโรซีสหรือโรคฉี่หนู แมลงวันเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อโรคอุจจาระร่วง ได้มอบให้นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมการจัดระบบกำจัดหนูต่อไป

** “ไชยา” บุกห้องสื่อ พบร่องรอยเพียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไชยา ได้หันมาสอบถามกับสื่อมวลชนประจำกระทรวงสาธารณสุขว่า เคยเจอหนูที่ สธ.หรือไม่ ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ตอบว่า ที่ห้องนักข่าวประจำ สธ.เจอปัญหาหนูเป็นประจำ นายไชยา จึงบอกว่า ทำไมไม่มาบอกผมก่อนที่จะเขียนเป็นข่าว ผมจะได้เร่งแก้ปัญหา แต่ก็ดี ประชาชนจะได้ตื่นตัวในเรื่องดี

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ทันทีที่ นายไชยา เดินทางกลับมาถึง สธ.ได้เข้ามาตรวจสอบที่ห้องนักข่าวประจำ สธ. ซึ่งก็พบว่ามีร่องรอยของหนู เช่น ขี้หนู รองฟันแทะสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เสียหาย พร้อมกล่าวว่า แบบนี้ก็น่าจะมีหนูอยู่จริง เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า หน่วยงานอื่นจะมีหนูอย่างกระทรวงสาธารณสุข บ้างหรือไม่ นายไชยา กล่าวติดตลกว่า กระทรวงกลาโหมน่าจะมีหนูเยอะ

ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนายการควบคุมสัตว์แหล่งรังโรคติดต่อ สธ. กล่าวว่า สธ.มีการกำจัดหนูเป็นประจำอยู่แล้ว โดยจะวางเหยื่อดักจับเป็นระยะๆ อยู่แล้ว แต่การทำลายหนูครั้งนี้ กรมควบคุมโรคเป็นผู้เสนอโครงการโดยให้รณรงค์กำจัดหนูพร้อมกันทั้งกระทรวง เพื่อการป้องกันโรคระบาดจากสัตว์ โดยมีกรมอนามัยเป็นผู้ดำเนินการดักจับหนู ซึ่งจะกำหนดวันรณรงค์กำจัดหนูพร้อมกันทั้งกระทรวง หรือ บิ๊ก คลีนนิงเดย์ ระหว่างวันที่ 21-25 เมษายนนี้

“หากมีการดักจับหนูทั้งกระทรวงจริง ก็คงจะได้แค่หลักร้อย หรือหลักพันตัวเท่านั้น ไม่น่าจะถึงหมื่นตัว ซึ่งหนูที่ดักจับได้ไปก่อนหน้านี้ 50 ตัว ไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะหนูมีอยู่ได้ทุกที่อยู่แล้ว ซึ่งหน่วยงานของ สธ.ย้ายมาอยู่ที่ จ.นนทบุรี เกิน 10 ปีแล้ว ก็ย่อมจะมีหนูเป็นธรรมดา ยืนยันว่าทีหนูที่ สธ.ไม่ได้มีมากกว่าที่กระทรวงอื่นอย่างแน่นอน อยากให้มองเป็นเรื่องดีมากกว่า หากมีหนูแต่ สธ.ไม่ยอมแก้ปัญหาจะยิ่งแย่ไปกว่านี้อีก” รองปลัด สธ.กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการกำจัดหนูในครั้งนี้ สธ.ตั้งใจจะทำเป็นการภายในเท่านั้น โดยแผนการดำเนินงาน ด้านการเตรียมความพร้อมในการควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนในภาวะเกิดอุทกภัย ปี 2551 นั้น ได้วางเป้าหมายนอกเหนือจาก
หน่วยงานใน สธ.แล้ว ยังจะจัดกิจกรรมการรณรงค์กำจัดแหล่งรังโรคในตลาด โรงฆ่าสัตว์ และครัวเรือนในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดอุทกภัย จำนวน 48 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยส่วนหน่วยงานราชการ เอกชน หรือกระทรวงอื่นๆ ประสบ
ปัญหาหนูระบาดและต้องการกำจัดหนู สามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังกรมควบคุมโรค หรือกรมอนามัยได้ทันที ซึ่ง สธ.ยินดีให้ความช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการอื่นๆ ติดต่อขอความช่วยเหลือให้ สธ.ช่วยกำจัดหนูให้เหมือนกัน ส่วนปัญหางู ก็เป็นเรื่องปกติ งูมักชอบอาศัยในที่ชื่น แฉะ ซึ่งอาคารของ สธ.ก็มีโพรงใต้ดินทำให้งูเข้าไปอาศัยได้

** เตรียมตั้งงบกรมละแสนขจัดปัญหา

ในวันเดียวกันที่กรมอนามัย มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการควบคุมสัตว์แหล่งรังโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุขเป็นครั้งแรกโดยมีนพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธานในการประชุม แทนนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้แทนผู้บริหารจากทุกกรม กอง รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพบเรือน (ก.พ.) ผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการ และอำนวยการสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สธ.ดำเนินการในเรื่องการกำจัดแหล่งรังโรคใน สธ.อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานการรณรงค์ควบคุมสัตว์แหล่งรังโรคติดต่อใน
กระทรวงทำหน้าที่จัดทำแผนการรณรงค์กำจัดแหล่งรังโรคของ สธ.และติดตามการประเมินผลการดำเนินการหลังการรณรงค์ กำจัดแหล่งรังโรคในสธ.เพื่อให้เป็นตัวอย่างกับการรณรงค์ในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในครัวเรือน ตลาด และโรงฆ่าสัตว์ เป็นการป้องกันโรค เลปโตสไปโรซิส หรือฉี่หนูอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังการประชุม นายสุรพล แสงรัตนชัย นักวิชาการสาธารณสุข 8 ว กองสุขาภิบาลชุมชน และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้นำสื่อมวลชนไปดูบริเวณด้านหลังกรมควบคุมโรค ใต้ต้นปาล์มซึ่งคาดว่าเป็นรังหนูและเป็นอาหาร โดยพบร่องรอยการกัดแทะลูกปาล์มเป็นรู

นายสุรพล กล่าวต่อว่า ในการประชุมหารือร่วมกันวันนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปการดำเนินการหาวิธีในการกำจัดหนู ว่า ในระหว่างวันที่ 21-25 เม.ย.จะเป็นสัปดาห์ในการรณรงค์กำจัดหนูภายในสธ.โดยจะเริ่มจากพื้นที่ภายในสำนักงานอาคารก่อน ที่จะจัดการภายนอกอาคารภายใต้พื้นที่สธ.ขณะเดียวกัน มีมติให้แต่ละหน่วยงานตั้งงบประมาณกรมละ 1 แสนบาท เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการกำจัดหนูในพื้นที่ ให้ลดลงหรือไม่มีเลย

“ตามเกณฑ์ความชุกของสัตว์รังโรคอย่างหนูใน 250 ตารางเมตรต่อ 1 ตัว แต่ขณะนี้สถานการณ์ของ สธ.มี จำนวนมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ 250 ตารางเมตรต่อ 5 ตัว จึงเกินมาตรฐาน 4-5เท่า ดังนั้น ต้องลองคำนวณดูว่า ขณะนี้เฉพาะพื้นที่ของสธ.มีประมาณ 500 ไร่ ไม่รวมพื้นที่เดียวกันแต่อยู่นอกรั้วกระทรวง อาทิ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รพ.ศรีธัญญา ฯลฯ ซึ่งเนื้อที่โดยรวมทั้งสิ้น 1 พันไร่ จะมีหนูอยู่เท่าไหร่ ดังนั้น จากการประมาณการณ์สธ.จึงน่าจะมีประชากรหนูประมาณ 5,000-10,000 ตัว เพราะช่วงที่เพิ่งย้ายสธ.มาใหม่ๆ มีการการจ้างบริษัทมาจับหนู ซึ่งจับได้มากถึง 3,000 ตัว แต่ที่ผ่านมาเคยดำเนินการดักจับหนูเป็นหน้าที่ แต่ละกรมโดยว่าจ้างบริษัทเอกชนเป็นครั้งคราวไป แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากมีพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงได้มารวมกันบริหารจัดการ ทั้งนี้รวม ถึงหน่วยงานภายนอกอื่นๆที่ไปใช้บริการบริษัทเอกชนกำจัดแล้วไม่ได้ผล ก็มาขอคำแนะนำจากสธ.ทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตลาด รวมถึงอาคารสูงหลายแห่ง ใน กทม.ที่มีหนูอาศัยอยู่ก็มาขอคำแนะนำเช่นกัน” นายสุรพล กล่าว

นายสุรพล กล่าวอีกว่า มาตรการในการกำจัดหนูในช่วงสัปดาห์รณรงค์นั้นจะดำเนินการโดย อย่างแรกต้องลดปริมาณหนูในพื้นที่ด้วย ตามมาด้วยการป้องกันไม่ให้หนูภายนอกเข้ามาเพิ่มจำนวน และการเฝ้าระวังดูแลรักษาระบบป้องกันหนูให้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการกำจัดหนูนั้นจะเน้นการตั้งกรงกับดัก หลังจากนั้นจะนำหนูไปใส่ในถังน้ำที่ผสมกับสารคลอรีนหรือน้ำยาฟอกขาว เพื่อให้หนูตายและเป็นการฆ่าเชื้อโรคฉี่หนู เห็บ หมัด ไร ฯลฯ ให้ตายพร้อมกันด้วย หลังจากนำซากหนูใส่ถุงพลาสติกแดง ซึ่งจัดเป็นขยะอันตรายที่ต้องกำจัดโดยการเผาเท่านั้น รวมทั้งการกำจัดหนูในบ้านเรือนก็ควรดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

“ขั้นตอนต่อไปที่ป้องกันไม่ให้หนูเข้ามาในพื้นที่จะดำเนินการโดยใช้ยาเบื่อพิษวางรอบนอกอาคารเพราะหนูจะกลับไปตายที่รัง จะได้ไม่รบกวนภายในอาคาร อีกทั้งต้องจัดสถานที่ทำงานไม่ให้มีช่องหรือรูซอกให้หนูเข้าไป รวมถึงโรงอาหารต้องจัดเก็บเศษขยะให้เรียบร้อย ในส่วนของบ้านเรือน หัวใจรอบข้าง คือ หากสภาพแวดล้อมบ้านมีหนูชุกชุมก็ต้องจัดบ้านเรือนให้เป็นระเบียบไม่รกรุกรัง ไม่มีเศษอาหารตกค้าง รวมถึงอาหารศาลพระภูมิ และของสัตว์เลี้ยงต้องเก็บให้เป็นมิดชิด และที่สำคัญหากบ้านใดย้ายสิ่งของบ่อยๆ ภายใน 1 สัปดาห์จะเห็นผลว่าปริมาณหนูจะลดลง เนื่องจากหนูจะไม่ทำรัง ส่วนที่หนูบนฝ้าเพดาน ควรปิดช่องทางการเข้าของหนู เช่น ตัดต้นไม้ข้างบ้าน ปิดท่อระบายน้ำ ฯลฯ ทั้งนี้ เครื่องปล่อยกระแสไฟฟ้าแม่เหล็กเพื่อรบกวนหนูนั้นไม่ได้ผล เนื่องจากเครื่องดังกล่าวสามารถเหนี่ยวนำกระแสแม่เหล็กมา สู่อุปกรณ์ไฟฟ้าในรัศมีไม่มากนัก เช่นสายไฟฟ้าธรรมดาอาจส่งคลื่นรบกวนหนูได้ไม่เกิน 5 นิ้ว แต่ถ้าเป็นเครื่องปรับอากาศขนาด ใหญ่จะส่งได้ไกลรัศมีจากสายไฟได้ไม่เกิน 1 ฟุต แต่เทียบกับสมุนไพรถือว่าได้ผลดีกว่า แต่ทั้ง 2 อย่างนั้น ก็ไม่ได้ทำให้หนูตายหรือลดปริมาณลง มันก็ยังคงกัดแทะ กินอาหารเหมือนเดิม” นายสุรพล กล่าว

ในส่วนการวางกาวกับดักหนูนั้น ควรวางไว้ครั้งละมากๆ จะให้ดีต้องวาง 30 ตารางเมตรต่อ 1 กับดัก และต้องวางอย่างรวดเร็ว เพราะหากวางซ้ำกันเกิน 5 วัน หนูจะรู้ทัน ไม่ติดกับดัก ทั้งนี้อย่าเชื่อว่าในบ้าน 1 หลังจะมีหนูเพียง 1 ครอบครัวเท่านั้น เพราะความเป็นจริงบ้านหลังเดียวแต่มีหนูหลายครอบครัวมาก จึงต้องวางกับดักพร้อมกันทีหลายๆ แห่ง” นายสุรพล กล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่สำคัญกว่า คือการรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกของประชาชนในการปฎิบัติตามหลักสุขอนามัย เช่น การแยกขยะเปียกขยะแห้ง ใส่ขยะใส่ถุงให้มิดชิด ในส่วนของตลาดทางสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมฯต้องลงไปให้คำแนะนำ ให้มีการปรับปรุงความสะอาดให้ได้มาตรฐาน ตามเกณฑ์ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย เพราะหากประชาชนไม่ช่วย ก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้

** อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้ หนูพาหะนำโรคกว่า 5 โรค

ด้าน นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบุคมโรค กล่าวว่า การจัดการต้องเริ่มจากการกำจัดหนูก่อนเพื่อลดจำนวนรังโรคลง ซึ่งที่ผ่านมาสธ.ได้ว่าจ้างบริษัทมากำจัดและติดตั้งกรงดักหนู เดือนละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะที่อาคารสำนักงานปลัด สธ.และศูนย์กีฬา สธ.แต่เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ทำให้ไม่สามารถวางกรงได้ทุกตึก เป็นเหตุให้หนูที่ถูกดักจากแหล่งหนึ่งจะย้ายไปอีกแหล่งหนึ่ง ทำให้ยิ่งจับได้ยาก แต่ถ้าทำพร้อมกันทั้งสธ.จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากนี้จึงจะเน้นการตั้งวางกรงดักหนูให้ทั่วถึงทุกตึก หลังจากนั้นต้องป้องกันด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ตามด้วยการควบคุมประชากรหนู ไม่ให้เพิ่ม
จำนวน โดยมีการสุ่มประชากรหนูเป็นระยะ และส่งชิ้นเนื้อตรวจ เพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งการดำเนินการต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

นพ.ธวัช กล่าวด้วยว่า แนวทางการกำจัดหนูที่เริ่มทำครั้งนี้ จะทำอย่างเป็นระบบ แล้ววางเป็นมาตรฐาน สำหรับให้หน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัด สธ.ตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถที่จะนำไปปรับใช้ในการกำจัดหนู ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป ทั้งนี้เริ่มแรกคงจะต้องมีการอบรมให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ในกระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้องอบรมรปภ. แม่บ้าน ร้านอาหาร และผู้ทีมีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละกรม ในส่วนของร้านอาหารอาจจะต้องจัดทำข้อกำหนดเพื่อขอความร่วมมือ กับผู้ขายอาหารภายในบริเวณสธ.ให้เลิกทิ้งขยะลงท่อ และไม่ผลิตขยะที่จะเป็นแหล่งรังโรคของหนู

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า หนูเป็นพาหะนำโรค 5 โรค ได้แก่ 1.กาฬโรค ที่ปัจจุบันโรคนี้หายไปจากประเทศไทยนานแล้ว 2.โรคเลปโตสไปโรซีส หรือ โรคฉี่หนู ซึ่งส่วนใหญ่มีการระบาดในชนบทที่มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม 3.โรคสครับไทฟัส หรือไข้รากสาด 4.โรคทูลารีเมีย หรือโรคไข้กระต่าย ซึ่งหนูเป็นตัวนำโรคเช่นเดียวกัน และ5.โรคพยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ปอด พยาธิตัวกลม ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคที่พบบ่อยๆ และสามารถติดต่อสู่คนได้

“หนูอยู่คู่กับบ้านเมืองเรามาตั้งแต่อดีต เป็นปัญหาเนื่องมาจากความสกปรก รกรุงรัง กองขยะ เศษอาหาร ไม่น่าดู ที่ใดที่มีสภาพแบบนี้ก็น่าจะมีหนูอยู่ ดังนั้นควรทิ้งขยะให้ถูกที่ และต้องปิดปากถังขยะให้ทิดชิด ป้องกันหนูเข้าไปหาเศษอาหารกิน เพราะนอกจากหนูจะสร้างความรำคาญ ยังสร้างความเสียหายกัดสายไฟ สายคอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องที่ทุกบ้านจะต้องระมัดระวังอย่างใกล้ชิด รักษาความสะอาด ให้ความร่วมมือหน่วยงานราชการในการป้องกันและกำจัดหนู” นพ.ธวัช กล่าว

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวนี้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วประเทศได้ตื่นตัวในเรื่องความสะอาด หากปล่อยให้มีเศษอาหาร กำจัดไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้เป็นแหล่งอาหารของหนู แมลงสาบ ขอให้ประชาชนรักษาความสะอาดบ้านเรื้อน ทิ้งขยะ กำจัดขยะให้เป็นที่เป็นทาง อาจเผา ฝังกลบ หรือทิ้งในถุงขยะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้หนูหรือแมลงสาบเข้าไปหากินได้

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมการแพทย์ ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่ง ได้ดำเนินการรณรงค์กำจัดหนูเป็นเรื่องปกติที่ทำอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยมีงบประมาณเฉพาะในการว่าจ้างบริษัทมาทำการกำจัดหนูในโรงพยาบาลและรณรงค์ให้มีการใช้ถังขยะที่มีฝาปิดอย่างมิดชิด รวมถึงขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยให้เก็บขยะโดยเฉพาะอาหารที่รับประทานเสร็จแล้ว ผูกถุงอย่างมิดชิดทิ้งในถังที่มีฝาปิด เพื่อไม่ให้หนูมาคุ้ยเขี่ยเศษอาหาร หรือถ้าเป็นไปได้ อยากขอความร่วมมือ ให้หลีกเลี่ยงการนำอาหารขึ้นไปรับประทานบนหอผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นเรื่องทำได้ยาก แต่ถ้าทำได้ก็จะลดปัญหาจากการก่อความรำคาญของหนูรวมทั้งตัดวงจรการแพร่โรคได้มาก

สำหรับ 48 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังหนู เนื่องจากเป็นพื้นที่เกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ได้แก่ พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน เชียงใหม่ สุโขทัย เชียงราย พะเยา ลำพูน นครสวรรค์ ตาก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สมุทรปราการ ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม กาญจนบุรี สระแก้ว สระบุรี กรุงเทพฯ ตราด ชลบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง และประจวบคีรีขันธ์




กำลังโหลดความคิดเห็น