xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรค จัดฝึกซ้อมแผนโรคอุบัติใหม่กลุ่มประเทศอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค ลงนามจับมือศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย จัดอบรมการบริหารจัดการฝึกซ้อมแผนโรคอุบัติใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ลดความสูญเสีย

วันนี้ (20 มี.ค.) ที่กรมควบคุมโรค นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมมือในการดำเนินงาน “โครงการอบรมการบริหารจัดการฝึกซ้อมแผนในกลุ่มประเทศอาเซียน+3”

นพ.ธวัช กล่าวว่า ขณะนี้มีโรคอุบัติใหม่อยู่ในบัญชีมีกว่า 30 โรค จำแนกเป็นโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และโรคที่นำเชื้อโรคมาผลิตเป็นอาวุธชีวภาพ ในการก่อการร้าย สำหรับโรคอุบัติใหม่ยังแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคที่ยังไม่ได้เข้ามาแพร่ระบาดในไทย แต่มีปัญหามากในต่างประเทศ เช่น โรคซาร์ส อีโบลา และกลุ่มโรคที่พบประปราย เช่น โรคมือเท้าปาก โรครีเจียนแนล โรคหวัดนก อหิวาตกโรค ฯลฯ แต่ขณะนี้ไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ส่วนโรคอุบัติซ้ำ คือ โรคที่เคยเกิดขึ้นแล้วหายไป แต่กลับมาเกิดขึ้นอีกเช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ โปลิโอในเด็ก ซึ่งมีการเฝ้าระวังเป็นประจำ ส่วนโรคที่นำเชื้อโรคมาผลิตเป็นอาวุธชีวภาพ เช่น เชื้อแอนแทรกซ์ เชื้อไข้กระต่าย และเชื้อโรคหน่อไม้ปี๊บ

นพ.ธวัช กล่าวด้วยว่า สำหรับศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยไม่ได้หวังผลกำไร มุ่งที่จะให้กลุ่มประเทศในเอเชียและแปซิฟิกมีความปลอดภัยจากภัยพิบัติ โดยจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติของแต่ละประเทศ หรับองค์กรนี้ดำเนินงานมาแล้ว 22 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ภารกิจหลักขององค์กร คือ 1.การเสริมสร้างความตระหนักและพัฒนาความรู้เพื่อบรรเทาภัยพิบัติ 2.เพิ่มความเข้มแข็งให้กับประเทศต่างๆ ในการรับมือกับภัยพิบัติ 3.กระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติซึ่งกันและกัน 4.พัฒนาและสาธิต นวัตกรรมใหม่ๆ ในการบรรเทาภัยพิบัติ

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชียในวันนี้ เป็นการลงนามในโครงการอบรมการบริหารจัดการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมป้องกันโรคอุบัติใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน +3 จำนวน 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม, ไทย, จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นพ.ธวัช กล่าวอีกว่า การอบรมนี้จะสร้างเสริมความสามารถของเจ้าหน้าที่ในด้านบริหารจัดการเตรียมความพร้อมเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ถึง มีนาคม 2552 ด้านงบประมาณได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมโรคติดต่ออุบัติใหม่อาเซียน+3 ระยะที่สอง โปรแกรมแห่งเอเชีย เป็นเงิน 193,645 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อจัดกิจกรรม 5 กิจกรรม ได้แก่ 1) จัดการอบรมนำร่องระดับภูมิภาคอาเซียน+3 เรื่อง การบริหารจัดการฝึกซ้อมแผนระดับภูมิภาค ที่ กรุงเทพมหานคร 2) ปรับปรุงและผลิตชุดคู่มือการอบรมบริหารจัดการฝึกซ้อมแผน 3) จัดการอบรม เรื่อง การบริหารจัดการฝึกซ้อมแผนรุ่นที่ 1 ในกลุ่มประเทศ BIMP (บรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ที่ประเทศบรูไน 4) จัดการอบรม เรื่อง การบริหารจัดการฝึกซ้อมแผนในกลุ่มประเทศ ACMECS (กัมพูชา, ลาว, พม่า, ไทย และเวียดนาม) 5) จัดประชุมติดตามผลระดับภูมิภาคอาเซียน +3 ที่กรุงเทพมหานคร

“ผลที่คาดว่าจะได้รับ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในด้านการบริหารจัดการฝึกซ้อมแผนการเตรียมความพร้อม การป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ต่างๆ จะมีทักษะในด้านการบริหารจัดการฝึกซ้อมแผนเพิ่มขึ้น และดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งคาดว่าจะสามารถลดความสูญเสียจากภัยพิบัติโรคอุบัติใหม่ลงได้ หากเกิดภาวะโรคระบาด”นพ.ธวัช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น