xs
xsm
sm
md
lg

อาคารเรียนใต้ถุนสูง เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ่านพ้นไปได้ระยะหนึ่งแล้วสำหรับภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียง ทั้งเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส ที่ประเทศพม่า และเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฉิงตู ประเทศจีน ที่ทิ้งไว้แต่เพียงเศษซากแห่งความสูญเสีย ทั้งชีวิตผู้คนจำนวนมาก ที่ต้องสังเวยภัยธรรมชาติ และจำนวนทรัพย์สินที่ต้องถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมหาศาล

เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังพยายามช่วยเด็กคนหนึ่งออกมาจากซากอาคารโรงเรียนที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวที่เฉิงตู
“เหมือนไฟไหม้ฟาง ทุกครั้งที่เกิดอะไรขึ้นแบบนี้ ช่วงแรกก็จะมีการเสวนาวิชาการ ตื่นตัวเพื่อรับมือ ไม่นาน คือไม่เกินสามเดือนก็ซา แล้วก็จะไม่มีใครพูดถึงอีก จนกว่าจะเกิดเหตุอีกรอบ” ...นี่คือ ความเห็นส่วนตัวต่อสถานการณ์การเสวนาภายหลังการเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ๆ จากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติหลายต่อหลายคนที่ให้ความเห็นไปในทำนองที่สอดคล้องกัน

และนั่นเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซากิจกรรมเสวนาให้ความรู้ความเข้าใจต่อภาคประชาชนลง สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ ความสนใจและความตระหนักถึงหายนะของภัยพิบัติทางธรรมชาติของประชาชนก็ลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงอย่างประเด็นความแข็งแรงของอาคารสาธารณะนั้น ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าคิดตามว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศจีนนั้น จะเห็นได้ว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตจำนวนกว่าหกหมื่นคนนั้น มีเด็กรวมอยู่ด้วยเกือบหมื่นคน
หนึ่งในเด็กหนุ่มชาวจีนที่รอดชีวิตจากอาคารโรงเรียนมัธยมต้นที่พังลงมา
“ที่มีเด็กเสียชีวิตมากขนาดนั้น เป็นเพราะอาคารเรียนของโรงเรียนถล่มทับ แต่พ่อแม่ของเด็กกลับกล่าวว่า สาเหตุที่เด็กเหล่านี้เสียชีวิต ไม่ใช่เพราะแผ่นดินไหว แต่ลูกหลานของพวกเขา ตายเพราะการคอร์รัปชันกินหินกินปูนจากการรับเหมาก่อนสร้าง ทำให้อาคารเรียนเหล่านั้นกลายเป็นอาคารเรียนไม่ได้มาตรฐาน”

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาและแผ่นดินไหวรายนี้ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยที่ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ และที่สำคัญคือพื้นดินใต้กรุงเทพมหานคร มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดการสั่นสะเทือนขึ้นมาหรือไม่ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการเตรียมพร้อมรับมือหากโชคร้ายเกิดแผ่นดินไหวขึ้น
 
ทั้งนี้ สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำคือการเสริมโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ เช่นโรงเรียน โรงพยาบาล เพราะเหล่านี้เป็นสถานที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงอาคารด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเช่นอาคารของสถานีดับเพลิง ด้วย เพื่อป้องกันการถล่มทับอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ในวินาทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน อุปกรณ์เหล่านี้ก็จะปลอดภัยและอยู่ในสภาพพร้อมเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอื่นๆ
 
“อย่างอาคารโรงเรียน หากทำให้โครงสร้างแข็งแรงแล้ว นอกจากจะช่วยให้บรรดาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนมีความปลอดภัยมากขึ้นแล้ว โรงเรียนที่มีโครงสร้างแข็งแรง ยังสามารถกลายสภาพเป็นพื้นที่หลบภัยได้ด้วย เพราะตามปกติแล้วโรงเรียนแทบทุกแห่งจะมีพื้นที่กว้างและรองรับผู้ประสบภัยได้จำนวนมาก”
ภาพอันน่าสะเทือนใจจากกองซากที่เคยเป็นโรงเรียนอนุบาล ก่อนจะพังถล่มเพราะแรงสะเทือนแผ่นดินไหว
ศ.ดร.ปณิธาน ขยายความถึงจุดบกพร่องของอาคารโรงเรียนส่วนใหญ่และแนะนำการเสริมโครงอาคารโรงเรียนแบบเก่าว่า อาคารโรงเรียนส่วนใหญ่จะสร้างคล้ายๆ กัน คือ เป็นแบบใต้ถุนเปิดโล่ง เพื่อที่จะได้ใช้พื้นที่ใต้อาคารได้ด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วถือเป็นแบบที่อันตรายมาก เนื่องจากโครงสร้างดังกล่าวเป็นโครงสร้างแบบด้านบนแข็ง คือเป็นตึก แต่ฐานอ่อน คือเป็นโครงกลวงเปิดโล่ง ถล่มได้ง่ายเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งกรณีนี้ สามารถจะเสริมความแข็งแรงเพิ่มได้
“หากมีงบน้อย เพียงก่ออิฐด้านละ 1 ผนัง หรือถ้ามีงบอีกนิด ก็เสริมเหล็กเข้าไปด้วย ก็พอจะช่วยได้ นอกจากนี้ควรจะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอาคารในเมืองใหญ่ อย่างในกรุงเทพฯ เรามีอาคารอยู่ประมาณ 2 ล้านหลัง เป็นอาคารใหญ่ๆ ประมาณ 1-2 หมื่นหลัง ถ้าเป็นอาคารเก่า ก็ควรจะมีหน่วยงานที่เข้าไปควบคุมดูแล ตรวจดูว่ามีความจำเป็นต้องซ่อมแซมไหมสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกก็คือซ่อมอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม ควรซ่อมเสริมให้ได้มาตรฐาน หากเป็นอาคารที่สร้างก่อนจะมีกฎหมายการสร้างอาคารรับแผ่นดินไหว ก็ควรให้วิศวกรตรวจดูว่าโครงอาคารแข็งแรงได้มาตรฐานไหม ถ้าไม่ได้ก็ควรเสริมอาคารแบบใด ก็เสริมให้แข็งแรงตามที่วิศวกรคำนวณ ก็จะช่วยได้มากขึ้น”

“แต่ที่จำเป็นที่สุดตอนนี้คือการสร้างสำนึกความปลอดภัยให้แก่คนไทย เราต้องตระหนักถึงพิบัติภัยทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตระหนักแบบไม่ตระหนก ต้องมีความรู้ความเข้าใจและรับมือกับมันได้อย่างถูกต้อง ด้วยหลัก5 E ง่ายๆ คือ
Education คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจในภัยพิบัติรวม ถึงการป้องกัน วิธีการรักษาชีวิตตนเองเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

Engineering คือ การออกแบบต้องทำให้ถูกและได้มาตรฐาน ต้องมีหลักจริยธรรมในการออกแบบ รับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึงการตรวจแบบ ว่าได้มาตรฐานและปลอดภัยจริงหรือไม่

Enforcement คือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จะต้องเคร่งครัด 100% ไม่เช่นนั้นจะอันตรายมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ มีตำรวจบางคนโบกรถที่พยายามวิ่งให้ทันผ่านไฟแดงไปอย่างฉิวเฉียด ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะให้หยุดรอสัญญาณไฟแดง และรอถึงไฟเขียว ไม่ใช่เร่งเพื่อให้พ้นไฟแดง เรื่องแบบนี้อันตรายมาก เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเจ้าของรถนั้นๆ จะได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่โชคร้ายก็จะเดือดร้อนไปด้วย ในด้านการบังคับกฎหมายโครงสร้างตึกรวมไปถึงการตรวจสอบก็เช่นกัน เมื่อพบสิ่งผิดปกติก็ต้องดูแลอย่างเร่งด่วนและเคร่งครัดด้วย

Environment คือ สิ่งแวดล้อม นอกจากเราจะป้องกันและแก้ไขแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยร่วมด้วย คือ ธรรมชาติที่มีส่วนช่วยในการป้องกันภัยพิบัติ เราก็ควรใส่ใจดูแลด้วย เช่น ไม่ตัดต้นไม้

สุดท้ายคือ E- Ethic คือศีลธรรมและจริยธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” อ.ปณิธาน กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น