xs
xsm
sm
md
lg

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

2. เลิศมนุษย์

สำหรับผู้ที่สนใจ ภูมิปัญญาแบบโพสต์โมเดิร์น การศึกษาความคิดของ นิทเช่ (Nietzsche, ค.ศ. 1844-1900) เป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพราะ นิทเช่ เป็นปัญญาชนแนวโพสต์โมเดิร์นคนแรกๆ ของโลกที่ออกมาต่อต้าน ระบบ โดยมองว่า ระบบ เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนความเชื่อหรือศีลธรรม หรือค่านิยมของผู้ที่สร้างมันขึ้นมาเท่านั้น มิหนำซ้ำมันยังมีลักษณะ อำพรางความจริง มากกว่าที่จะเปิดเผยความจริง

มุมมองเชิงวิพากษ์แบบโพสต์โมเดิร์นเช่นนี้ จึงมีความสำคัญมากในการ “ถอดรื้อ” ทำลาย อวิชชา และ มายาคติ ทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังครอบงำสังคมโลกปัจจุบัน

ปรัชญาของ นิทเช่ แม้จะมีพื้นฐานเป็นวัตถุนิยม แต่ก็มุ่งในการยกระดับสติปัญญาของผู้คน และมุ่งที่จะปลดปล่อยความคิดของผู้คนให้หลุดพ้นจากความเชื่อหรือค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกและจักรวาฬ

“โลก” ในสายตาของ นิทเช่ คือโลกแห่งข้อเท็จจริงและปรากฏการณ์ที่อาจสัมผัสได้ กล่าวโดยนัยนี้ นิทเช่ จึงเป็นนักวัตถุนิยม ในสายตาของ นิทเช่ โลกจึงตั้งอยู่บนความแปรปรวนอันปราศจากกฎเกณฑ์ และจะเป็นไปอย่างที่มันเป็นไปโดยไม่มีพระเจ้าหรือเจตนารมณ์ใดมากำหนดความเป็นไปของมัน สำหรับ นิทเช่ แล้ว “อำนาจ” ที่แท้จริงของมนุษย์อยู่ที่ความสามารถในการกำหนดคุณค่า และความหมายให้แก่ตนเองโดยสามารถรู้เท่าทัน ค่านิยมและความเชื่อต่างๆ ของสังคมโดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของมัน และยังสามารถ “ก้าวข้าม” หรือ “อยู่เหนือ” ค่านิยมและความเชื่อต่างๆ เหล่านั้นได้ด้วย

นิทเช่
มองพฤติกรรมของสรรพชีวิต รวมทั้งมนุษย์ในแง่ของการแสวงหาอำนาจที่ตัวเขาเรียกว่า “เจตนาเพื่ออำนาจ” นิทเช่ ใช้มุมของ “เจตนาเพื่ออำนาจ” นี้ไปทำความเข้าใจมนุษย์ เข้าใจชีวิต เข้าใจโลกและสังคม ในสายตาของ นิทเช่ มนุษยชาติเป็นส่วนหนึ่งของการวิวัฒนาการของจักรวาฬที่กำลังพัฒนาไปสู่ขั้นตอนที่สูงส่งยิ่งกว่านี้ นั่นคือกำลังพัฒนาไปสู่การเป็น “เลิศมนุษย์” ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถเป็นนายเหนือ “เจตนาเพื่ออำนาจ” หรือเป็นผู้ที่สามารถเอาชนะสัญชาตญาณแห่งการแสวงหาอำนาจของตนได้

การที่ นิทเช่ มีวิชันเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติที่มุ่งไปสู่การเป็น “เลิศมนุษย์” เช่นนี้เอง ที่ทำให้ นิทเช่ จำแนกมนุษย์ออกเป็น 3 ประเภทตามลำดับขั้นของการพัฒนาทางจิตไปสู่ความเป็น “เลิศมนุษย์”

ระดับแรก
คือ พวกด้อยพัฒนา ซึ่งเป็นพวกที่ตกเป็นทาสของวัตถุ และค่านิยมที่สังคมกำหนดหรือยัดเยียดให้

ระดับที่สอง คือ พวกที่อยู่เหนือกว่า ซึ่งเป็นพวกที่หลงติดยึดมั่นถือมั่นอยู่กับอุดมการณ์ ความเชื่อ โลกทัศน์ของตนเอง แต่ก็เป็นผู้ที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพลต่อคนหมู่มากในการกำหนดค่านิยมทางสังคม

ระดับที่สาม คือ พวกที่เป็น “เลิศมนุษย์” ซึ่งเป็นพวกที่รู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ของความอยากทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ มิหนำซ้ำยังสามารถเป็นนายเหนือ “เจตนาเพื่ออำนาจ” เหล่านั้นได้โดยสมบูรณ์

งานเขียนชิ้นเอกของ นิทเช่ เรื่อง “ดังนั้นพูดซาราธุสตรา” (Thus Spoke Zarathustra) (เขียนระหว่าง ค.ศ. 1883-1885) เป็นงานเขียนเชิงกวีนิพนธ์ชิ้นยาวเหยียดที่ครอบคลุมหลักการ และปรัชญาข้างต้นของ นิทเช่ ไว้อย่างลึกซึ้ง และเป็นงานเขียนที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบรรดางานเขียนของเขา

“ซาราธุสตรา” ในงานเขียนชิ้นนี้ของ นิทเช่ ยังมิได้เป็น เลิศมนุษย์ แต่กำลังพัฒนาตนเองใกล้ไปสู่ความเป็น เลิศมนุษย์ เต็มทีแล้ว เหตุที่ ซาราธุสตรา ยังไม่ได้เป็น เลิศมนุษย์ เพราะตัวเขายังมิได้เป็นอิสระจาก “วิญญาณแห่งความโน้มถ่วง” ซึ่ง นิทเช่ อธิบายว่า หมายถึงสภาวะจิตที่ยังไม่เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ เพราะยังตกอยู่ในแรงดึงดูดของโลกธรรม จึงยังมีลักษณะเคร่งขรึม ซึมเศร้า เอาจริงเอาจัง ขาดความเบิกบาน ไร้อารมณ์ขัน และไม่สามารถยิ้มเย้ยตนเองได้

ด้วยเหตุนี้การรับรู้ของ ซาราธุสตรา จึงยังไม่ใช่การรับรู้ที่เป็นไปเพื่อความเบิกบาน ซาราธุสตรา ยังมีความสมเพชต่อมนุษยชาติที่ตกเป็นทาสของค่านิยม และความเชื่ออันจอมปลอมทั้งหลาย เขาจึงได้พยายามสั่งสอนผู้คนโดยการจุด “เทียนแห่งธรรม” เพื่อให้ปัญญาแก่ผู้คน และเพื่อปลดเปลื้องค่านิยมเหล่านั้นให้แก่ผู้คน

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่อาสามาทำหน้าที่จุด “เทียนแห่งธรรม” เพื่อให้ปัญญาแก่ผู้คน จึงย่อมอยู่ในระดับจิตเดียวกับระดับจิตของซาราธุสตราทั้งสิ้น อันเป็นระดับจิตที่มีพัฒนาการล้ำหน้ากว่า ระดับจิตของ “พวกที่อยู่เหนือกว่า” และผู้นั้นย่อมจะกลายเป็น “เลิศมนุษย์” ที่สมบูรณ์ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อผู้นั้นสามารถเป็นอิสระจากความกดดัน หรือแรงกระตุ้นทั้งหลายทั้งปวงจนมีจิตเบิกบานเป็นปกติวิสัยอยู่เสมอได้
***
ซาราธุสตรา เป็นผู้มีปัญญาสูงยิ่ง และยินดีในความสันโดษอย่างเดี่ยวโดดโดยมิได้เบื่อหน่าย แต่แล้ววันหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจกลับคืนสู่สังคมเองโดยไม่มีใครร้องขอ ซาราธุสตรา กลับมาเอง เขากลับมาแล้ว!

เขาเป็นคนที่มีพลังที่ล้นเหลือ มีปัญญาที่เหลือเฟือ เขาเพียงต้องการมือที่ยื่นมารับมันไปจากตัวเขา

ซาราธุสตรา ปรารถนาที่จะแจกจ่ายปัญญาของเขา จนกว่าผู้ฉลาดในหมู่มนุษย์ได้พบสันติสุขภายในอีกครั้ง และผู้ยากไร้ต่างเป็นสุขกับความมั่งคั่งทางจิตใจของตน

เขารักมนุษยชาติ และเขาเพียงต้องการนำของขวัญของเขามามอบให้แก่มนุษยชาติเท่านั้น

ซาราธุสตรา อยากจะสอนผู้คนให้เป็น เลิศมนุษย์ ความเป็นปุถุชนคือสิ่งที่ผู้คนควรเอาชนะเหนือ เพราะ คนทั่วไปก็เหมือนกับแม่น้ำ ขณะที่ผู้ที่เป็นเลิศมนุษย์จักต้องเป็นทะเลที่สามารถรับน้ำเน่าจากแม่น้ำได้โดยไม่พลอยเน่าไปด้วย

เลิศมนุษย์
จักเป็นความหมายของโลกใบนี้ มนุษย์ปุถุชนคือ เชือกที่ขึงไว้ระหว่างสัตว์กับ เลิศมนุษย์ เชือกที่ขึงอยู่ปากเหว ข้ามก็อันตราย เดินผ่านก็อันตราย เหลียวหลังก็อันตราย ตัวสั่นอยู่กับที่ก็อันตราย

ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ในสายตาของ ซาราธุสตรา นั้นอยู่ที่การเดินทางแสวงหาบนเส้นทางแห่งชีวิตเพื่อก้าวข้ามสะพานที่แบ่งแยกความเป็นปุถุชนกับความเป็น เลิศมนุษย์

ความน่ารักของมนุษย์
ในสายตาของ ซาราธุสตรา นั้นอยู่ที่พวกเขาตกต่ำลงได้ แต่พวกเขาก็สามารถลุกขึ้นมาใหม่และกลับมาสูงส่งอีกครั้งได้

ซาราธุสตรา เป็นผู้ดำรงอยู่เพื่อความรู้ และความใฝ่รู้ อีกทั้งยังต้องการเผยแผ่ความรู้นี้ออกไปให้คนหมู่มาก เพื่อที่ในวันหนึ่งข้างหน้าจักมี เลิศมนุษย์ กลุ่มใหญ่อุบัติขึ้นมาเช่นเดียวกับตัวเขา ซาราธุสตรา จึงทำงานหนักเพื่อเตรียมพื้นที่ไว้ให้แก่เหล่า เลิศมนุษย์ ทั้งหลายในวันข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้ ซาราธุสตรา จึงเลือกที่จะลิขิต ชะตากรรมแห่งคุณธรรม ของตัวเขาเอง เขาจึงยอมอยู่อย่างบาดเจ็บ และยอมตายเพื่อคุณธรรมของเขา

ผู้คนไม่น้อยเมื่อได้ฟังคำพูดของ ซาราธุสตรา ต่างพากันหัวเราะเยาะเขา คนพวกนี้ไม่เข้าใจเขา และพวกเขาไม่มีหูไว้สำหรับฟัง สิ่งที่เปี่ยมไปด้วยปัญญาจากปากของ ซาราธุสตรา

พวกเขาเกลียดชัง ซาราธุสตรา และโห่ร้องขับไล่ เพียงเพราะพวกเขาไม่ชอบฟังสิ่งอัปยศน่าเหยียดหยามที่เกี่ยวกับพวกเขา ซึ่ง ซาราธุสตรา ได้เปิดเผยออกมา

ซาราธุสตรา รู้สึกสลดใจ เขากล่าวแก่ดวงใจของตนว่า

“ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้ช่างวิปริตเสียนี่กระไร เขาเป็นคนสติดีที่อยู่ท่ามกลางสังคมที่ขาดสติ โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้สึกตัวว่า ตัวเองกำลังขาดสติอยู่”

ผู้คนมากมายเกลียดชัง ซาราธุสตรา เพียงเพราะเขาอยากสอนผู้คนให้ตระหนักถึงความหมายของชีวิตที่สามารถมุ่งไปสู่การเป็น เลิศมนุษย์ ผู้เปรียบเสมือน “วัชระ” หรือ “สายฟ้า” จากเมฆมนุษย์อันมืดครึ้ม แต่ผู้คนเหล่านี้ยังปิดกั้นตนเองเกินกว่าที่จะสามารถสื่อสารกับเขาอย่างแท้จริงได้

ซาราธุสตรา ผละจากสังคมนั้นไปปลีกวิเวกอีกครั้ง ซาราธุสตราผละจากสังคมที่มีผู้คนมากมายเกลียดชังเขาด้วย ร่างกายที่อ่อนล้า แต่จิตวิญญาณของเขายังคงสงบนิ่ง ซาราธุสตรา ตั้งใจว่าจะไม่กล่าวแก่ฝูงชนอีกต่อไป เว้นไว้แต่ผองเพื่อนผู้ร่วมวิถีร่วมเส้นทางเดียวกับตัวเขา

ซาราธุสตรา ตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า อัตตาคือสิ่งที่ควรเอาชนะเหนือ อัตตาคือ ความอัปยศอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ปุถุชน การตระหนักรู้ในตนเช่นนี้ จึงเป็นห้วงขณะอันล้ำเลิศของซาราธุสตรา

ซาราธุสตรา ทบทวนความบกพร่องที่มีอยู่ในตนเองที่อาจทำให้สังคมส่วนหนึ่งปฏิเสธเขาหรือเกลียดชังในตัวเขา ซาราธุสตรา บอกกับตัวเองว่า หากตัวเขาไม่สามารถเป็น นักบุญแห่งความรู้ ได้ อย่างน้อยที่สุด เขาก็ขอเป็น นักรบแห่งความรู้ เถิด หัวใจของเขายังแข็งแกร่งพอที่จะแบกรับความเกลียดชังและความริษยาของผู้คน

เขาจะทำให้งานของเขากลายเป็นการรบ หากมีคนถามเขาว่าอะไรคือความดีสำหรับตัวเขา ซาราธุสตรา จะตอบโดยไม่ลังเลใจเลยว่า

“การเป็น ผู้กล้า นี่แหละคือ ความดี!”

พื้นโลกใบนี้ยังมีเสรีภาพสำหรับวิญญาณอันยิ่งใหญ่เสมอ ที่ว่างยังมีเหลือเฟือสำหรับผู้สันโดษ

ในโลกนี้ แม้สิ่งที่ดีที่สุดก็ไร้ค่าถ้าขาดผู้นำเสนอ เพราะฉะนั้นผู้นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับความเป็นมนุษย์ที่แท้คือ มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

ซาราธุสตรา บอกแก่เพื่อนผู้ร่วมทางของเขาว่า

“จงเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ มิใช่รักเพื่อนมนุษย์ แต่จงรัก เลิศมนุษย์ ผู้อยู่ไกลสุดสูงสุดเถิด เพราะ เลิศมนุษย์ เป็นผู้มีโลกอันสมบูรณ์แบบ และพร้อมที่จะมอบให้แก่ทุกคนอยู่เสมอ”

คนเรานั้นต้องพร้อมเสมอที่จะเผาผลาญตนเองในเปลวเพลิง เนื่องเพราะคนเราไม่อาจกลายมาเป็น คนใหม่ ได้ ถ้าหากไม่กลายเป็นเถ้าถ่านเสียก่อน
***
วันอาทิตย์ที่ 2 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 พระสันตจิตโต ได้ลาสึกและกลับมาเป็นฆราวาสที่ชื่อ “สนธิ ลิ้มทองกุล” อีกครั้ง

คราวนี้ สนธิ บอกกับตัวเองว่า เขาจะเดินไปสู่ ทางสายใหม่ และ คารมใหม่ จะออกจากปากของเขา แม้ว่า “เจตนาเพื่อความจริง” ของเขาจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่เช่นเดิมก็ตาม

เขาจะเป็น ผู้ให้ อย่างที่เคยให้เสมอมา และเขาจะให้อย่างยินดีเต็มใจ โดยที่จุดหมายอันสูงส่งสูงสุดของเขาจะเป็นผู้นำทางชีวิตของตัวเขา นับจากนี้เป็นต้นไป ต่อให้ตัวเขาจะต้องถูกทำร้ายอย่างเจ็บปวดกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และมากแค่ไหนก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น