xs
xsm
sm
md
lg

สต็อก "เอทานอล-ไบโอดีเซล" แก้วิกฤติราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- “พูนภิรมย์”สั่งทำแผนสต็อกพลังงานทดแทนทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล คาดภายในเม.ย.นี้คลอดแน่ หวังนำมาบริหารราคาให้เกิดเสถียรภาพและป้องกันการขาดแคลน และใช้ในการดูแลทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต เลียนแบบสต็อกน้ำมันสหรัฐฯ แถมมองไกลบริหารสต็อกเอทานอลส่งออกเพื่อทำให้ปริมาณผลิตที่ล้นตลาดลดลงดันไทยสู่เอทานอลฮับ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงานได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานเกี่ยวกับการสต็อกพลังงานทดแทนทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนและรักษาระดับราคาให้เกิดเสถียรภาพที่จะเกิดการคุ้มครองทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าแผนดังกล่าวจะสามารถจัดทำเสร็จภายในเม.ย.นี้

“ปัญหาขณะนี้คือเมื่อถึงหมดฤดูผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนทั้งเอทานอลที่ผลิตจากอ้อย มันสำปะหลัง ไบโอดีเซลจากปาล์ม ราคาก็จะแพงมากเกิดการโก่งราคาแถมยังเกิดการขาดแคลนการจัดซื้อในช่วงฤดูผลิตเก็บไว้ระดับหนึ่งเมื่อมีปัญหาก็สามารถนำสต็อกที่เก็บไว้เทออกมาเพื่อทำให้ราคามีเสถียรภาพและไม่ทำให้ขาดแคลนวิธีนี้ดีต่อทุกฝ่ายซึ่งแนวคิดนี้ก็คล้ายๆ กับสหรัฐที่มีการสต็อกน้ำมันไว้ ส่วนปริมาณที่จะสต็อกอยู่ระดับใดจะเหมาะสมก็ต้องศึกษาอีกครั้ง”แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังมองแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับผู้ผลิตโดยเฉพาะเอทานอลที่ล่าสุดการผลิตเกินความต้องการทำให้ผู้ผลิตรายใหม่เสียเปรียบในแง่ตลาดจากรายเก่าที่มีฐานลูกค้าไปหมดแล้วและรายเก่ายังเสนอราคาที่ต่ำเพื่อไม่ให้ลูกค้าไปซื้อรายใหม่ทำให้เกิดการหยุดผลิตซึ่งปล่อยไว้ระยะยาวผู้ผลิตส่วนหนึ่งจะอยู่ไม่ได้หากมีการจัดทำสต็อกก็จะทำให้สามารถรับซื้อจากรายอื่นๆ เพิ่มเติมพร้อมกันนี้ยังสามารถนำสต็อกมาบริหารการส่งออกเพื่อดันให้ไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตและส่งออกเทานอลหรือฮับในภูมิภาคได้อีกด้วยในระยะยาว

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ปัญหาของเอทานอลจะตรงกันข้ามกับไบโอดีเซล กล่าวคือ อดีตมีการให้ใบอนุญาตผลิตเอทานอลมากถึง 24 รายรวมผลิต 12 ล้านลิตรต่อวันแม้ว่าในแง่การตลาดจะกำหนดให้ใช้อี 20 แทนเบนซินทั้งหมดก็ยังใช้เอทานอลได้แค่ 4 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้นและในแง่ข้อเท็จจริงรถยนต์ก็ยังไม่สามารถจะใช้อี 20 ได้ทั้งหมดซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตทยอยเปิดโรงงานประมาณ 9-10 แห่งการผลิตประมาณ 1.6 ล้านลิตรต่อวันขณะที่การใช้จริงมีเพียง 7-8 แสนลิตรต่อวันเท่านั้นทำให้เกิดการดัมพ์ราคาขายจากราคาที่เคยอยู่ระดับ 24 บาทต่อลิตรล่าสุดเหลือเพียง 14-15 บาทต่อลิตร

ขณะที่ไบโอดีเซลผู้ผลิตปาล์มดิบ(บี100) เห็นช่องว่าทางรัฐอุดหนุนจึงโก่งราคาโดยไม่ยอมขายเพื่อดันราคาให้สูงขึ้นอีกจึงทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบแต่เมื่อกระทรวงพลังงานเสนอนำเข้าเพื่อดัดหลังผู้ผลิตกลับระบุกับพาณิชย์ว่าสต็อกในประเทศมีมากมายซึ่งก็เป็นเรื่องจริงจนในที่สุดรัฐจึงต้องเลิกแผนขายบี 5 มาเป็นบี 2 แทนเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งหากจัดระเบียบบี 100 ให้ดีจะสามารถนำไปผลิตปิโตรเคมีได้อีกราคาจะดีขึ้น และจัดการให้ดีราคาน้ำมันพืชจะต่ำลงอีกมาก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอล ยอมรับว่า ผู้ผลิตขณะนี้ขายราคาขาดทุนเนื่องจากวัตถุดิบราคาสูงมากโดยเฉพาะมันสำปะหลังที่เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 2.50-2.70 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ซึ่ง 1 ลิตรเอทานอลใช้มันฯ6.5 กก.บวกค่าบริหารจัดการรวมต้นทุน 16 บาทต่อลิตรแต่ขายแค่ 14-15 บาทต่อลิตรทำให้โรงงานที่ผลิตจากมันสำปะหลังหยุดการผลิตแล้วขณะนี้ 3 ราย ขณะที่ผลิตจากโมลาส(กากน้ำตาล)กรณีที่ซื้อสต็อกไว้ 100-105 เหรียญต่อตันต้นทุนอยู่ที่ 13 บาทต่อลิตรพออยู่ได้แต่หากไม่มีสัญญาระยะยาวซื้อโมลาสราคาจะอยู่ที่ 165 เหรียญต่อตันก็ไม่คุ้มทุนอีกทำให้ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่แบกภาระขาดทุน