xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานขึ้นมั่นใจวิกฤตสินเชื่อคลี่คลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์/ผู้จัดการรายวัน - ตลาดหุ้นทั่วโลกพากันดีดตัวทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหนึ่งเดือนเมื่อวานนี้(2) โดยบรรดานักลงทุนต่างมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นว่า ช่วงเลวร้ายที่สุดของวิกฤตสินเชื่อตึงตัวทั่วโลกน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว ภายหลังแบงก์และสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทางยุโรปและอเมริกาหลายแห่ง พากันหั่นลดขาดทุนหรือระดมเพิ่มทุนเป็นปริมาณมหึมา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเสียงเตือนว่าไม่ควรที่จะมองโลกในแง่ดีจนเกินไป สำหรับทางด้านตลาดหุ้นไทยวานนี้บวกเล็กน้อยแค่ 2.35% คิดเป็น 0.29% เหตุการเมืองในประเทศยังอึมครึม กดดันดัชนีขยับตัวผันผวนในกรอบแคบๆ

ตลาดวอลล์สตรีทของสหรัฐฯพากันพุ่งขึ้นเป็นแถวเมื่อวันอังคาร(1) โดยในตอนปิด ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์บวก 391.47 จุด หรือ 3.19% ขณะที่ดัชนีหุ้นสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์500 สูงขึ้น 3.59% และดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดแนสแดคก็ไต่ขึ้น 3.67%

ครั้นถึงรอบการซื้อขายของแถบเอเชียวานนี้ ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคแถบนี้ก็ยังคงทะยานต่อ โดยที่โตเกียววิ่งลิ่วแรงที่สุด บวกขึ้นมาถึง 4.21% ส่วนฮ่องกงก็บวก 3.18%, สิงคโปร์บวก 2.56%, โซล 2.4%, ไต้หวัน 2.2%

ทางฝ่ายตลาดยุโรปก็สดใสเช่นกัน โดยในช่วงซื้อขายตอนเช้าวานนี้ ลอนดอนยังบวกขึ้นมาได้ 0.08%, แฟรงเฟิร์ต 0.34%, และปารีส 0.16% หลังจากที่ในวันอังคารต่างก็ดีดขึ้นมาราวๆ 3%

ในช่วงราวเที่ยงวัน ดัชนีฟุตซี่ยูโรเฟิร์สต์300 ซึ่งเป็นมาตรวัดหุ้นตัวใหญ่ๆ ของแถบยุโรป เพิ่มขึ้นมา 1.1% ขณะที่ดัชนีเอ็มเอสซีไอวัดหุ้นสำคัญของทั่วโลก ก็ไต่ขึ้นกว่า 1% สู่ระดับสูงสุดนับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นโลกพากันดีดตัวขึ้นเช่นนี้ มาจากการประกาศในวันอังคารของ ยูบีเอส ธนาคารใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ว่าจะต้องตัดลดการขาดทุนจากการถือครองตราสารหนี้อิงสินเชื่อซับไพรม์ลงมาอีก 19,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อรวมกับการตัดขาดทุนไปแล้ว 18,400 ล้านดอลลาร์ในรอบปี 2007 ก็จะเป็นการตัดลดมูลค่าสินทรัพย์ที่ครอบครองทั้งหมดถึงกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น แบงก์แห่งนี้ยังต้องระดมเงินเพิ่มทุนแบบฉุกเฉินอีกกว่า 15,000 ล้านฟรังก์สวิส อีกทั้งประธานแบงก์ มาเซล ออสเพล ก็ประกาศไม่ขออยู่ในตำแหน่งอีกหลังครบวาระปัจจุบัน

ในวันเดียวกันนี้ ดอยช์แบงก์ ธนาคารใหญ่ที่สุดของเยอรมนีก็แถลงเตือนว่า จะต้องตัดขาดทุนในไตรมาสแรกปีนี้ประมาณ 2,500 ล้านยูโร(3,900 ล้านดอลลาร์) ส่วนเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจใหญ่อันดับ 4 ของวอลล์สตรีท ก็ประกาศเพิ่มทุนฉุกเฉิน โดยในตอนแรกแจ้งว่าจะเพิ่ม 3,000 ล้านดอลลาร์ แต่ได้แถลงในวันอังคารว่า มีผู้สนใจมากจึงระดมเงินเพิ่มทุนมากขึ้นอีกเป็น 4,000 ล้านดอลลาร์

หลังจากตลาดปั่นป่วนผันผวนมาหลายเดือนโดยมีเชื้อปะทุจากวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทลูกค้าด้อยคุณภาพ หรือ "ซับไพรม์" ในสหรัฐฯ การประกาศข่าวของแบงก์และสถาบันการเงินเหล่านี้ โดยเฉพาะในรายของยูบีเอส ทำให้ในช่วงต้นๆ เกิดความหวาดผวากันว่า จะเป็นเหตุให้เกิดการเทกระหน่ำขายหุ้นกันอีกระลอก
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่านักลงทุนจำนวนมากกลับเลือกที่จะมองว่า การที่แบงก์และสถาบันการเงินลงแรงสะสางงบดุลบัญชีของพวกตนกันอย่างมโหฬารเช่นนี้ น่าจะเป็นสัญญาณในทางดีว่า ปัญหากำลังอยู่ในระยะคลี่คลายแล้ว

"เรากำลังมาถึงจุดที่ผู้คนกำลังเริ่มเชื่อว่าขนาดขอบเขตของการตัดลดขาดทุนมาถึงจุดสูงสุดแล้ว" เป็นความเห็นของ โอเวน ฟิตซ์แพตริก ผู้อำนวยการกลุ่มหลักทรัพย์สหรัฐฯ แห่ง ดอยช์แบงก์ ไพรเวต เวลธ์ แมเนจเมนต์ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ก "และจากการที่เลห์แมนสามารถที่จะเข้ามาในตลาดและเสนอขายหุ้น(เพิ่มทุน)ได้ ผู้คนจึงกลับเกิดความสนใจที่จะนำเอาเงินทุนมาวางไว้กับหุ้นภาคการเงินกันอีก"

กระนั้นก็ตาม อะเซล เวเบอร์ ผู้ว่าการคนหนึ่งของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) กล่าวเตือนในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เยอรมันฉบับวานนี้ว่า ความผันผวนทางการเงินยังน่าจะมีอยู่ต่อไป วิกฤตความเชื่อมั่นยังไม่จบสิ้น โดยตราบเท่าที่ราคาในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯยังคงทรุดตัวต่อไปแล้ว ก็คาดหมายได้ว่ายังจะมีความปั่นป่วนผันผวนต่อไปอีก

ตลาดหุ้นไทยผันผวนระยะสั้น

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (2 เม.ย.) ได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดหุ้นต่างประเทศ ทำให้ปรับตัวอยู่ในแดนบวกตลอดทั้งวัน แม้จะมีแรงเทขายออกมาในช่วงท้ายจนทำให้ตลาดปิดที่ระดับต่ำสุดของวันที่ 825.71 จุด เพิ่มขึ้น 2.35 จุด คิดเป็น 0.29% และจุดสูงสุดที่ 832.04 จุด

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 442.91 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 513.41 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 956.31 ล้านบาท

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นถ้วนหน้าตามดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นแรงเกือบ 400 จุด หลังจากวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เลห์แมน บราเธอรส์ ประสบความสำเร็จในการระดมทุน 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ประจำเดือนมีนาคมออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลและกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง

ส่วนปัจจัยในประเทศได้แก่ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลื่อนการพิจารณาดคียุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยออกไปเป็นวันที่ 8 เม.ย.นี้ ทำให้ปมความเสี่ยงการเมืองยืดเยื้อและกดดันตลาดหุ้นไทย จึงมีแรงเทขายออกมาในช่วงท้ายตลาดทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนไม่มากนัก

ขณะที่แนวโน้มวันนี้ (3 เม.ย.) ดัชนีฯมีโอกาสจะปรับลดลงในแดนลบ เนื่องจากขาดปัจจัยบวกใหม่เข้ามากระตุ้นจิตวิทยาการลงทุน ประกอบกับอาจมีแรงขายทำกำไรออกมาหลังดัชนีฯปรับขึ้น 2 วันทำการติดต่อกัน อีกทั้งปัจจัยการเมืองยังคงกดดัน ทำให้ดัชนีฯเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆโดยประเมินแนวรับ 820 จุด แนวต้าน 833 จุด

น.ส.มยุรี โชวิกรานต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยระยะสั้นยังคงฟื้นตัวต่อได้ แต่จะแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ระหว่าง 825-835 จุด เนื่องจากไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ ที่หนุนตลาดได้แรง ประกอบกับตลาดหุ้นภูมิภาคถูกกว่า ด้านกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้น แนะนำให้เลือกหุ้นกลุ่มแบงก์ โดยหากตลาดปรับฐานให้ดูจังหวะเพื่อเข้าซื้อในช่วงอ่อนตัวจะดีที่สุด

นายอภิสิทธิ์ ลิมศุภนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.บีฟิท กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้คงจะไม่ขยับไหนไม่ไกล โดยนักลงทุนจะรอดูคำแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อสภาคอมเกรสก่อนว่าจะประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไร โดยตลาดหุ้นไทยมีกรอบแนวรับที่ 820-825 จุด และแนวต้านที่ 833-835 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น