xs
xsm
sm
md
lg

UBSตัดขาดทุนอีก$19พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี - แบงก์และสถาบันการเงินทางยุโรปและสหรัฐฯยังคงอ่วมจากพิษวิกฤตซับไพรม์และวิกฤตสินเชื่อกันเต็มๆ วาณิชธนกิจใหญ่วอลล์สตรีท เลห์แมน บราเธอร์ส เร่งประกาศเพิ่มทุน 3,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ดอยช์แบงก์ ธนาคารยักษ์หมายเลข 1 ของเยอรมนี แจ้งเตือนว่าจะต้องมีการตัดขาดทุนอีก 3,900 ล้านดอลลาร์ แต่รายที่หนักกว่าเพื่อนคือ ยูบีเอส แบงก์อันดับหัวแถวสัญชาติสวิส ซึ่งทั้งประกาศตัดขาดทุนอีก 19,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มทุนฉุกเฉิน แถมตัวประธานธนาคารก็ต้องเปิดหมวกอำลาตำแหน่ง

การประกาศล่าสุดของยูบีเอสเมื่อวานนี้(1) ทำให้แบงก์ใหญ่อันดับ 1 ของสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ กลายเป็นสถาบันการเงินรายที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดจากวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทซับไพรม์ เพราะการตัดขาดทุนในไตรมาส 1/2008 เป็นมูลค่าราว 19,000 ล้านดอลลาร์คราวนี้ เมื่อบวกกับการตัดลดมูลค่าสินทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ลงมา 18,400 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2007 แล้ว ก็จะเป็นการตัดขาดทุนมากถึงกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์ แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างเมอร์ริลลินช์ ซึ่งแจ้งตัดขาดทุนในปีที่แล้วไปทั้งสิ้น 24,400 ล้านดอลลาร์

นอกจากนั้น ด้วยการตัดลดมูลค่าสินทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ลงมาอย่างมหาศาลเช่นนี้ ยังทำให้ผลประกอบการในไตรมาสแรกปีนี้ของยูบีเอส เท่ากับขาดทุนสุทธิ 12,000 ล้านฟรังก์สวิส (12,030 ล้านดอลลาร์) หลังจากขาดทุน 4,400 ล้านฟรังก์สวิสในปี 2007 ซึ่งนับเป็นการขาดทุนปีแรกในประวัติศาสตร์ของแบงก์แห่งนี้

ยูบีเอสแจ้งด้วยว่า ยังต้องการระดมเงินเพิ่มทุนแบบฉุกเฉินอีก 15,000 ล้านฟรังก์ ซึ่งเมื่อรวมกับการเพิ่มทุนฉุกเฉินภายหลังการตัดลดขาดทุนปี 2007 ก็เท่ากับเพิ่มทั้งหมด 34,000 ล้านฟรังก์ ทั้งนี้ในการระดมเงินเพิ่มทุนคราวก่อน แชมป์แบงก์สวิสแห่งนี้ต้องพึ่งพาเงินของกองทุนความมั่งคั่งภาครัฐของสิงคโปร์ ตลอดจนนักลงทุนที่ไม่ระบุชื่อรายหนึ่งในตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน วิกฤตอันร้ายแรงยิ่งครั้งนี้ก็ถึงคราวที่ มาร์เซล ออสเพล ประธานของแบงก์จะต้องสูญเสียตำแหน่ง ครั้งหนึ่ง ออสเพลเคยมีฐานะเป็นนายใหญ่ของวงการธนาคารสวิสซึ่งยังคงรักษาบรรยากาศของการรักษาความลับและความขรึมขลังเอาไว้ ทว่าเวลานี้กลายเป็นบุคคลผู้ถูกถากถางเหน็บแนมอย่างกว้างขวาง โดยเขาถูกวิพากษ์ว่าปล่อยให้ธนาคารที่เป็นเสมือนเรือธงของสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ แล่นใบเข้าสู่น่านน้ำอันตรายอย่างสะเพร่า เพราะมุ่งหวังทะเยอทะยานแต่จะก้าวขึ้นเป็นวาณิชธนกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกให้ได้

ทั้งนี้ ออสเพลได้กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า เขาได้ตัดสินใจอย่างเป็นทางการในคืนวันจันทร์(31มี.ค.) ที่จะไม่เข้ารับการคัดเลือกเพื่อเป็นประธานธนาคารต่อไป ในขณะที่ยูบีเอสกำลังเตรียมการเพื่อจัดการประชุมผู้ถือหุ้นและขออนุมัติการเพิ่มเงินทุนฉุกเฉินรอบที่ 2 ในชั่วเวลาเพียงไม่กี่เดือน สำหรับผู้ที่จะมาแทนที่เขานั้น ยูบีเอสแจ้งว่าได้เสนอชื่อ ปีเตอร์ คูเรอร์ กรรมการบริหารของธนาคารซึ่งเป็นทนายความของแบงก์ด้วย มาเป็นประธานคนต่อไป

ยูบีเอสเวลานี้แทบจะเปลี่ยนตัวคณะผู้บริหารระดับสูงกันทั้งหมดแล้ว โดยที่ราคาหุ้นก็หล่นลงมากว่าครึ่งนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน เมื่อวิกฤตซับไพรม์เริ่มปรากฏอาการให้เห็นชัด

อย่างไรก็ตาม การประกาศข่าวล่าสุดของยูบีเอสคราวนี้ กลับดูจะเป็นที่พออกพอใจของนักลงทุน โดยที่หุ้นยูบีเอสพุ่งขึ้นมา 7.0% เมื่อถึงช่วงครึ่งวันของการซื้อขายวานนี้ ดีกว่าระดับราคาของตลาดโดยรวม ซึ่งไต่สูงขึ้นเพียง 2.1% เท่านั้น

บรรดานักวิเคราะห์อธิบายว่า การประกาศครั้งนี้ต้องถือเป็นข่าวดี เพราะแจกแจงรายละเอียดชัดเจนว่าเป็นการตัดทิ้งพวกการลงทุนซึ่งมีความเสี่ยงสูงทั้งหลาย แสดงให้เห็นว่าทางแบงก์กำลังรับมือกับปัญหาได้

นอกเหนือจากยูบีเอสแล้ว ทางด้านดอยช์แบงก์แห่งเยอรมนี ก็แถลงวานนี้เช่นกันว่า ประมาณการไว้ว่าจะต้องตัดลดขาดทุนจากหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ลงมาประมาณ 2,500 ล้านยูโร (3,900 ล้านดอลลาร์) ในไตรมาสแรกปีนี้ พร้อมกับกล่าวด้วยว่า เงื่อนไขต่างๆ เกิดการแปรเปลี่ยนสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมากในระหว่างไม่กี่สัปดาห์ท้ายๆ นี้

ก่อนหน้านั้นในวันจันทร์(31 มี.ค.) เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจใหญ่ของสหรัฐฯซึ่งกำลังตกเป็นข่าวลือว่ามีเงินทุนไม่เพียงพอ ได้แถลงภายหลังตลาดปิดการซื้อขายว่า วางแผนจะเพิ่มทุนเป็นจำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อขจัดคำถามเกี่ยวกับฐานะความมั่นคงของตน

อีรีน แคลลัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของเลห์แมนบอกว่า แผนการนี้มุ่งประสงค์ที่จะให้ผู้คนยุติการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบดุลของทางแบงก์ โดยเงินทุนที่จะระดมนี้ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องนำไปชดเชยผลกระทบจากการตัดลดขาดทุนหรือการขาดทุนของผลประกอบการใดๆ ทั้งนั้น

แบร์สเติร์นส์ ซึ่งเคยมีฐานะเป็นวาณิชธนกิจใหญ่อันดับ 5 ของวอลล์สตรีท เคยถูกนักลงทุนระแวงตั้งคำถามว่ามีเงินทุนเพียงพอหรือไม่ จนในที่สุดก็บังคับให้แบร์ต้องยอมขายตัวเองในราคาเพียงน้อยนิด สำหรับเลห์แมนเป็นวาณิชธนกิจใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ และความหวั่นวิตกเกี่ยวฐานะความมั่นคงก็มีส่วนสำคัญทำให้ราคาหุ้นของเลห์แมนหล่นลงมากว่า 40% นับแต่เดือนกุมภาพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น