xs
xsm
sm
md
lg

ไทยในมุมมองต่างชาติ น่าลงทุน...หรือควรถอยห่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลงทุนผ่านกองทุนรวม ถือว่าเป็นเป็นการลงทุนประเภทหนึ่งที่มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ภาวะตลาดหุ้นไทย ที่ยังคงมีความผันผวน แต่เมื่อเราหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนผ่านการกองทุนรวมมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามค้างคาใจในใจของหลายคน คงหนีไม่พ้นคำถามว่า **“แล้วจะเลือกลงทุนผ่านกองทุนประเภทอะไร ที่จะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า อีกทั้งจะเลือกลงทุนในตลาดไหนดี ระหว่างการลงทุนเมืองไทย และในต่างแดน”**

หลายคน คงมีคำตอบในใจทันทีที่อ่านคำถามข้างต้น ว่า... **“แน่นอนอยู่แล้ว ... การลงทุนในตลาดต่างประเทศย่อมให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า การลงทุนในเมืองไทย แม้ว่าช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งค่า แต่เมื่อแลกเปลี่ยนสกุลกลับมาเป็นสุกลบาท ยังได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนในเมืองไทยอีกเช่นกัน”** ซึ่งต้องยอมรับ ว่านี่คือคำตอบที่ให้ความสมเหตุสมผลได้ดีในระดับหนึ่ง แม้อาจจะดูเหมือนทำให้การลงทุนในประเทศหมดความน่าสนใจ ไปเลยทีเดียว

**“แล้ว..ทำไมตลาดเมืองไทย ถึงไม่น่าสนใจล่ะ?”** ......นี่คือ หัวข้อที่น่าพิจารณากันต่อไป **“ประเทศไทย..ไม่มีศักยภาพในการเติบโตหรือ?”** **“เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่เติบโตหรือ?”** **“ปัจจัยลบต่างๆเข้ามากดดันไทยมากไปหรือ?”** และอีกหลากหลายคำถามที่จะตามมา....ฯลฯ

ปี 2551 ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทย ต่างคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีการเติบโตประมาณ 4.5-5% จากปัจจัยภายในประเทศ ภายหลังจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ โดยถ้าหากรัฐบาลดำเนินนโยบายดังที่ได้มีการประกาศไว้ในการรณรงค์หาเสียง ที่พรรคการเมืองหลักส่วนใหญ่จะมีนโยบายในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ และแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวน่าจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวในทิศทางดีขึ้น และสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวรุนแรงในปีที่ผ่านมา แต่การคาดการณ์นี้ล้วนมาจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนไทยด้วยกันเองทั้งสิ้น **“แล้วมุมมองการลงทุนในประเทศจากสายตานักลงทุนต่างชาติล่ะ เขาเชื่อมั่นบ้านเมืองของเราเพียงไหน?”**

**นาย เรย์ บารอส ผู้จัดการกองทุนในประเทศออสเตรเลียและสิงคโปร์**
กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในประเทศไทยว่า การลงทุนในประเทศยังไม่มีความน่าสนใจ เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยยังไม่เปิดกว้างในการเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเท่าที่ควร โดยเฉพาะมาตรการกันสำรอง 30% การตัดขายขาดทุน(Cut Loss) ก่อนที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงมาไม่ได้ อีกทั้งปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว อาจส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 600 จุดในช่วง 2 เดือนจากนี้ ประกอบกับจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะ ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพที่สหรัฐอเมริกา (ปัญหาซับไพร์ม) จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในประเทศไทยแบบระยะยาวไปจนช่วงกลางปี

**"ในสายตาของผมหากจะพิจารณาลงทุนจะต้องไม่มีปัญหาเรื่อง 30% หรือ cut loss ควรเปิดกว้างในการลงทุน รวมทั้งปัญหาการเมืองน่าจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงให้น้ำหนักการลงทุนในประเทศไทยไม่ดีเท่าที่ควร แต่น่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการให้ความรู้ด้านการลงทุนแก่นักลงทุนในช่วงนี้มากกว่า"**

นาย เรย์ บารอส กล่าวอีกว่า หากพิจารณาถึงการแก้ปัญหาของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในเรื่องซับไพรม์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอย่างที่หลายคนคาดการณ์นั่นคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกา แต่คงจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 –9 เดือน ถึงเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งหนึ่งที่จะตามมาอีกระลอกนั่นคือปัญหาเงินเฟ้อ โดยเรื่องดังกล่าวประเมินว่าจะทำให้เฟด อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว และปัญหาเงินเฟ้อในครั้งนี้จะรุกลามมาจนถึง จีน ดังนั้นเมื่อ 2 ประเทศมหาอำนาจมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ย่อมที่จะส่งผลต่อประเทศไทย และประเทศอื่นๆให้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ตามไปด้วย โดยผู้จัดการกองทุนในประเทศออสเตรเลียและสิงคโปร์ ให้ข้อสังเกตุว่า ให้จับตาดูเฟดถ้ามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกันเมื่อไร นั่นหมายถึงสัญญาณของปัญหาเงินเฟ้อนั่นเอง

**นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอเชียพาร์ทเนอร์ชิพ ฟันด์ กรุ๊ป (APF Group)** กล่าวว่า สำหรับภาวะการลงทุนในตลาดทุนประเทศไทยในไตรมาส1/2551 แม้ว่ามีปัจจัยจากเรื่องการเมืองเข้ามาส่งผลกระทบต่อการลงทุนบ้าง แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังเข็มแข็ง และเชื่อว่าจะเติบโตตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

ส่วนตลาดทุนไทยนั้น ส่วนตัวมองว่ายังเป็นตลาดที่น่าลงทุนอยู่ เนื่องจากยังมี P/E อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ไทย จึงเป็นประเทศที่น่าลงทุนในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดิม

ล่าสุด APF Group ได้จัดงานสัมมนาถึงแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทย ซึ่ง ตัวแทนกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพจากประเทศญี่ปุ่น รวมถึง ผู้ลงทุนจากญี่ปุ่นหลายบริษัท ต่างแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนผ่านAPF Group หรือ อาจเป็นการลงทุนผ่านมาในอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแน่

**"ภายในงาน ผมกับตัวแทนนักลงทุนกองทุนญี่ปุ่นที่มาร่วมงานว่า บอกว่าเมืองไทยดีที่สุด สำหรับลงทุน ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาฟังงานสัมมนาก็ให้ความสนใจการลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก"** นายมิทซึจิ กล่าว

**นายไมเคิล สเปนเซอร์ หัวหน้าสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ สายงานบริหารการเงินและอนุพันธ์ทางการเงิน ประจำภาคพื้นเอเชียของธนาคารดอยช์แบงก์** กล่าวว่า ส่วนใหญ่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีแนวโน้มเศรษฐกิจผกผันตามเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปค่อนข้างมาก แต่เศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างบางประการ คือแม้จะขยับตามเศรษฐกิจสหรัฐบ้าง แต่เป็นเพียงแค่เล็กน้อยโดยจากงานวิจัยของดอยช์แบงก์พบว่า ถ้าหากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปลดลงในอัตรา 1 % จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยลดลงเพียง 0.5 % เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาทิเช่น สิงคโปร์ ซึ่งในสภาวะเดียวกันจะมีอัตราเติบโตลดลงเกือบๆ 4 % หรือถ้าเป็นฮ่องกงและมาเลเซีย อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงเกือบ 3% และ 2 % ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกลับอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ดังผลศึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ในระยะไม่กี่ปีมานี้ไม่พบว่า ทุกๆ 10 % ที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นจะส่งผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยลดลงไปประมาณ 0.6 % ซึ่งมากกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย และเมื่อมีความคาดการณ์ว่า นับจากนี้ไปจนกระทั่งถึงสิ้นปี 2551 ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงมาประมาณ 15 % นั้น อาจจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง จะส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ถึง 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะเดียวกัน นายไมเคิล กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยพึ่งพาการขยายตัวของภาคการส่งออกสูงมาก แต่โอกาสที่แท้จริงของไทยที่อยากจะชี้ให้เห็นนั่นคือ ในภาคการลงทุน ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2551 นี้ ทุกคนจะได้เห็นทั้งการปรับตัวสู่ภาวะปกติของการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในระดับที่มากขึ้นผ่านทางการอัดฉีดงบประมาณการลงทุนของรัฐบาล

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้รับทราบทรรศนะความคิดเห็น ภาวะการณ์ในประเทศไทยผ่านสายตามผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ ไปแล้ว จะพบว่าสิ่งที่นำเสนอ มีทั้งมุมมองในด้านแง่บวก และมุมมองในแง่ลบ มาให้ผู้ลงทุนได้เลือกพิจารณา เพราะไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในประเทศใด ทั้งในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่เพียงแต่ว่าผู้ลงทุนจะยอมรับความเสี่ยงนั้นจะมากหรือน้อยแค่ไหน ...... ดังนั้นจึงหวังว่าข้อมูลที่นำเสนอครั้งนี้ จะสามารถช่วยเพิ่มมุมมองใหม่ๆให้กับผู้ลงทุน..ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก

สุดท้ายนี้ ขอเสนอหลักในการลงทุนของ **สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการบลจ. วรรณ จำกัด** ว่า **"นักลงทุนควรลงทุนอย่างมีสติ การทยอยลงทุนเป็นเรื่องที่ดี การที่ราคาหุ้นตกลงมา บางครั้งเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุน แต่ควรติดตามสภาวะตลาดอยู่ตลอดเวลา และพิจารณาเลือกลงทุนอย่างมีสติ"**
กำลังโหลดความคิดเห็น