xs
xsm
sm
md
lg

ผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำประปาติดข้อกม.อื้อ แต่รง.ยังเดินเครื่องผลิตน้ำป้อนคนภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต – การประปาส่วนภูมิภาค เร่งแก้ปัญหาข้อกฎหมายให้โรงงานผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำประปาที่ภูเก็ต หลังติดขัดกฎหมายเพียบ ทั้งกฎระเบียบมหาดไทย มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ยกเว้นสร้างในที่สูงเกิน 80 เมตร ขณะที่โรงงานไม่หยุด เดินหน้าผลิตน้ำประปาตลอดวันละ 7,000-12,000 คิวต่อวัน แจกจ่ายไปยังพื้นที่หาดกะตะ กะรน และป่าตอง

ตามที่ จ.ภูเก็ต ได้ประสบปัญหาภัยแล้งเมื่อปี 2548 รัฐบาลจึงมีนโยบายให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยให้การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมตามแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะกลาง คือ มอบหมายให้บริษัท อาร์ อี คิว วอเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ผลิตน้ำประปาเพิ่มให้แก่กปภ. โดยแบ่งเป็นระบบประปาผิวดิน 6,000 ลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม.)/วันและระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล (RO) 12,000 ลบ.ม./วัน

ปัจจุบัน บริษัทฯได้ดำเนินการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาทั้ง 2 ระบบแล้วเสร็จ และส่งมอบน้ำประปาให้แก่ กปภ.ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549

ทั้งนี้ บริษัทฯ แบ่งการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลเป็น 5 บริเวณ และมีข้อติดขัดที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย 3 กระทรวงคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ห้ามก่อสร้างโรงงานที่มีปริมาณน้ำทิ้งเกิน 1,000 ลบ.ม./วัน ระเบียบกระทรวงมหาดไทย เรื่องของการเป็นที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อสร้างโรงงาน และระเบียบกระทรวงคมนาคม ต้องขออนุญาตวางท่อในทะเลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และมีข้อติดขัดข้อกฎหมายในเรื่องของบริเวณก่อสร้าง

ประกอบด้วย บริเวณก่อสร้างที่ 1 ที่ดินวางท่อสูบน้ำทะเล อยู่บนที่ดินสาธารณะของกรมที่ดินใช้เนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา บริเวณก่อสร้างที่ 2 คือ ที่ดินวางท่อระบายน้ำทะเลอยู่บนที่ดินสาธารณะของกรมที่ดินใช้เนื้อที่ประมาณ 88 ตารางวา บริเวณก่อสร้างที่ 3 คือที่ตั้งอาคารสูบน้ำทะเลอยู่บนที่ดินสาธารณะของกรมที่ดินใช้เนื้อที่ประมาณ 22 ตารางวา ขนาดของอาคารมีพื้นที่ประมาณ 72 ตารางเมตร สูงจากพื้นดิน 3 เมตร

บริเวณก่อสร้างที่ 4 ตั้งโรงผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล อยู่บนที่ดิน ส.ป.ก. ใช้เนื้อที่ประมาณ 400 ตารางวา อาคารมีขนาดพื้นที่รวม 365 ตารางเมตร สูงจากพื้นดิน 11.95 เมตร และบริเวณก่อสร้างที่ 5 ที่ตั้งถังจ่ายน้ำประปาอยู่บนที่ดิน ส.ป.ก. ใช้เนื้อที่ประมาณ 400 ตารางวา อาคารมีขนาดพื้นที่รวม 580 ตารางเมตร สูงจากพื้นดิน 5 เมตร

นอกจากนี้ ในส่วนของกิจกรรมการดำเนินการของโครงการยังติดขัดกฎหมายต่าง ๆ เช่น ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ห้ามกระทำหรือประกอบกิจกรรมการปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว และประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมและประกาศกรมเจ้าท่า เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้ง

จากปัญหาดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ นายนิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลเกาะภูเก็ต ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสายัณห์ วารีอรุณโรจน์ ผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต พร้อมคณะทำงาน ส่วนราชการและตัวแทนบริษัทอาร์ อี คิว วอเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เพื่อหาแนวทางแก้ไขโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาต่อไป

**เดินหน้าผลิตวันละ 12,000 ลบ.ม.

ขณะที่นายจาตุรงค์ สะดวกการ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อาร์ อี คิว วอเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าวว่า จากการที่นายนิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ ได้มาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเร็วๆนี้ ปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายทั้งหมดของกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นระเบียบผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม นั้นสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด

ยกเว้นในส่วนของมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในประเด็นห้ามก่อสร้างในพื้นที่สูงเกิน 80 เมตร ซึ่งในส่วนของโรงงานผลิตน้ำไม่เกิน 80 เมตร แต่ที่สูงเกิน 80 เมตรคือในส่วนของแท็งก์เก็บน้ำ ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมได้หาแนวทางโดยการนำเสนอเรื่องดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่จะนำเสนอข้อยกเว้นไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำประปา สามารถผลิตได้ตั้งแต่โรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2549 เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอะลุ่มอล่วยให้ เนื่องจากเป็นโครงการที่แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของจังหวัดภูเก็ต

โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภูเก็ต ทั้งหาดกะตะ กะรน และหาดป่าตอง เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่บริษัทฯผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำประปาได้แล้ว ทำให้การขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่ดังกล่าวลดน้อยลง และจากการสอบถามไปยังผู้ใช้น้ำในพื้นที่ที่น้ำไม่เคยไหล ก็มีน้ำประปาใช้แล้ว แต่จะเพียงพอหรือไม่ ยังไม่สามารถรับรองได้ เพราะยังเห็นมีรถบรรทุกน้ำวิ่งบริการน้ำตามจุดต่างๆ

นายจาตุรงค์ กล่าวอีกว่า การผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลในขณะนี้ผลิตได้วันละประมาณ 7,000-12,000 ลบ.ม. ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของกระแสไฟฟ้า และตั้งแต่เดินเครื่องผลิตก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นเมื่อช่วงที่มีคลื่นลมแรงที่พัดท่อน้ำในทะเลได้รับความเสียหายใช้เวลาในการซ่อมแซมประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นการผลิตก็มีต่อเนื่องตลอดทุกวัน

สำหรับโรงงานผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำประปา บริษัทฯ ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 528 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ต้นปี 2549 และเริ่มผลิตครั้งแรกในวันที่ 30 ธันวาคม 2549

โรงงานผลิตประปาจากน้ำทะเลของบริษัทฯไม่มีปัญหาในเรื่องของการเดินเครื่องผลิตสามารถผลิตได้ทุกวันๆ ยกเว้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่เกิดพายุพัดท่อน้ำในทะเลได้รับความเสียหายใช้เวลาซ่อม 1 เดือน ก็สามารถเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น