xs
xsm
sm
md
lg

“เหลิม” ไม่ลงใต้ อ้างไร้นำนาจสั่งการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เหลิม” อ้างลงไปไม่ถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้เพราะไม่มีอำนาจสั่งการ เผยเตรียมหารือ ครม.อภัยโทษให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง หวังซื้อใจ ด้าน "หมอแว" โวยผู้ต้องหาถูกซ้อมจนตาย ระบุ กก.สิทธิฯ เตรียมร้องต่อยูเอ็น ฐานละเมิดสิทธิฯ ขณะที่ ส.ส.พลังประชาชน เสนอใช้ยุทธศาสตร์ 5 ดี 5 ต้อง ดับไฟใต้

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ (26 มี.ค.)ได้มีการ พิจารณาญัตติด่วนการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย มาชี้แจงต่อที่ประชุม

ทั้งนี้ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ ถือว่าสำคัญมากแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา นาย ยะพา กาเซ็ม อิหม่าม ซึ่งอยู่ในการควบคุมของทหาร ตายผิดธรรมชาติในหน่วยทหาร ที่จ.นราธิวาส ชาวบ้านเชื่อว่าโดนซ้อม หรือทรมาน นักสิทธิมนุษยชนเข้าไปตรวจสอบ ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน เมื่อโทรศัพท์สอบถามหมอที่ชันสูตรศพ ก็ได้รับคำตอบว่า อึดอัดใจในการทำหน้าที่

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการทรมานและซ้อม ในปี49-50 สถิติการอุ้มผู้ต้องหาลดลง แต่เปลี่ยนมาเป็นการกักตัว 7-8 เดือน โดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ความมั่นคง กฎอัยการศึก และคำสั่ง กอ.รมน.ภาค4 แทน

ทั้งนี้รูปแบบการซ้อมมีทั้งเกิดร่องรอย และไม่มีบาดแผล เนื่องจากมีการใช้ผ้าพัน และที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ คือ ไม่เปิดโอกาสให้ญาติและทนาย เข้าเยี่ยม ดังนั้นตนจึงเรียกร้องให้รัฐบาล ลงไปตรวจสอบบุคคลเหล่านี้

นายแวมาฮาดี กล่าวด้วยว่า กองกำลังที่ใช้พื้นที่อาทิ ทหารอาชีพ ตำรวจ และ ตชด. ทหารพราน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน กองกำลังรักษาเมือง ซึ่งบางกลุ่มได้ฝึกมาไม่กี่วัน ไม่มีทักษะและมักจะใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย แต่ที่เป็นปัญหาที่สุดคือ การจัดกองกำลังพิเศษของประชาชน 6 พันคนพร้อมจะต่อสู้กับโจรใต้ จึงอยากบอกว่ากองกำลังดังกล่าว ไม่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเรื่องปัญหาใต้

ทั้งนี้ คณะกรรมมาการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เตรียมศึกษาเรื่องนี้เพื่อเสนอต่อองค์การสหประชาชาติ ในเร็วๆนี้ ถึงเวลานั้นนายกรัฐมนตรี จะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร ดังนั้นตนจึงอยากเรียกร้อง ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ว่า รัฐควรสนับสนุนให้มีผู้ช่วยทนายความ แก่ผู้ต้องสงสัยด้วย นอกจากนี้ควร มีหน่วยพิทักษ์ชุมชน มีอาชีพ สนับสนุนงานให้แก่ผู้ว่างงานที่ไม่มีสัญชาติ ผลิตพยาบาลที่พูดภาษาอาหรับ และที่สำคัญทบทวนกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เสนอว่า การแก้ไขปัญหา จ.ชายแดนภาคใต้ จะต้องใช้ 5 ดี คือ 1. การข่าวดี 2. ป้องกันดี 3. ประชาสัมพันธ์ดี 4. มวลชนดี และ 5. กระบวนการยุติธรรมดี และจะต้องใช้ 5 ต้อง คือ 1. ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก 2.ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3. ต้องคิดตามคดีหายของทนายสมชาย นีละไพจิต 4. ดำเนินคดีกับคนที่มีส่วนทำให้เกิดโศกนาฎกรรมที่ กรือเซะ และ 5. ดำเนินคดีกับคนที่ส่วนทำให้เกิดโศกนาฎกรรมที่ ตากใบ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่า ตนเข้าใจจิตใจ นพ.แวมาฮาดี ซึ่งเคยถูกควบคุมตัวยาวนานในเรือนจำ เพราะแม้จะบัญญัติว่าให้ผู้ต้องสงสัยบริสุทธิ์ เว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ความเป็นจริงมีการควบคุมผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่ตัดสิน ร่วมกับจำเลยที่ศาลตัดสินแล้ว

ส่วนที่ตนลงใต้ แต่ไปแค่ จ.สงขลา ขอชี้แจงว่า ชีวิตตนไม่ได้ห่างจากภาคใต้ เป็นตำรวจกองปราบฯ เคยทำงานอยู่ภาคใต้ รู้จัก เข้าใจ ประเพณีคนใต้ แต่ ที่ไม่ได้ลงไป 3จ.ชายแดนโดยตรง เพราะเป็นรมว.หมาดไทย ไม่มีหน้าที่สั่งการตำรวจ ไม่มีอำนาจจะเชิญแม่ทัพ นายกอง มาบรรยายสรุปให้ฟัง ตนดูแลแค่ผู้ว่าฯ และส่วนท้องถิ่น

"หากตั้งให้ผมดูฝ่ายความมั่นคงขึ้นตรงต่อนายกฯ วันนั้นผมจะลงไปนราธิวาสก่อน ส่วนเรื่องควบคุมตัวยาวนาน และไม่ให้เยี่ยม ยอมรับว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล แต่สถานการณ์ภาคใต้ไม่ปกติ จึงออกกฎหมายพิเศษขึ้นมา ผมมีนโยบายใช้การเมืองนำการทหาร หากมอบให้ผมดูแล แล้วมีการชุมนุมรับรองจะไม่มีเหตุรุนแรงเด็ดขาด ผมจะใช้แก๊สน้ำตา ระเบิดควัน แล้วเอาแกนนำออกจากพื้นที่ อย่าเอาอาวุธสงครามไปอยู่ใกล้กับผู้ชุมนุม เพราะเขากำลังเจ็บปวด โกรธเคือง ผมก็บอกผู้บัญชาการภาค 9 ไปแล้ว และบอกนายกฯไปแล้วเช่นกันว่า ต่อไปให้ใช้ระบบปราบจลาจลแบบนี้ ไปใช้ความรุนแรงไม่ได้"

ส่วนกรณี นายยะพา กับลูก 2 คน และพวก 2 คน ที่ราชการตั้งข้อสังเกต เลยเชิญตัวมาควบคุม จึงทำให้เกิดการชุมนุมประท้วง ซึ่งต้องสอบสวนหาสาเหตุการตายที่เกิดขึ้น ส่วนที่ว่าตายเพราะโดนซ้อมนั้น บุตร ภรรยา ของเขาเข้าไปดูการชันสูตรด้วย พบว่า ซี่โครงหัก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เชิญตัวมาต้องถูกสอบสวนดำเนินคดีแน่ ทั้งนี้ไม่อยากให้ น.พ.แวมาฮาดี เข้าใจผิด เพราะได้รับความนับถือในพื้นที่ หากไปพูดโดยไม่เข้าใจ จะทำให้สถานการณ์แย่ลง

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงโดยจัดลำดับความสำคัญว่ามีคดีไหนที่ถอนฟ้องไปแล้ว จะทำให้เกิดความสงบ ความสามัคคี แต่ก็ต้องถามฝ่ายความมั่นคง อัยการ ว่าจะยอมหรือไม่ รวมทั้งคดีที่ผู้ต้องหายังหนีอยู่ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครอยากอยู่ในคุก

นอกจากนี้ ยังได้ดูนักโทษที่ติดคุกคดี แบ่งแยกดินแดน จนถึงขั้นประหารชีวิต เช่น นาย ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ตนกำลังดูว่า บุคคลเหล่านี้ถ้าเอาออกมาแล้วมีประโยชน์ ตนจะหารือกับครม. และฝ่ายความมั่นคง เพื่อขออภัยโทษ ให้กับบุคคลเหล่านี้ให้มาช่วยแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น