xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเอกชนรับมือทุนโลก ธปท.จี้บริหารเสี่ยงล่วงหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ธปท.ยอมรับกระแสการเงินโลกคาดเดายาก แนะผู้ประกอบการเร่งบริหารความเสี่ยงล่วงหน้าเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.5-6% ส่วนปีหน้าคาดขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียงกัน ด้านนักเศรษฐศาสตร์แบงก์ไทยพาณิชย์คาดสิ้นปีเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเศรษฐกิจสหรัฐและราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ว่า กระแสการเงินโลกในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่คาดเดาทิศทางได้ยากว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนค่าเงินบาทของไทยที่มีความผันผวน เป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวจากปัญหาซับไพรม์ และการกู้เงินเยนที่ดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนสกุลเงินอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการที่ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้าที่เคยเกินดุลมาตลอด แต่ 2 เดือนที่ผ่านมานั้นดุลการค้าเริ่มขาดดุลและยังคงจะผันผวนอย่างนี้ไปอีกระยะ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเพื่อให้แข่งขันในตลาดโลกได้

นางสาวสมศจี ศิกษมัต ผู้บริหารส่วน ส่วนดุลการชำระเงิน ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้โดยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่ในระยะต่อไป ความเสี่ยงต่อการส่งออกจะมากขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงว่าจะสามารถทดแทนการส่งออกที่จะชะลอตัวลงได้หรือไม่ แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งดูจากการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังคงแข็งแกร่งอยู่ แต่ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ในด้านของค่าครองชีพ ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ยังคงมีอยู่ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อคงจะมีมากขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

โดยประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2551 คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะมีการขยายตัวได้ 4.5-6% โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะต้องขยายตัวให้ได้ 5% และ 9.5% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าช่วง 2 ปีหลังค่อนข้างมาก โดยงบประมาณในปี 2551 นี้จะเป็นแบบขาดดุล 1.8% ของจีดีพี อัตราการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางเท่ากับ 94% และของรัฐวิสาหกิจเท่ากับ 80% ส่วนประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีนี้

สำหรับสมมติฐานหลักของประมาณการเศรษฐกิจไทยนั้น มองว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2551และ 2552 ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก 12 ชนิด ในปี 2251 ขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2550 แต่จะเริ่มชะลอลงในปี 2552 ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในปี 2551 จะลดลงและปรับตัวดีขึ้นในปี 2552 แต่ยังต่ำกว่าปี 2550 ค่าเงินในภูมิภาคโดยรวมมีแนวโน้มแข็งขึ้นตามแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสมนั้น คือ นโยบายการเงินที่ช่วยดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะเดียวกันต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพื่อรักษาอำนาจซื้อของประชาชนและความสามารถในการแข่งขันในการค้าโลก การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและมาตรการเงินทุนระหว่างประเทศที่ช่วยสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากและเคลื่อนไหวไปตามภูมิภาคและแข่งขันกับต่างประเทศได้ นโยบายการคลังกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อชดเชยการส่งออกที่ชะลอลง และสิ่งที่สำคัญคือการผสมผสานในนโยบายเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวให้สอดคล้องกัน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มองว่าจะมีการขยายตัวที่ 6% ถือว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก หรือจะให้ขยายตัวที่ 5% ก็ยังต้องลุ้นว่าจะได้หรือไม่ โดยตัวเลขที่มองว่าน่าจะเห็นในปีนี้อยู่ที่ 4.5% เนื่องจากภาวะของเศรษฐกิจโลกไม่ดี และจากปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูงซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ หากราคาน้ำมันยังทรงตัวคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2%

“สิ่งที่เราต้องดูไม่ใช่แค่เศรษฐกิจของสหรัฐจะชะลอลงเท่าไหร่ แต่ต้องดูว่าการนำเข้าของสหรัฐจะลดลงเท่าไหร่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเราจะส่งออกไปยังสหรัฐได้แค่ไหน เนื่องจากการที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนนั้นหมายความว่าเขาต้องซื้อของแพง ซึ่งย่อมมีผลต่อการนำเข้าทำให้หดตัวอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกับไทย”

ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอาจทำได้โดยการใช้อุปสงค์ภายในประเทศเข้ามาช่วย แต่ก็ต้องทำแบบแรง ๆ ถึงจะมาชดเชยได้ ซึ่งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ ทั้งจากเรื่องของภาษีกระตุ้นการบริโภคและการกระตุ้นการใช้จ่ายรากหญ้า ซึ่งถือเป็นสิ่งดีที่ออกมาเร็ว แต่ถ้าดูเนื้อในแล้วจะเห็นว่ามาตรการภาษีที่ช่วยเรื่องเพิ่มการลดหย่อนนั้นเป็นการกระตุ้นการออมมากกว่าการบริโภค และงบประมาณรากหญ้าที่ออกมาก็เป็นงบประมาณเดิมที่เคยตั้งมาอยู่แล้ว ดังนั้นโดยรวมจึงไม่น่าจะกระตุ้นการบริโภคได้มากนัก

นายณัฐวุฒิ สัจจพุทธวงค์ นักเศรษฐศาสตร์การเงินอาวุโส กลุ่มบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น ประกอบด้วย ปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น การอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น ประกอบด้วย การเกินดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัด การไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรง และการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิ อย่างไรก็ตามคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะเกินดุลลดลง ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ส่วนเงินลงทุนในหลักทรัพย์เป็นปัจจัยที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดในภาวะที่ความผันผวนในตลาดการเงินโลกมีสูงขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 จะอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐบวกลบเล็กน้อย สำหรับปัจจัยที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงและยาวนาน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อไป อีกทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดุลการค้า รวมถึงนโยบายและกลยุทธ์ของ ธปท.ในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น