xs
xsm
sm
md
lg

“สุนัย” ชำแหละการเมืองทึ้ง DSI

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“DSI มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ถือเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม หากปล่อยให้มีสิ่งสกปรกเจือปนไปแล้ว ก็ย่อมทำให้สายธารนั้นบริสุทธิ์ได้ยาก DSI หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่างก็มีโอกาสถูกแทรกแซงได้ง่าย เพราะไม่ใช่องค์กรอิสระ สายงาน การบังคับบัญชาขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่มาจากภาคการเมือง”

ข้อความเบื้องต้นเป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนที่ นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ “ความเป็นอิสระของ DSI จากการแทรกแซงที่มิชอบ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 11 พ.ศ. 2550 ของสถาบันพระปกเกล้า โดยเนื้อหาที่นายสุนัย ได้วิจัยและกล่าวอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ดังกล่าว จะเป็นการเปรียบเทียบอำนาจหน้าที่และโครงสร้าง DSI กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสอบสวนกลางแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา

รวมถึง ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการตัดสินใจ วิธีการแทรกแซงโดยมิชอบ และผลกระทบจากการแทรกแซง โดยแบ่งย่อยเป็นการแทรกแซงในรูปแบบระบบอุปถัมภ์และอคติ 4 การแทรกแซงจากภายนอก-ภายใน แทรกแซงด้วยวิธีการบริหารจัดการ แทรกแซงด้วยวิธีการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี นอกจากนี้ในวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ยังได้บรรยายถึงความสำคัญของปัญหา ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า กระบวนการยุติธรรมมีองค์กรสำคัญ 4 องค์กร ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ซึ่งองค์กรตำรวจจะสำคัญสุด เพราะมีภารกิจต้องรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสังคม

จนมีผู้เปรียบเปรยว่า เป็นเหมือนต้นธารแห่งความยุติธรรม ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษก็เป็นองค์กรที่บังคับใช้กฎหมายด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาชญากรรมข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรมหรือผู้มีอิทธิพลจึงเป็นองค์กรหนึ่งที่มีภารกิจเช่นเดียวกับองค์กรตำรวจ แต่ออกแบบให้มีความเชี่ยวชาญพิเศษ เป็นองค์กรสหวิชาชีพ เพื่อจะได้ปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมพิเศษที่เปลี่ยนแปลงตามยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง

จนทำให้สามารถปิดบังอำพรางความผิดได้ ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง หรือเป็นผู้มีนักการเมืองสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ใช้อำนาจทุกโอกาสแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมาย ทำให้DSI ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้ตามวัถตุประสงค์ จึงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น DSI จึงมีความจำเป็นที่ต้องเป็นองค์กรอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงทั้งจากภายนอกและภายใน ในการทำงานตามบทบาท อำนาจ และหน้าที่ตามภารกิจ

เนื้อหาของวิทยานิพนธ์ ได้เขียนข้อเสนอแนะถึงปัญหาของการบริหารงานบุคคลและวิชาชีพตำรวจไว้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรใหญ่ มีบุคลากรจำนวนมาก ทำให้การบริหารงานรวมอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้นเพื่อให้การกระจายอำนาจในการบริหารข้าราชการตำรวจมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ตำรวจชั้นผู้น้อยมีช่องทางก้าวหน้าในอาชีพ จึงควรต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่

อย่างไรก็ตาม นายสุนัย ได้เขียนถึงระบบการแทรกแซงกระบวนการยุติกรรม โดยมีทั้งการแทรกแซงจากภายนอกและภายใน ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักการเมือง ส่วนใหญ่จะใช้อิทธิพลและอำนาจรัฐเป็นเครื่องมือกดดัน หรือทำลายล้างขั้วอำนาจ หรือศัตรูทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือปกป้องความผิดของฝ่ายตนเองรวมทั้งการใช้เงื่อนไขอิทธิพลทางการเมืองเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อให้ผลประโยชน์ตกที่พรรคพวกตนเอง โดยเฉพาะ ระบบอุปถัมภ์ หรือระบบอำนาจนิยม ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อระบบนี้มาก

การแทรกแซงจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล โดยการใช้อำนาจทางสังคม เศรษฐกิจ เข้ากดดันการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ในขั้นตอนกระบวนการทำงานด้านสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนการสรุปมีความเห็นทางคดี ซึ่งผู้มีอิทธิพลส่วนใหญ่เป็นผู้มิอิทธิพลทางสังคมชุมชน และทางเศรษฐกิจควบคู่รวมอยู่ในตัวบุคคลเดียวกัน เช่นที่รู้จักในนามเจ้าพ่อ นักเลง ซึ่งผู้มีอำนาจเหล่านี้จะเม็ดเงินเข้าแทรกแซง

การแทรกแซง กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เครือญาติและพรรคพวก ผู้แทรกแซงจะเข้าใช้อำนาจกดดันทางความคิด ความรู้สึก ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยยึดหลักการดูแลปกป้องผลประโยชน์ หรือตอบแทนบุญคุณระหว่างกันและกันเป็นเงื่อนไขในการสร้างภาวะกดดัน

ส่วนการแทรกแซงภายใน จะแทรกแซงผู้นำองค์กร และสายการบังคับบัญชา อาทิ อธิบดี หรือรองอธิบดี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการสูงสุดขององค์กรนั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงเพื่อนร่วมงาน ได้แก่ ผู้บัญชาการสำนัก ผู้อำนวยการส่วน ตลอดจนหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน และเพื่อนที่อยู่ในชุดเดียวกัน บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนร่วมกันก็อาจเข้าแทรกแซงการดำเนินคดี สืบสวนสอบสวนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งได้ ซึ่งการแทรกแซงอาจมีความแนบเนียนจนเพื่อนร่วมงานไม่กังขา หรือเกิดความสงสัยในความเที่ยงตรงได้ เช่นการปิดบังข้อมูลที่ได้มาแต่ผู้เดียว และพยายามเบี่ยงเบนมิให้ผู้ร่วมงานทำการสืบสวนสอบสวนพบข้อมูล

ขณะเดียวกัน วิทยานิพนธ์ยังได้เขียนถึงรูปแบบการแทรกแซงว่า จะใช้วิธีบริหารจัดการ ซึ่งมักทำโดยผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น อาจจะทำในรูปแบบการโยกย้าย หรือการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นระดับอธิบดี รองอธิบดี ผู้บัญชาการสำนัก ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้าชุดปฏิบัติการ เพราะจะเป็นเหตุผลที่ทำให้บุคลากรทุกระดับขั้นขาดความเชื่อมั่นในโครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์กร ขาดความเป็นเอกภาพ

ซึ่งรูปแบบแทรกแซงดังกล่าวจะไม่คำนึงถึงระบบคุณธรรม ซึ่งในวิทยานิพนธ์ ได้กล่าวอ้างอิงกรณีที่น่าศึกษาคดี(CASE STUDT) กรณีที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้พลตำรวจเอกโกวิท วัฒนะ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำระดับ 11 สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีการแต่งตั้งพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่กรณีดังกล่าวศาลปกครงองยังมิได้มีคำวินิจฉัย เนื่องจากต่อมาพลตำรวจเอกโกวิท เกษียณอายุราชการ และมีการเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20 ที่แก้ไขแล้ว มาตรา 46 โดยแต่งตั้งให้ไปรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

นอกจากนี้ยังเขียนถึงวิธีการแทรกแซงการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี ดำเนินการได้ทั้งจากบุคคลภายนอก และจากบุคคลภายในองค์กรด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตนเองหรือบุคคลอื่นพ้นผิดข้อหาแห่งมูลคดี โดยจะมีวิธีการส่งผ่านข้อมูลไปยังบุคคลที่ต้องการจะให้ทราบประเด็น หรือการแทรกแซงอาจเกิดขึ้นในชั้นของการให้รับหรือไม่รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งการแทรกแซงจะรวมถึงรูปแบบการแทรกแซงในการทำความเห็นสรุปรายงานการสอบสวน และ แทรกแซงในการพิจารณาทำความเห็นแย้งตาม ป.วิอาญา มาตรา 145

ในท้ายของวิทยานิพนธ์ นายสุนัย ได้เขียนขมวดปมถึงข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาอย่างน่าฉงนว่า ต้องเร่งสร้างทัศนคติ และค่านิยมในด้านคุณธรรม และจริยธรรมให้เกิดในจิตใจข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษทุกคน เน้นสร้างระบบการควบคุมและตรวจสอบที่ดี ใช้ระบบคุณธรรมในการบริหารจัดการแทน ลดระบบอุปถัมภ์ ส่งเสริมและปกป้องคนดีไม่ให้ถูกรังแก รวมทั้งไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ ที่สำคัญ ต้องเร่งสร้างกลไกการปฎิบัติงานสืบสวนสอบสวนให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล

อีกทั้ง ควรจัดอบรมและสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจรัฐไปในทางมิชอบโดยเฉพาะ สื่อสารมวลชนควรต้องตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตนในการสอดส่องดูแล และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การประพฤติทุจริต และมิชอบของข้าราชการและบุคคลทั่วไป โดยเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมา ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใด ๆ ทั้งนี้ องค์กรอิสระผู้ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายโดยเคร่งครัด หน่วยงาน กคพ.และกพศ.ควรเสริมสร้างตรวจประเมิน กรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างเป็นระบบ

ส่วนในบทสุรปของวิทยานิพนธ์ นายสุนัย เขียนไว้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหน้าที่สำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม หากปล่อยให้มีสิ่งสกปรกเจือปนไปแล้ว ก็ย่อมทำให้สายธารนั้นบริสุทธิ์ได้ยาก จึงมีความจำเป็นที่ข้าราชการจะต้องมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ปลอดพ้นจากการแทรกแซงทั้งปวงหรือภายใต้ความกดดันใด ๆ ซึ่งเมื่อเทียบโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ในปัจจุบันของกรมสอบสวนคดีพิเศษกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสอบสวนกลางแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความเหมือนกันและแตกต่างกันบ้าง แต่เมื่อพิจารณาการแทรกแซง กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสอบสวนกลางแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีโอกาสถูกแทรกแซงได้ง่าย เพราะไม่ใช่องค์กรอิสระ สายงาน การบังคับบัญชาขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่มาจากภาคการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น