xs
xsm
sm
md
lg

สมัครกับอภิรักษ์ : เป็นเหมือนกัน แต่มีต่างกัน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนและนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งสองท่านนี้เป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจ และกลายเป็นข่าวใหญ่ทางสื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากว่าทั้งสองท่านนี้มีทั้งส่วนที่เหมือนกัน และส่วนที่ต่างกัน

เริ่มด้วยส่วนที่เหมือนกัน คือ ทั้งนายสมัคร และนายอภิรักษ์ต่างก็เป็นบุคลากรทางการเมืองในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งบริหารบ้านเมือง โดยที่ท่านแรกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สัดส่วน และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนท่านที่สองได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่เดินอยู่บนถนนการเมือง และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนคนไทยเป็นจำนวนไม่น้อย

ส่วนในประเด็นที่สองท่านนี้ต่างกันในฐานะนักการเมืองเพิ่งจะเกิดให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ก็เมื่อทั้งสองท่านตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันมิชอบเกี่ยวกับการจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม.โดยที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นผู้ลงนามอนุมัติในสัญญาจัดซื้อในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และนายอภิรักษ์ได้เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อจากนายสมัคร และได้มีการดำเนินการต่อตามสัญญาที่นายสมัครได้ดำเนินการไว้ ในจุดนี้จะเห็นได้ว่าทั้งนายสมัคร และนายอภิรักษ์ได้ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้ว่าฯ กทม.ด้วยกันทั้งคู่

แต่ในทันทีที่ คตส.ได้แถลงผลสอบสวนออกมาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อที่ไม่ชอบมาพากล นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ประกาศพักงานในฐานะเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่นายสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้แสดงเจตนาใดๆ ว่าจะพักงานหรือดำเนินการใดๆ เพื่อแสดงสปิริตนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จากจุดที่ต่างกันนี้เอง บรรดาสื่อมวลชนและบุคคลในวงการเมืองต่างก็พากันสรรเสริญการแสดงสปิริตของนายอภิรักษ์ว่าเป็นแบบอย่างนักการเมืองที่ดี และในขณะเดียวกันต่างก็ตำหนินายสมัคร สุนทรเวช ว่าขาดสปิริตของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่าที่ควรจะเป็น

ยิ่งกว่านี้ หลายคนในพรรคพลังประชาชนได้ออกมาปกป้องการไม่แสดงจุดยืนใดๆ ในทางการเมืองของนายสมัคร และในขณะเดียวกันก็ได้ออกมาพูดกระแหนะกระแหนนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ว่าเป็นการสร้างภาพเพื่อกดดันผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกัน ในทำนองว่าเป็นการเอาม้าแลกขุนอะไรทำนองนี้ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ การที่นายสมัคร และนายอภิรักษ์มีความเป็นนักการเมืองเหมือนกัน แต่มีจุดยืนทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคมโดยรวมต่างกันเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจและควรแก่การนำมาวิเคราะห์ทั้งในทางการเมือง และทางสังคม เพื่อเป็นการจุดประกายแห่งความคิดในทางการเมืองให้เกิดขึ้น และเป็นบรรทัดฐานในทางคุณธรรม จริยธรรมที่นักการเมืองควรจะมี และควรจะเป็นด้วย

ในคดีที่ทุจริตการจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม.ซึ่งได้เกิดขึ้นในยุคที่นายสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.และได้มีการอนุมัติจัดทำสัญญาจัดซื้อไว้ และนายอภิรักษ์ได้เข้ามาดำเนินการต่อ ต่อมาได้มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ และทั้งสองคนอยู่ในข่ายว่ากระทำผิด และกระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินการอยู่

ในทันทีที่มีการยื่นฟ้อง นายอภิรักษ์ได้ประกาศพักการทำงานเพื่อเปิดโอกาสให้กระบวนการสอบสวนทำงานได้สะดวก แต่นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกันได้ประกาศยืนยันไม่พักงาน และแถมยังมีการออกมาพูดในทำนองว่า นายอภิรักษ์สร้างภาพเพื่อกดดันทางการเมืองให้ตนเองทำตาม

ไม่ว่าการพักงานของนายอภิรักษ์จะเกิดขึ้นด้วยเจตนาใด แต่ถ้าดูจากสังคมภายนอกที่ตอบรับเรื่องนี้ในเชิงบวกแล้ว ถือได้ว่านายอภิรักษ์ประสบความสำเร็จในการประกาศพักงานในครั้งนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าดูจากเสียงคนทั่วๆ ไปโดยไม่นำเอาพรรคพวกทางการเมืองในซีกที่ให้การสนับสนุนพรรคพลังประชาชนแล้ว ถือได้ว่านายสมัครติดลบในฐานะผู้นำประเทศที่ควรจะมีความสำนึกทางการเมือง และแสดงความรับผิดชอบทางสังคมโดยการประกาศพักงาน หรือถ้าจะให้ชัดเจนก็จะต้องออกมาพูดเป็นเงื่อนไขทางการเมืองในทำนองว่า อะไรทำให้คนสองคนที่เป็นนักการเมืองเหมือนกันมีพฤติกรรมที่แสดงต่อสังคมโดยรวมต่างกัน?

ถ้าดูจากกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช กับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน แล้วพออนุมานได้เชิงตรรกะได้ดังต่อไปนี้

1. นายสมัคร สุนทรเวช ขณะนี้มีอายุถึง 73 ปี และตลอดเวลาที่ผ่านมาในชีวิตของท่านผู้นี้ได้คลุกคลีหรือพูดได้ว่าคร่ำหวอดอยู่บนเส้นทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการเมืองตามครรลองประชาธิปไตย และครรลองการเมืองในรูปแบบของรัฐบาลเผด็จการ

เริ่มด้วยการลงเล่นการเมืองโดยการแจ้งเกิดที่พรรคประชาธิปัตย์ และออกมาตั้งพรรคประชากรไทย และเข้าร่วมรัฐบาลเผด็จการในยุคที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ตัวนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงมหาดไทย

ดังนั้นจึงถือได้ว่านายสมัครเป็นนักการเมืองโดยอาชีพก็ว่าได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงเป็นรูปแบบของนักการเมืองมากกว่าที่จะเป็นรูปแบบของนักวิชาการหรือแม้กระทั่งนักธุรกิจ และที่สำคัญที่สุด พฤติกรรมที่ว่านี้ถูกหล่อหลอมด้วยบรรยากาศทางการเมืองแบบเผด็จการมากกว่าในรูปแบบของประชาธิปไตยที่โดยเนื้อแท้แล้ว ส.ส.จะต้องเข้ามารับใช้ประชาชน และที่เป็นเช่นนี้เข้าใจได้ไม่ยาก ถ้าเพียงแต่ย้อนไปดูบทบาทของนายสมัคร สุนทรเวช ในตำแหน่ง มท. 1 ที่ขัดแย้งกับสื่อมวลชนอย่างรุนแรงถึงขั้นเขียนออกมาเป็นหนังสือชื่อ สันดานคนหนังสือพิมพ์ และภาพในวันนั้นเชื่อว่าคนในวงการสื่อจะจดจำกันได้เป็นอย่างดี และจากอุปนิสัยที่สั่งสมมาแบบนี้อย่างยาวนาน จึงมิใช่เรื่องแปลกที่นายสมัคร สุนทรเวช ถึงแม้จะมีตำแหน่งผู้นำประเทศจะแสดงความเป็นตัวของตัวเองในทุกเรื่อง แม้กระทั่งจุดยืนทางการเมืองในเรื่องที่ตรงกันข้ามกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ส่วนว่าเมื่อแสดงแล้วจะเป็นลบหรือเป็นบวกกับตัวเอง ตลอดถึงรัฐบาลหรือไม่เป็นเรื่องที่สังคมโดยรวมมอง โดยมีอัตวิสัยและภาวะแวดล้อมทางสังคมแตกต่างไปจากของนายสมัครก็เท่านั้นเอง

2. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในปัจจุบันอยู่ในวัยที่เรียกได้ว่าต่างยุคกับนายสมัคร และที่สำคัญ ชีวิตก่อนเข้าสู่สนามการเมืองได้เติบโตในธุรกิจภาคเอกชนที่มีภาวะแวดล้อมไปคนละแบบกับสังคมการเมือง เฉกเช่นนักการเมืองอาชีพอย่างนายสมัคร

ดังนั้น การที่นายอภิรักษ์จะมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบคนรุ่นใหม่ที่ทำอะไรต้องคอยดูกระแส และแคร์สิ่งแวดล้อมทางสังคมจะแตกต่างออกไปชนิดขาวกับดำ

ส่วนว่าการที่นายอภิรักษ์มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างออกไปจากนายสมัคร เป็นการสร้างภาพหรือไม่ ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมาผู้เขียนก็เชื่อเป็นการสร้างภาพ แต่เป็นภาพด้านบวกให้แก่ตัวนายอภิรักษ์เองและวงศ์ตระกูล รวมไปถึงพรรคการเมืองที่ตัวเองสังกัดคือพรรคประชาธิปัตย์ด้วย และการสร้างภาพในทำนองนี้ ถ้ามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมและยึดสังคมการเมืองโดยรวมแล้วน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะเท่ากับช่วยยกระดับสามัญสำนึกของนักการเมืองให้สูงขึ้น และสอดคล้องกับการเมืองยุคโลกไร้พรมแดนเช่นในทุกวันนี้

ในทางตรงกันข้าม การเล่นการเมืองโดยยึดแนวคิดในเชิงอัตวิสัยโดยไม่ใส่ใจสังคมรอบข้างเช่นที่นายสมัครเป็นอยู่ ถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อมองในแง่ของการเมืองร่วมสมัยแล้วไม่น่าจะถูกต้อง และพูดได้ว่ามีความสามารถในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตัวเอง และนักการเมืองร่วมพรรคได้อย่างมีเหตุมีผล

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าด้วยวัย 73 ปี และการได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายทางการเมืองของตัวเองแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช คนที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวของตัวเองคงจะได้คิด และทำอะไรให้เด็กรุ่นหลังจดจำในแง่ดีในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น