xs
xsm
sm
md
lg

เล่ห์ ปตท.ไม่มีดีเซลในปั๊มบีบผู้ใช้เติมน้ำมันบี 5 แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปตท.สร้างภาพอุ้มดีเซลผู้ใช้บริการครวญหาเติมน้ำมันดีเซลในปั๊มปตท.ไม่ได้ มีแต่น้ำมันบี 5 อ้างหัวจ่ายไม่เพียงพอ ต้องเลือกขายน้ำมันบีบผู้ใช้ดีเซลทางอ้อม นักวิชาการหวั่นอุ้มดีเซลแก้ปัญหาเล็ก ก่อปัญหาใหญ่ ซ้ำรอยประชานิยมยุค"แม้ว"เสียสมดุลการใช้เบนซินกับดีเซล เหตุราคาต่างกันมาก รัฐต้องรับภาระค่าชดเชยกว่า 6,000 ล้านบาท หากอุ้มราคาดีเซลนาน 5 เดือน ส่วน"รัฐบาลหมัก"เพิ่งตื่น ให้รณรงค์ประหยัดพลังงาน

นายวิทยา หวังจิตรารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายค้าปลีกปตท. เปิดเผยว่าว่า สิ้นเดือนนี้ ปตท.มีแผนที่จะยกเลิกการขายเบนซิน95 เพื่อหันมาจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 และไบโอดีเซล (บี5) แทนเพื่อสนองนโยบายรัฐในการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะบี 5 ขณะนี้ที่ปตท. มีปั๊มจำหน่ายอยู่ 600 แห่งและมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปั๊มขายบี 5 อีกเดือนละ 150 แห่ง จนครบหมด 1,100 แห่งที่มีอยู่ในสิ้นปี

ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการที่ปั๊มปตท.ในช่วงที่ได้ประกาศอุ้มน้ำมันดีเซลให้มีราคาต่ำกว่าปั๊มทั่วไปถึงลิตรละ 1 บาท แต่มีผู้ใช้บริการบางปั๊มพบว่าเมื่อเข้าไปในปั๊มแล้วไม่มีน้ำดีเซลขาย แต่จะมีเฉพาะน้ำมันบี 5 แทน ทำให้ผู้ใช้บริการต้องหันไปเติมน้ำมันบี 5 แทน เพราะไม่มีน้ำมันดีเซลเหมือนปั๊มอื่นๆ แม้ว่าจะยังไม่มั่นใจว่าการใช้น้ำมันบี 5 จะมีปัญหากับเครื่องยนต์ของตนเองหรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นการบังคับให้ผู้ใช้รถหันมาใช้น้ำมันบี 5 แทนน้ำมันดีเซลโดยปริยาย ส่วนผู้ใช้รถบางรายไม่มั่นใจก็จะหันไปเติมน้ำมันค่ายอื่นแทน โดยยอมเสียเงินค่าน้ำมันเพิ่มอีกเล็กน้อย แลกความมั่นใจ

" ขณะนี้ในเขตกรุงเทพมหานคร ปั๊มปตท.จะมีบี 5 ขายควบคู่ไปกับบี2 แต่ยอมรับว่า บางปั๊มอาจจะขายบี 5 อย่างเดียว เพราะมีปัญหาเรื่องคลังน้ำมัน หัวจ่าย ถังใต้ดินที่มีจำกัด ต้องเลือกขายอย่างใดอย่างหนึ่ง และส่วนใหญ่ก็จะมองบี 5 เพราะได้ค่าการตลาดดีกว่า เนื่องจากการที่ตรึงราคาดีเซลไว้ต่ำกว่ารายอื่นๆ 50 สตางค์ต่อลิตร ทำให้รับภาระส่วนนี้มากอยู่แล้ว เพราะค่าการตลาดติดลบ" นายวิทยากล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าบางปั๊มปตท.จะขายบี 5 อย่างเดียวที่มีราคาต่ำกว่าดีเซลปกติ (บี2) 70 สตางค์ต่อลิตร และหากเทียบกับบี 2 รายอื่นที่สูงกว่าปตท. 50 สตางค์ต่อลิตร จะทำให้คนเติมบี 5 ปตท.มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเติมบี 2 ถึง 1.20 บาทต่อลิตร ปตท.ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเทคนิคที่จะทำให้ยอดขายดีขึ้นอะไร เพราะการที่ค่าการตลาดติดลบยิ่งชะลอราคาต่ำกว่ารายอื่น ปตท.ก็ยิ่งแบกภาระมากขึ้นเท่านั้น และบี 5 ที่เติมบี 100 จำนวน 5% ปตท.ก็รับประกันเครื่องยนต์อยู่แล้ว เพราะไม่ได้เป็นปัญหาอะไร

คนแห่ใช้เอ็นจีวีทะลัก

นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัทปตท. กล่าว่วา จากปัญหาน้ำมันแพง ทำให้ยอดการใช้ก๊าซในรถยนต์หรือเอ็นจีวี เพิ่มขึ้นถึงวันละ 1,400 ตันจากต้นม.ค.ที่อยู่แค่ 1,000 ตันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเติบโตอย่างมาก ดังนั้นปตท.ได้พยายามทุกทางที่จะเร่งเพิ่มสถานีก๊าซซึ่งขณะนี้มีปั๊มเอ็นจีวีที่เปิดให้บริการจำนวน 181 แห่ง และมีปั๊มก่อสร้างเสร็จแต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้อีก 40 แห่ง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องปริมาณเอ็นจีวี แต่เชื่อว่าหลังจากปตท.พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆแล้ว ในช่วงเดือนก.ค.นี้ ทุกอย่างจะคลี่คลายลงได้

"ยังกังวลกับยอดการใช้เอ็นจีวี ที่เพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่คาดว่ากลางปีจะมียอดใช้อยู่ที่วันละ 2,300 ตัน อาจจะมีปริมาณเพิ่มมากที่คาดการณ์ก็ได้ เพราะเพียงแค่ 2 เดือนแรก ก็เพิ่มขึ้นจากปกติถึงวันละ 400 ตัน มาอยู่ที่วันละ 1,400 ตันแล้ว" นายณัฐชาติ กล่าว

ปตท.ขอดูตลาดโลก1-2วัน

นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 1-2 วันนี้ ปตท.คงยังไม่ปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันขายปลีก แม้ขณะนี้ปั๊มน้ำมันต่างชาติขายดีเซลแพงกว่าปตท. 50 ส.ต./ลิตร โดยจะขอติดตามราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ในช่วง 1-2 วันนี้ก่อน เพราะมีแนวโน้มว่าอาจจะปรับลดลงตามตลาดสหรัฐฯ และอังกฤษที่ปรับลดลง 4-5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเมื่อวันที่ 17 มี.ค.

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน กล่าวว่า ทิศทางน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง 5-6 เหรียญต่อบาร์เรล คงจะต้องติดตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์วันที่ 18 มี.ค.ว่าจะลดลงแรงหรือไม่ ซึ่งหากลดลงตามกันโอกาสจะที่สัปดาห์นี้ราคาน้ำมันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกก็เป็นไปได้ แต่หากลดลงไม่มากปตท.และบางจาก ที่มีดีเซลต่ำกว่ารายอื่น 50 สต.ต่อลิตร ก็อาจจะต้องขยับตามเพราะค่าการตลาดยังคงต่ำอยู่มาก

อุ้มดีเซลแก้ปัญหาเล็กก่อปัญหาใหญ่

ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายวิชาพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยถึงมาตรการของรัฐบาลในการอุ้มราคาดีเซล 90 สตางค์ต่อลิตรว่า อาจเป็นการแก้ปัญหาเล็ก แต่ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ เนื่องจากการอุ้มราคาดีเซล 90 สตางค์ต่อลิตร จะช่วยให้ดีเซลมีราคาถูกลง3% ซึ่งหากธุรกิจด้านขนส่งมีต้นทุนจากเชื้อเพลิงคิดเป็น 50%ของต้นทุนทั้งหมด การอุ้มราคาดีเซลจะช่วยลดต้นทุนลงเพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งราคาสินค้าแทบไม่จะถูกลงเลย ขณะเดียวกันการอุ้มราคาดีเซลกลับทำให้ราคาน้ำมันดีเซลกับเบนซินมีส่วนต่างกันมากขึ้น มีผลเชิงลบด้านจิตวิทยาไปกระตุ้นให้ผู้ซื้อรถใหม่หันมาใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลแทนเบนซิน และจะนำไปสู่การเสียสมดุลระหว่างสัดส่วนการใช้รถยนต์เบนซินกับดีเซลให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันน้ำมันดีเซลที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จนต้องมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม

สำหรับน้ำมันเบนซินที่มาจากการกลั่นที่เกินกว่าความต้องการใช้ในปัจจุบัน โรงกลั่นจะต้องส่งขายไปยังประเทศอื่น โดยที่ปัจจุบันราคาขายน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปในตลาดโลกที่สิงคโปร์ จะมีราคาต่ำกว่าราคาขายของน้ำมันดีเซล และจากความไม่สมดุลนี้เอง อาจทำให้รัฐบาลต้องประสบปัญหาเรื่องการจัดหาน้ำมันดีเซล

"ประเด็นค่าชดเชยในส่วนที่มาของการอุ้มดีเซลอีก 90 สตางค์ต่อลิตรนั้น หากรัฐวางแผนจะดำเนินนโยบายนี้เป็นเวลา 5 เดือน จะทำให้รัฐต้องชดเชยราคาน้ำมันกว่า 6,000 ล้านบาท โดยยังไม่รู้ว่าจะนำเงินส่วนใดมาชดเชย ซึ่งปัญหาลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นแล้วอีกเช่นเดียวกันในสมัยที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นรมว.พลังงาน ที่รัฐต้องชดเชยค่าอุดหนุนราคาน้ำมันกว่า 80,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ภาครัฐกลับต้องใช้เวลาล้างหนี้เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ดังนั้น การแก้ปัญหาราคาน้ำมัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองย้อนกลับไปในอดีตว่าเคยเกิดปัญหาอะไรบ้าง"

ประธานสายวิชาพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาการจัดเก็บภาษีรถที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ให้แพงขึ้น เพื่อให้ประชาชนหันกลับมาใช้รถที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่ารถเครื่องยนต์ขนาดใหญ่มาก รวมถึงการกำหนดให้ผู้ผลิตต้องติดฉลากประหยัดพลังงานแบบเดียวกับฉลากเบอร์ห้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อระบุถึงความสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิงรถยนต์แก่ผู้ซื้อเพื่อการตัดสินใจ และเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องแข่งขันกันผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานให้มากขึ้น

รัฐบาลเพิ่งตื่นรณรงค์ประหยัดพลังงาน

น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีทั้งระยะสั้น และปานกลางด้วยการนำรายได้จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงกว่า 33 ล้านบาทต่อวัน มาลดต้นทุนดีเซล 90 สตางค์ต่อลิตร ส่วนแผนระยะยาว ให้เร่งส่งเสริมการใช้เอ็นจีวี เพิ่มขึ้นเป็น 240,000 คัน สำหรับรถยนต์ทั่วไป รถบรรทุกโดยตรง 88,000 คัน เพิ่มสถานีบริการเป็น 725 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเรือประมงจะช่วยเหลือสำหรับเรือประมงชายฝั่ง หรือน้ำมันม่วง โดยมีราคาต่ำกว่าดีเซลบนบก 2 บาทต่อลิตร ส่วนระยะยาวจะสนับสนุนให้ใช้ เอ็นจีวี เพื่อลดภาระต้นทุน ส่วนเรือประมงน้ำลึก ห่างจากชายฝั่ง 12-24 ไมล์ทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน จะให้ใช้น้ำมันเขียว ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี และไม่เก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ทำให้ราคาถูกกว่าเบนซินบนบก 5-6 บาทต่อลิตร สำหรับกลุ่มธุรกิจการขนส่งและเกษตรกร รถกระบะ รถตู้ จะส่งเสริมให้ใช้ไบโอดีเซล บี 5 เพราะจะถูกกว่าดีเซลธรรมดา 70 สตางค์ต่อลิตร

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้น โดยคลังยังขยายเวลาการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี และอุปกรณ์ออกไปอีก 4 ปี สิ้นสุดปี 2555 ส่วนการแก้ไขปัญหาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) นั้น เห็นชอบให้รักษาระดับแอลพีจีไว้ที่ระดับราคาอิงตลาดโลก แต่สำหรับแอลพีจีที่นำไปประกอบกิจกรรมอื่นให้ปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชำระหนี้ชดเชยการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ

ด้านน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวถึง ปัญหาราคาน้ำมันแพงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการรณรงค์ประหยัดพลังงานให้มากขึ้นแม้ว่า ที่ผ่านมาจะมีสำนึกในเรื่องนี้อย่างดีแล้ว แต่ก็ต้องตอกย้ำ และเน้นให้มากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น ซึ่งในที่ประชุมรมว.พลังงาน ได้ชี้แจงถึงแนวทางการใช้พลังงานทางเลือกคือ ก๊าซแอลเอ็นจีและเอ็นจีวี เพื่อนำไปใช้ทดแทนในเรือประมงหรือระบบขนส่งที่ใช้น้ำมันมากอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น