xs
xsm
sm
md
lg

ชงรัฐบาลฆ่าตัดตอนคตส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (17 มี.ค.) นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนคณะนักวิชาการ เข้ายื่นหนังสือต่อนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสนช. รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 50 เนื่องจากเป็นช่วงที่การเมืองไทยถูกกุมอำนาจโดยกลุ่มรัฐประหาร
เมื่อขณะนี้มีสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลได้ตรวจสอบ และทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่มีไม่ต่ำกว่า200 ฉบับหากฉบับใดมีประโยชน์ สภาผู้แทนฯก็สามารถนำมารับรองก็ได้ ขณะเดียวกัน หากพบว่ากฎหมายใดเป็นโทษ ก็สามารถยกเลิก แล้วออกกฎหมายฉบับใหม่มาแทน หรือปรับปรุงแก้ไข
นายวรพลได้ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญปี 50 เรื่องการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่กำหนดให้มีส.ว.ที่มาจากการสรรหา และการเลือกตั้ง ตรงนี้ถือว่าขัดต่อระบอบประชาธิไตย และจะเกิดปัญหาในอนาคต และ ยังมีพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ที่สงสัยว่า จะซ้ำซ้อนกับโครงสร้างการเมืองท้องถิ่น
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เสนอต่อวิปรัฐบาล เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม เพื่อศึกษาในเรื่องนี้ โดย นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการทบทวนประกาศคำสั่ง คปค.ว่า น่าจะรวมอยู่ด้วย รวมถึงการประกาศตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ด้วย เพราะประกาศ คปค.หลายฉบับ สนช.มีส่วนในการรับรองด้วย เช่น การประกาศขยายอายุ คตส. นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าหากจะฟ้อง คตส.จะต้องไปร้องต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ก่อนฉะนั้นจึงมีความเกี่ยวพันกัน
เมื่อถามว่าหากทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดข้อครหาว่าฝ่ายรัฐบาลพยายามตัดตอนกระบวนการยุติธรรม หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรายังไม่ได้บอกว่าจะยกเลิก หรือทำอะไร เพียงแต่เมื่อนักวิชาการยื่นเรื่องมา ก็เห็นว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา โดยเราเน้นว่าหากอะไรที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมก็ควรได้รับการแก้ไข แต่รายละเอียดทางคณะกรรมาธิการฯ จะไปพิจารณา
นายวรพล กล่าวด้วยว่าประกาศ คปค.ว่าด้วยการตั้ง คตส.นั้น ในส่วนความเห็นของนักวิชาการ เห็นว่ากฎหมายที่ออกมาหลายฉบับขัดต่อหลักนิติธรรม เช่น คตส.เป็นกลุ่มคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยอำนาจรัฐประหาร และใช้อำนาจทางการเมืองในการวินิจฉัยตัดสินการกระทำของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า เป็นกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม
นายวรพล ยังกล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยคดียุบพรรคว่า เป็นการใช้ข้อเท็จจริงที่ไม่มีการพิสูจน์ทางกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากมีการใช้ข้อกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม คือมีการกำหนดโทษย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายค้าน พร้อมทั้งขอให้สภาผู้แทนราษฎร รวบรวมเอกสารกฎหมายที่ยังรวบรวมไม่ได้มาให้กลุ่มเราได้ศึกษา
ด้านนายวสันต์ ลิมป์เฉลิม อาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี กล่าวว่า การเพิกถอนสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 5 ปี หลังวินิจฉัยการยุบพรรคแล้วตรงนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 เป็นตัวอย่างกฎหมายที่ขัดต่อ นิติธรรม
สำหรับรายชื่อคณะนักวิชาการผู้ร่วมเสนอให้ทบทวนกฎหมาย สนช. เป็นอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ประกอบด้วย นายวรพล พรหมิกบุตร ม.ธรรมศาสตร์ นายวสันต์ ลิมป์เฉลิม ม.ราชภัฎธนบุรี นายภูริชญา วัฒนรุ่ง นายธีระ สิงหพันธุ์ นายนิพนธ์ จูห้อง นายจรัญ โฆษณานันท์ นายภูมิ โชคเหมาะ นายวินัย ล้ำเลิศ ม.รามคำแหง นายเจนพล ทองยืน ม.ราชภัฏจันทรเกษม นายเมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ ม.มหามกุฎราชวิทยาลัย และนายเอกพงษ์ สารน้อย ม.ราชภัฏจันทรเกษม
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในส่วนของนายเมธาพันธ์ ถือเป็น 1 ใน 9 แกนนำนปก.รุ่นที่ 2 ที่เคยขึ้นเวทีปราศรัยโจมตี คมช. ที่ท้องสนามหลวง รวมถึงนายวรพล พรหมิกบุตร ที่เป็นถูกทาบทามให้เข้ามาดูแลสถานี โทรทัศน์ เอ็มวี 26 เพื่อนำเสนอข่าวสารในการเลือกตั้งช่วงปลายปีของพรรคการในซีกกลุ่มอำนาจเก่า นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่านายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ อดีตแกนนำนปก.รุ่น 1 ได้ทาบทามนายวรพล ให้มาดำรงตำแหน่งโฆษกรัฐบาล แต่ภายหลังพล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ คนสนิทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน
ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย เลขานุการ วิปรัฐบาล กล่าวถึงเรื่องการทบทวนกฎหมายยุคสนช. ว่า นักวิชาการไม่ได้เสนอผ่านวิปโดยตรง เพียงแต่เสนอผ่านทุกพรรคการเมือง จึงยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น