xs
xsm
sm
md
lg

โพลตบหน้า “มิ่ง” แก้ของแพง สอนเพิ่มเงินกระเป๋าคนซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลชี้ชัดนโยบายตรึงและลดราคาสินค้าฉบับ “มิ่งขวัญ” แก้ปัญหาไม่ตรงจุด บิดเบือนตลาด สอนมวยต้องลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน หอการค้าไทยแนะลดต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง วัตถุดิบผู้ประกอบการ จะเห็นผลทำให้สินค้าลดราคาได้เร็วกว่าการบีบคอ ส่วนผู้ผลิตจวกไม่มีแผนแก้ปัญหาระยะยาว ด้าน รมว.พาณิชย์เงา เข้าพบเสนอ 9 มาตรการแก้ของแพง

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการแทรกแซงราคาสินค้า จำนวน 400 ตัวอย่าง ว่า ผู้ประกอบการ 44.6% เห็นด้วยปานกลางกับการแทรกแซงราคาสินค้าให้ต่ำลงในปัจจุบัน 29.2% เห็นด้วยมาก 21.5% ไม่เห็นด้วย และ 4.6% เห็นด้วยน้อย โดยผู้ประกอบการเห็นว่าการแทรกแซงราคาให้ต่ำลงควรจะทำตามความจำเป็นและข้อเท็จจริง โดยให้น้ำหนักสูงถึง 72.31% แทรกแซงให้สูงกว่าต้นทุนเล็กน้อย 26.15% และแทรกแซงเท่ากับต้นทุน 1.54%

“ผู้ประกอบการเห็นว่า การดูแลราคาสินค้าทุกประเภท จะต้องให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ควรจะเพิ่มหรือลดราคาลงตามต้นทุนที่แท้จริง เพื่อไม่ให้เกิดความเดือนร้อนทั้งฝ่ายผู้บริโภคและผู้ผลิต”

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ในการให้ราคาสินค้าเป็นไปตามราคาตลาดในปัจจุบัน ผู้ประกอบการ 27.7% เห็นด้วยมาก 27.7% ไม่เห็นด้วย 24.6% เห็นด้วยปานกลาง และ 20% เห็นด้วยน้อย เมื่อถามถึงการแทรกแซงเฉพาะสินค้าที่เป็นต่อการดำเนินชีวิต 63.5% เห็นด้วยมาก 19% เห็นด้วยปานกลาง 14.3% ไม่เห็นด้วย และ 3.2% เห็นด้วยน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจครั้งนี้ ผู้ประกอบการสูงถึง 75.38% เห็นว่าการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพงในปัจจุบันโดยการควบคุมราคา เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสม มีเพียง 18.46% ที่เห็นว่าเหมาะสม และ 6.15% ไม่มีความเห็น โดยให้ข้อเสนอกับภาครัฐว่า การแก้ไขปัญหาจะต้องลดต้นทุนทั้งระบบ ไม่ใช่ลดปลายทางอย่างที่ทำอยู่ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และควรจะเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ

สำหรับการสำรวจทัศนะประชาชนเกี่ยวกับการควบคุมราคาสินค้า จำนวน 1,200 ตัวอย่าง พบว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วย 37.9% เห็นด้วยปานกลาง 34.2% เห็นด้วยน้อย 13.5% และไม่เห็นด้วย 14.4% สินค้าที่ต้องการให้ควบคุมราคาในปัจจุบัน คือ สินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมาคือ พลังงาน เนื้อ หมู ไก่ สินค้าฟุ่มเฟือย ผักและผลไม้ โดยสิ่งที่คนอยากเห็นมากที่สุด คือ การดูแลราคาจะต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามต้นทุนว่าควรจะเพิ่มหรือลดราคา ถ้าขึ้นก็ขึ้นตามความจำเป็น และเห็นว่าควรจะให้ราคาคงที่หรือให้ราคาลดลงมีไม่มาก

ส่วนการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพงในปัจจุบันนี้ 59.5% เห็นว่ายังไม่เหมาะสม 32.4% เห็นว่าเหมาะสมแล้ว และ 8.1% ไม่มีความเห็น โดยผู้ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะจำนวนรายการสินค้าที่ลดราคาน้อยเกินไป หรือลดราคาน้อยไป

การสำรวจในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ โดยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และร มว.พาณิชย์ ได้ประกาศว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตสินค้านำสินค้าอุปโภคบริโภคมาลดราคาสูงถึง 60 รายการ ตั้งแต่ 5-10% เป็นระยะเวลานาน 3-6 เดือน

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก หอการค้าไทย กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือตรึงราคาหรือลดราคานั้น สามารถทำได้ระยะสั้นๆ ระยะเวลาไม่ควรเกิน 1-2 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค แต่ระยะยาวจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และรัฐควรจะหาทางช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าขนส่ง ต้นทุนวัตถุดิบ เพราะหากทำให้ต้นทุนส่วนนี้ลดลงได้ ราคาสินค้าก็จะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งดีกว่าการมาขอให้ผู้ประกอบการลดราคา เพราะไม่ถาวร

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย กล่าวว่า การดูแลราคาสินค้าทุกคนเห็นด้วย แต่ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยเบื้องต้นเห็นว่าควรจะทำ 3-4 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องเพิ่มเงินในมือประชาชน เพราะเมื่อประชาชนมีเงินมากขึ้น ราคาสินค้าขึ้น ก็คงไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริง รัฐบาลจะต้องยอมใช้เงินของตัวเองเข้ามาแทรกแซง เช่น การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การลดภาษีรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เพราะหากช่วยลดต้นทุนตรงนี้ได้ เชื่อว่าสินค้าจะไม่แพงขึ้นมาก

ส่วนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อ เพราะรัฐบาลนำเงินตัวเองมาเพิ่มให้กับข้าราชการ แต่หากลูกจ้างจะมีการเรียกร้องขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างด้วย เป็นการเพิ่มกำลังซื้อก็จริง แต่กลับเป็นภาระของผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจให้ดีก่อนดำเนินนโยบาย

ผู้ผลิตจวกไม่มีแผนแก้ไขระยะยาว

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวถึงการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงของกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมาว่า กรมการค้าภายในไม่เคยมีแผนระยะยาว ไม่เคยมองภาพรวมของการค้าทั้งระบบ สนใจเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เท่านั้น เพราะในช่วงที่ผ่านมาปล่อยให้สินค้าจำเป็นหลายสิบรายการปรับขึ้นราคาไปแล้วส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง แล้วจะมาเรียกให้ผู้ผลิตปรับลดราคาลงเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นซึ่งไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด

“ราคาน้ำมันขึ้นต่อเนื่องมากว่าสองปีแล้ว แน่นอนต้นทุนสินค้าก็ต้องเพิ่มขึ้นตามตัว แต่ในปีที่ผ่านมากลับประกาศอย่างต่อเนื่องว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% กว่า ๆ ทั้ง ๆ ที่ราคาสินค้าต่าง ๆ ขึ้นไปแล้วการแก้ไขปัญหาในลักษณะปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าไม่เคยมองปัญหาในภาพรวมอย่างเป็นระบบ”แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่าสินค้าในตลาดมีเป็นหมื่น ๆ รายการ กรมการค้าภายในจะเข้าแทรกแซงเพื่อให้ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายลดราคาลงหมดทีละรายการหรือไม่ เพราะขณะนี้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายก็เริ่มลดปริมาณของสินค้าต่อกล่องหรือต่อขวดลงแล้ว เพื่อขายในราคาเดิม ซึ่งผลสุดท้ายมาตรการของกรมการค้าภายในก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคแต่อย่างใด

“ตอนนี้ผู้ผลิตหลายรายมีการปรับลดปริมาณสินค้าลง เพราะไม่ต้องการปรับขึ้นราคาเนื่องจากเกรงว่าผู้บริโภคจะไม่ซื้อสินค้า หากผู้บริโภคไม่สังเกตก็จะไม่รู้ว่ามีการปรับลดขนาดหรือปริมาณลง แต่ถ้าเป็นสินค้าประเภทอาหารจะเห็นว่ามีการลดปริมาณลงอย่างชัดเจน หรือบางรายก็ปรับขึ้นราคาเพิ่มขึ้นอีก 5-10 บาทต่อจาน“

ปชป.แนะ 9 มาตรการแก้ของแพง

วานนี้ นายโพธิพงษ์ ล่ำซ่ำ รองนายกรัฐมนตรีเงา นายเกียรติ สิทธีอมร รมว.เงาพาณิชย์ และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.เงาพาณิชย์ได้เข้าพบนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รมว.พาณิชย์ เพื่อยื่นข้อเสนอแนะ 9 ข้อ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง ประกอบด้วย

1.ให้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ ประกาศราคาสินค้าควบคุม และราคาสินค้าอ้างอิง ให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมกับระบุหมายเลขติดต่อเพื่อให้ผู้บริโภค สามารถร้องเรียนมายังหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ได้ และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลสินค้ามีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น

2.ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนควรนำพ.ร.บ.การกำหนราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาบังคับใช้ เพื่อแก้ปัญหาการขึ้นราคาสินค้าไม่เป็นธรรม

3. กระทรวงพาณิชย์ต้องตรวจสอบการขึ้นราคาสินค้าทางอ้อม ด้วยการลดปริมาณหรือลดคุณภาพสินค้า 4.รัฐบาลควรพิจารณามาตรการลดต้นทุนการผลิตสำหรับสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน สำหรับน้ำดีเซล ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับราคารักษาโรคที่จำเป็น เป็นต้น 5.สำหรับโครงการสินค้าราคาถูก "ธงฟ้า" ควรเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตในระดับท้องถิ่น เข้าร่วมอย่างทั่วถึงทุกจังหวัด

6.ส่วนโครงการร้านอาหารมิตรธงฟ้า ที่จำหน่ายอาหารราคาถูก ควรมีการกระจายไปอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมนท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการอย่างทั่วถึง 7.ควรจัดให้มีตราชั่งกลาง ที่ได้มาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ ในทุกตลาด หรือทุกพื้นที่ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบน้ำหนักสินค้าได้

8. การดำเนินนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ควรคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง และย่อมด้วย และ 9.แนวคิดการจัดจำหน่ายสินค้าบางรายการโดยรัฐเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ควรนำสินค้าที่มีคุณภาพมาจำหน่ายและไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างความนิยมแก้นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด เพราะงบประมาณที่ใช้ ในการดำเนินการมาจากภาษีเงินได้ของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น