นักวิชาการ ม.หอการค้าฯ ชี้ชัดหาก “แม้ว” นั่งที่ปรึกษาขุนคลัง อาจทำให้เกิดความสับสน เพราะในความเป็นจริง “ทักษิณ” ก็ให้คำแนะนำอยู่แล้ว ส่วนการยกเลิก 30% คาดว่า ต้องทำแน่นอน แต่ควรส่งสัญญาณ และแผนรองรับที่ชัดเจน
วันนี้ (29 ก.พ.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวที่ระบุว่า รัฐบาลได้ทาบทาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ เชื่อว่า อดีตนายกรัฐมนตรีต้องให้คำแนะนำอยู่แล้ว แต่ในเชิงหลักการหาก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะแต่งตั้งจริง คงต้องดูอีกครั้ง
“แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะประกาศไม่ยุ่งกับการเมืองก็ตาม แต่ถ้ารับตำแหน่ง ก็อาจจะเกิดความสับสนได้ แต่ในเชิงปฏิบัติอดีตนายกรัฐมนตรีสามารถให้คำแนะนำ ให้มุมมองความคิดต่างๆ อาจทำให้เรามีแนวทางการพัฒนา มองทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว”
ส่วนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30% หรือไม่นั้น นายธนวรรธน์ เชื่อว่า จะยกเลิก แต่ต้องมีมาตรการรองรับชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เงินบาทแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ นพ.สุรพงษ์ ได้พูดไว้เช่นกัน
“ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าเงินบาทแข็งขึ้น เพราะผู้ส่งออกกังวลใจ เกิดบรรยากาศลังเล ดังนั้น สัปดาห์นี้ต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกันเงินสำรอง 30% ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิก แต่ต้องทำให้ชัดเจน เพื่อเลิกเก็งกำไร”
ส่วนบรรยากาศการเมืองขณะนี้จะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไรนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การประกาศยุติบทบาททางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นภาพที่ชัด ทำให้หลายฝ่ายสบายใจ อยากกลับมาประเทศบ้านเกิด เข้าต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าที่จะเป็น เนื่องจากประเทศไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ก็จะเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นอยู่
ดังนั้น จึงไม่เชื่อว่า จะมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น แต่หลายฝ่ายก็ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน หากผ่านช่วงหนึ่งเดือนนี้ไปได้ สถานการณ์ต่างๆ ก็จะคลี่คลายลงได้