xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ยังไม่ถึงเวลายกเลิกกันสำรองร้อยละ 30

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การจะยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องรอให้กระทรวงการคลังหารือกับ ธปท. เพื่อดูข้อมูลให้ชัดเจนก่อนจึงค่อยตัดสินใจ เพราะข้อมูลบางเรื่องไม่จำเป็นต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบก็ได้ และเรื่องดังกล่าวมีความหลากหลาย โดยภาคเอกชนก็ไม่อยากให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพราะหากยกเลิกจะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมากจนกระทบต่อภาคการส่งออกได้ เพราะมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ไม่ได้นำมาใช้ในเชิงปฏิบัติกันแล้ว โดยเป็นเพียงมาตรการป้องกันไว้ในเชิงจิตวิทยา เพื่อกันเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไร เนื่องจากเงินทุนที่เข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจโดยตรง และการลงทุนในตลาดหุ้นก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ถึงอย่างไรก็ตาม มาตรการร้อยละ 30 คงยกเลิก แต่คงเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ต้องมีมาตรการรองรับ โดยเฉพาะการมีแผนนำเข้าเครื่องจักร การลงทุนในด้านต่าง ๆ จากโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐ มีการส่งเสริมให้นำเงินดอลลาร์ไปใช้จ่ายลงทุนในต่างประเทศ เช่น ส่งเสริม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นำเงินออกไปลงทุน หรือการตั้งกองทุนเหมือนกับสิงคโปร์ และจีน เพื่อนำเงินออกไปลงทุนหาผลประโยชน์ในต่างประเทศ ชะลอเงินบาทแข็งค่า
นายไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยฯ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาในการยกเลิกมาตรการกันสำรองในขณะนี้ โดยควรดูช่วงเวลาที่เหมาะสม และการพูดเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค พรรคการเมืองต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งไม่ควรทำอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคแบบโฉ่งฉ่างมากเกินไป ควรเป็นการหารือกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง หากจะออกมาตรการอะไร ก็นำออกมาใช้ได้เลยในทันที คงให้ตลาดรับรู้มากไม่ได้ และหากจะยกเลิก ควรดูเศรษฐกิจสหรัฐให้ชัดเจน เพราะหากอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันมาก เงินทุนก็จะไหลเข้ามากเกินไป เพราะเวลานักลงทุนต่างชาติมองเข้ามา เขาจะดูว่าไทยจะมีมาตรการแก้ไขเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง จะมีแนวทางเหมือนกับอารยประเทศหรือไม่ เพราะปัญหาเกิดขึ้นคล้ายๆ กัน พร้อมเห็นว่าการส่งออกยังทำรายได้เข้าประเทศสัดส่วนถึงร้อยละ 73 ของจีดีพี จึงต้องให้ความสำคัญในการดูแลด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น