xs
xsm
sm
md
lg

แปดวัน แปลกหน้า : ว่าด้วยโรคหลงลืมของคน

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เมื่อราวต้นเดือนนี้ (มี.ค. 2551) มีหนังไทยเรื่องหนึ่งได้เข้าโรงฉายไม่กี่โรงอย่างเงียบๆ และฉายโดยไม่มีการโฆษณาในหน้าสื่อต่างๆ ด้วยซ้ำไป หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “แปดวัน แปลกหน้า” ที่กำกับฯ โดย ฉัตร์ชัย ยอดเศรณี (ชื่อของเขามีตัวการันต์กำกับเช่นนั้นจริงๆ) แต่ที่ดูจะอยู่เหนือความคาดหมายการแสดงนำของดาราหญิงอย่าง วาสนา ชลากร

หากว่ากันตามศัพท์แสงที่ใช้เรียกกันเมื่อ 30-40 กว่าปีก่อนแล้ว วาสนา ชลากร จะถูกเรียกว่า “ดาวโป๊” หรือ “ดาวยั่ว” คือเป็นดาราหญิงที่มักจะได้บทเป็นนางร้ายที่ชอบแต่งกายยั่วยวน ในขณะที่ปัจจุบันหากใครรับบทเดียวกันนี้จะไม่ถูกเรียกเช่นนั้น แต่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นดาราสาวใจถึงฝีมือดี

ที่สำคัญ หากใครสามารถสร้างข่าวในชีวิตจริงได้สอดคล้องหรือเหนือกว่าในหนังด้วยแล้ว ก็จะยิ่งโด่งดังมากขึ้น มีรายได้ไหลมาเทมาไม่ขาดสาย ซึ่งผิดกับสมัยที่ วาสนา ชลากร ยังเล่นหนังราวหน้ามือเป็นหลังตีน เพราะในสมัยนั้นหากทำอย่างที่ว่าแล้ว รับรองได้ว่าเป็นดาวดับไม่ได้ผุดได้เกิดอีกตลอดไป

เรื่องนี้ วาสนา ชลากร รู้ดีที่สุด เพราะเธอหายไปจากวงการบันเทิงก็เพราะมีข่าวอย่างที่ว่า อันเป็นข่าวที่ไม่ยุติธรรมต่อตัวเธออย่างยิ่ง แต่บังเอิญว่ามันดันเป็นข่าวที่ไปหนักหัวกบาลหนังสือพิมพ์บางฉบับและนักข่าวบางคนเข้าให้ เธอจึงต้องหายเงียบไปและปิดชีวิตการแสดงของเธอนับแต่นั้นมา

ไหนๆ ก็เขียนถึงเธอแล้ว ก็ขอถือโอกาสนี้บอกความรู้สึกส่วนตัวด้วยว่า รู้สึกเห็นใจและสงสารเธอต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างมาก โดยหลังจากนั้นก็ยังมีดาราหญิงรุ่นหลังเธออีกคนหนึ่งที่ถูกหนังสือพิมพ์กระทำย่ำยีคล้ายๆ กันคือ นันทนา เงากระจ่าง นางเอกเรื่อง “แผลเก่า” โดยการกำกับฯ ของ เชิด ทรงศรี

กลับมาที่ตัวหนังอีกที....

ด้วยความที่หนังเข้ามาอย่างเงียบๆ แล้วก็จากไปอย่างเงียบๆ จึงไม่ค่อยมีใครรู้ นอกจากคนที่บังเอิญหรือ “ฟลุ๊ก” เท่านั้นจึงจะได้ดู และอีกอย่าง ดูเหมือนว่าคนสร้างก็คงจะรู้ตัวดีด้วยว่า หนังของตนคงหาคนไทยดูได้ยาก จึงทำใบปิดหนังของตนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีภาษาไทยให้เห็น และอะไรที่เห็นว่าเป็นภาษาไทยในบทความนี้นั้น เป็นเพราะดูจากเครดิตตอนหนังจบ (ซึ่งก็จดไม่ทันและจำไม่ไหวเสียอีก)

ก่อนอื่นต้องขอบอกล่วงหน้าว่า “แปดคน แปลกหน้า” นี้จัดเป็นหนังไทยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีมานี้

หนังเรื่องนี้เป็นหนังขาว-ดำแทบทั้งเรื่อง ยกเว้นช่วงย้อนอดีตเท่านั้นที่เป็นสี ซึ่งเมื่อรวมเวลาแล้วก็สั้นนับเป็นนาทีได้ ส่วนเรื่องราวของหนังนั้นเป็นเรื่องของ “ป้าชุบ” (วาสนา ชลากร) เป็นหลัก ป้าชุบ เป็นหญิงชราที่มีโรคประจำตัวบางโรค โรคนี้ได้ทำลายความทรงจำของเธออย่างรุนแรง จนเธอไม่สามารถจำอะไรได้นานๆ เช่น เมื่อเธอซักเสื้อเสร็จแล้วนำไปตาก พอเวลาผ่านไปพักใหญ่ เธอก็จะนำเสื้อเหล่านั้นมาซักใหม่อีก เพราะเธอลืมไปว่าเธอได้ซักมันไปแล้ว เป็นต้น

และเพราะโรคหลงลืมที่ว่านี้ด้วย ที่ทำให้ ป้าชุบ ได้คร่าชีวิตลูกสาวสุดที่รักของเธอไปโดยไม่ได้เจตนา แต่เมื่อ ป้าชุบ เกิด “จำ” เรื่องนี้ขึ้นมาทีไร ป้าชุบ ก็จักเจ็บปวดรวดร้าวทีนั้น แต่ก็ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เพราะอีกไม่กี่อึดใจ ป้าชุบ ก็ “ลืม” เรื่องลูกสาวไปเสียอีก

บนภูมิหลังเช่นนี้ หนังได้ผูกเหตุการณ์หนึ่งให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา โดยจับเอาในเย็นวันหนึ่ง ป้าชุบ ได้ชวนเด็กหญิงวัย 4-5 ขวบคนหนึ่งที่เป็นลูกสาวของเพื่อนบ้านไปเล่นในบ้านของตัวเอง แล้วก็เกิดลืมไปว่ามีเด็กหญิงอยู่ในบ้าน และเมื่อพบเด็กหญิงในบ้านของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ป้าชุบ ก็เกิดจำเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ไม่ได้ ได้แต่ถามเด็กหญิงว่าเป็นใครมาจากไหน

ผลก็คือ พ่อแม่และเพื่อนบ้านของเด็กหญิงต่างก็โกลาหลกันยกใหญ่เพื่อตามหาเด็กหญิง แต่สิ่งที่พิเศษของเหตุการณ์ทั้งหมดนี้อยู่ตรงที่ว่า คนทั้งหมดต่างไม่รู้ว่า ในบรรดาคนในละแวกนั้นกลับมีนักศึกษาแพทย์สาขาจิตเวชชั้นปีสุดท้ายคนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์นี้โดยตลอด เขามีชื่อว่า “หนุ่ม”

หนุ่ม ก็เช่นเดียวกับคนในละแวกนั้นที่รู้ดีว่า ป้าชุบ แกเป็นโรคหลงลืม แต่ด้วยความที่เรียนมาทางจิตเวชและจะต้องทำรายงานส่งอาจารย์ หนุ่ม จึงคิดที่ใช้เหตุการณ์นี้มาเป็นกรณีศึกษาในรายงานของตน เพื่อให้รายงานของตน “เจ๋ง” แบบแตกต่างกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ซึ่งมักใช้ผู้ป่วยทางจิตในโรงพยาบาลต่างๆ มาเป็นกรณีศึกษาในรายงาน

จากความคิดเช่นนี้ หนุ่ม จึงเฝ้าติดตามดูพฤติกรรมของ ป้าชุบ กับเด็กหญิงตลอดเวลาโดยไม่ยอมแพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครรู้ และโดยไม่สนใจว่าเด็กหญิงจะเจ็บปวดทรมานเพียงใด หรือพ่อแม่ของเด็กหญิงจะเดือดร้อนแค่ไหนที่ลูกสาวหายไป หนุ่ม ปล่อยให้วันเวลาผ่านไปถึง 7 วัน และในแต่ละวันหนังก็ฉายให้เห็นรายละเอียดของตัวละครแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง จนเมื่อ หนุ่ม เห็นว่าเหตุการณ์ลามไปมากแล้วจึงได้กระโตกกระตากเรื่องที่ตนเห็นแต่แรกให้ชาวบ้านได้รู้

เด็กหญิงถูกช่วยออกมา และแน่นอนว่า ป้าชุบ นั้นโดนรุมกระทืบจนเลือดตกยางออกโดยไม่มีใครสงสารหรือแม้แต่เห็นใจ ส่วนเด็กหญิงนั้นก็ปางตายเพราะขาดอาหารมาหลายวัน แต่ที่สุดยอดที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกิน หนุ่ม ที่ได้รับการยกย่องชื่นชมจากคนในชุมชนในฐานะวีรบุรุษที่ช่วยให้เด็กหญิงรอดตาย และทำให้พ่อแม่ในครอบครัวหนึ่งได้ลูกสาวของตนกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

ตลอดเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง หนังได้ตรึงให้เราอยู่ภายใต้แรงกดดันจนน่าอึดอัดใจ โดยเฉพาะกับบทบาทการแสดงของ วาสนา ชลากร ที่เราไม่สามารถเดาได้เลยว่าเธอจะคุ้มดีหรือคุ้มร้าย สติเต็มหรือไม่เต็ม บ้าหรือไม่บ้า ผ่านสีหน้าและกิริยาท่าทาง ยิ่งเป็นหนังขาว-ดำแทบตลอดเรื่องด้วยแล้ว การกดดันคนดูก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก

แต่กระนั้น หนังก็ฉลาดพอที่จะใช้ดนตรีประกอบที่มีท่วงทำนองอันอ่อนโยนไพเราะให้เราได้ผ่อนคลายในบางช่วงเช่นกัน พ้นไปจากเรื่องราวและเทคนิคของหนังที่เล่ามาแล้ว สิ่งที่หลงเหลือให้เราขบคิดก็คือ การนำเสนอเรื่องราวชีวิตในหนังที่สามารถตีความความหมายได้ทั้งทางตรงผ่านสามัญสำนึกอันปกติ และทางอ้อมผ่านในเชิงสัญลักษณ์

ถ้าเป็นทางตรงแล้ว เราจะพบว่า เหตุทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะ ป้าชุบ เป็นโรคหลงลืม เพราะถึงยังไงโรคนี้ของ ป้าชุบ ก็ไม่เคยทำร้ายใคร ซ้ำยังมีเพื่อนบ้านเห็นใจพร้อมที่จะจ้างเธอซักผ้าด้วยความเมตตา แต่ต้นเหตุทั้งหมดนี้ล้วนมาจาก หนุ่ม เพราะถ้าเขาไม่เห็นแก่ตัวและมีมนุษยธรรมอยู่ในหัวใจแล้ว เขาก็เพียงแค่บอกใครต่อใครแค่ว่า เด็กหญิงอยู่กับ ป้าชุบ เสียแต่วันแรกที่ตนเห็นก็สิ้นเรื่อง จะได้ไม่ต้องมีใครเดือดร้อน

แต่กระนั้น การตีความทางตรงเช่นนี้เราก็มีปัญหา เพราะทุกวันนี้เป็นที่รู้กันดีว่า หลายปีที่ผ่านมานี้สังคมไทยมีคนอย่าง หนุ่ม อยู่มากมาย คือขอเพียงแต่ให้ทำสำเร็จตามเป้าหมายเท่านั้น วิธีการจะเป็นอย่างไรช่างมัน

ส่วนการตีความในทางสัญลักษณ์นั้น หนังทำให้เราขบคิดตลอดเวลาผ่านภาพแต่ละภาพ บทบาทของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งเมื่อเราย้อนกลับมาดูชีวิตจริงรอบๆ ตัวเราแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ตัวละครหลายตัวนั้นหากไม่แวดล้อมตัวเราเองแล้ว ก็ตัวเราเองนั่นแหละที่อาจเป็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในหนังเรื่องนี้

และหากว่ากันโดยภาพรวมแล้ว การรวมศูนย์ในทางสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ โรคหลงลืมของ ป้าชุบ นั่นเอง เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ขี้หลงขี้ลืมมิใช่หรือ เราจึงพบเห็นคนแบบ ป้าชุบ อยู่มากมายเต็มบ้านเต็มเมือง คือลืมได้แทบทุกเรื่อง ขอเพียงมีผลประโยชน์แม้เพียงเล็กน้อยมากองตรงหน้าก็พอ หรือลืมแม้กระทั่งคนที่เคยกระทืบตัวเองจนปางตาย แต่ก็ยังคบหากันชื่นมื่นด้วยรอยยิ้ม ทั้งที่ใบหน้ายังมีคราบเลือดติดอยู่แท้ๆ ฯลฯ

และเพราะมีคนอย่าง ป้าชุบ มากมายนี้เอง สังคมไทยจึงปล่อยให้คนอย่าง หนุ่ม ได้ประกอบวีรกรรมด้วยการเป็น “หนุ่มจัญไร” อยู่ร่ำไป ลงเห็นว่าเป็นวีรกรรมไปเสียแล้ว คนอาสัตย์และเลวทรามอย่าง หนุ่ม จึงย่อมเป็นวีรบุรุษไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น