เอเชี่ยน วอลล์สตรีต – รัฐบาลจีนเตรียมออกกฎระเบียบควบคุมการผ่าตัดสมองรักษาผู้ป่วยทางจิต หลังจากสื่อต่างชาติประโคมข่าวการรักษาด้วยวิธีนี้เกลื่อนเมือง ซ้ำแพทย์บางรายใช้เวลาวินิจฉัยโรคแค่ไม่กี่ชั่วโมง
แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่า ได้มีการประชุมในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้ว (ม.ค.) เพื่อประเมินผลวิธีการรักษาผู้ป่วยทางจิตด้วยการผ่าตัดสมอง และออกกฎระเบียบควบคุมการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล,แพทยสมาคมจีน,เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและกองทัพปลดปล่อยแห่งประชาชน ซึ่งดูแลโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งที่รักษาด้วยวิธีนี้ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าร่วม
การผ่าตัดสมองรักษาผู้ป่วยทางจิตในจีน รวมถึงการเจาะรูเข้าไปในกะโหลกศรีษะ และเผาชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่อยู่ในสมอง เรียกว่าผ่าตัดแล้วผ่าตัดเลย แก้ไขเอากลับคืนมาไม่ได้นั้น เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยทางจิต ที่แพทย์จีนนิยมทำกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีตเจอร์นัลได้รายงานข่าว และยังปรากฏในบทบรรณาธิการระหว่างประเทศไปเมื่อเดือนพฤสจิกายนที่ผ่านมา
ผู้ป่วยทางจิตหลายพันคน ตั้งแต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า, โรคประสาท ไปจนถึงโรคจิตเภทหรือสกิโซฟรีเนีย (schizophrenia) ต้องจ่ายเงินผ่าตัดสมองโดยทั่วไปประมาณ 5,000 ดอลลาร์ ซึ่งสำหรับบางครอบครัวแล้ว เท่ากับรายได้หลายปีรวมกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะผู้คนมากมายในชนบท ซึ่งไม่มีประกันสุขภาพคุ้มครอง ซ้ำร้าย ผู้ป่วยบางรายบอกว่า หลังผ่าตัดสมองแล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่กลับต้องเดินกะโผลกกะเผลก ง่อยเปลี้ยไป
นายแพทย์ หวังอี้ฟัง หัวหน้าคณะศัลยแพทย์ผ่าตัดสมองผู้ป่วยทางจิตที่โรงพยาบาลหมายเลข 454 ของกองทัพปลดปล่อยแห่งประชาชน ระบุว่า ที่ประชุมสรุปร่วมกันให้คณะผู้ออกกฎระเบียบ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ร่างกฎระเบียบสำหรับควบคุมวิธีการรักษาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นายแพทย์หวังกล่าวว่า รัฐบาลจีนยังคงสนับสนุนการผ่าตัดนี้อยู่
ในบทความชื่อ “ข้อสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัดสมอง” ซึ่งลงในนิตยสารไชน่านิวส์วีก ฉบับวันที่ 28 มกราคม กระทรวงสาธารณสุขจีนระบุว่า การผ่าตัดดังกล่าวยังคงเป็นการทดลอง ไชน่านิวส์วีก ของไชน่านิวส์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวกึ่งทางการ ยังรายงานด้วยว่า ที่ผ่านมา มีการผ่าตัดสมองโรคทางจิตในจีนแล้ว 4,000 ราย แต่มิได้ระบุช่วงเวลา
บทความของวอลล์สตรีตเจอร์นัลได้ตีแผ่เรื่องราวครอบครัว 2 ราย พาคนในบ้าน ซึ่ง ป่วยเป็นโรคสกิโซฟรีเนีย ไปรักษาที่โรงพยาบาลหมายเลข454 นอกจากนั้น ศัลยแพทย์ที่นั่นยังเล่าให้ฟังว่า เขาลงมือผ่าตัดสมองผู้ป่วยรายหนึ่ง ภายหลังผู้ป่วยมาปรึกษาเพียงไม่กี่ชั่วโมง บทความยังอ้างด้วยว่า โรงพยาบาลแห่งอื่น ๆ ในจีนได้เสนอวิธีการรักษานี้แก่ผู้ป่วยมาแล้วสองสามพันรายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หันมาดู ในสหรัฐฯ บ้าง การผ่าตัดสมองเพื่อรักษาผู้ป่วยทางจิตนั้น นานๆ จึงจะมีสักครั้ง เพราะแพทย์จะต้องวินิจฉัยอาการและกลั่นกรองวิธีการบำบัดรักษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนจะลงมีดกรีดสมองคนไข้ ซึ่งเป็นหนทางรักษาสุดท้าย เมื่อไม่เห็นหนทางอื่นอีกแล้วเท่านั้น