xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ประกาศแพทย์-พยาบาล 3 จว.ใต้เสียชีวิตได้ 4 แสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปสช.ช่วยเหลือแพทย์-พยาบาล ที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มเป็น 2 เท่า เหตุทำงานหนัก แข่งกับเวลา เผยกรณีเสียชีวิตทั่วไปช่วยเหลือ 2 แสนบาท พื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มเป็น 4 แสนบาท เพื่อช่วยสร้างขวัญกำลังใจ พร้อมจัดสรรงบปี 51 เป็นเงินกว่า 18 ล้านบาท

นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนมีผลกระทบอย่างรุนแรงกับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุข ที่มีภาระงานหนัก เพราะต้องดูแลประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ประสบเหตุ ต้องทำงานหนัก แข่งกับเวลา มีโอกาสได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์สูง เช่น ถูกเข็มตำ ถูกของมีคมบาด และบางครั้งก็ได้รับผลกระทบถึงแก่ชีวิตจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ด้วยคณะกรรมการหลักฯจึงได้ออกประกาศให้มีการช่วยเหลือผู้ให้บริการได้แก่ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่น กรณีที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ โดยเพิ่มเป็น 2 เท่าของพื้นที่ปกติ

สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 200,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 120,000 บาท และ 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 50,000 บาท ยกเว้นในพื้นที่เสี่ยงภัยได้แก่ จังหวัดชายแดนภาคใต้และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา จะได้รับการชดเชยเพิ่มเป็น 2 เท่า เช่น กรณีเสียชีวิตเป็น 400,000 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ โดยมีคณะอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณา ซึ่งในปีงบประมาณ 2551 ได้จัดสรรงบสำหรับการช่วยเหลือผู้ให้บริการในอัตรา 0.40 บาทต่อประชากร รวมเป็นเงิน 18.8 ล้านบาท โดยได้ปรับปรุงวิธีการพิจารณาใหม่จากเดิมที่คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณา เปลี่ยนมาเป็นให้คณะอนุกรรมการระดับสาขา ซึ่งมี 13 สาขาทำหน้าที่พิจารณา ซึ่งการพิจารณาจะกระทำให้แล้วเสร็จโดยเร็วไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ใน 30 วัน

นายแพทย์ประทีป กล่าวว่า ในปี 2551 นั้น สปสช.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ให้บริการไปแล้ว 140 ราย ในกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง เป็นจำนวนเงิน 2.7 ล้านบาท ทั้งนี้ การมีระบบเยียวยาก็เพื่อสร้างขวัญกำลังที่ดีให้เจ้าหน้าที่ เป็นการสร้างความมั่นใจถึงระบบการปฏิบัติงานสาธารณสุขการเยียวยาและชดเชยรองรับให้ เพราะปัจจุบันกลุ่มผู้ให้บริการมีภาระงานหนัก ทำงานเกินเวลา เนื่องจากสัดส่วนระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งผู้ยื่นคำร้องส่วนใหญ่เป็นพยาบาล และผู้ช่วยเหลือคนไข้ เนื่องมาจากมีความชิดกับผู้รับบริการ ส่วนความเสียหายส่วนใหญ่ คือ เรื่องของ เข็มตำ ถูกของมีคมบาด การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย เลือด เสมหะ การได้รับเชื้อวัณโรค และการถูกผู้ป่วยทำร้าย ในกรณีผู้ป่วยทางจิต และเมาสุรา
กำลังโหลดความคิดเห็น