xs
xsm
sm
md
lg

ขรก.รวมตัวต้านการเมือง : ปรากฏการณ์ต้านความอยาก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ในข้อนั้น ธรรมที่มีความทะยานอยากเป็นมูล 9 อย่างเป็นไฉน?”

1. เพราะอาศัยความทะยานอยาก จึงมีการแสวงหา

2. เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีลาภ

3. เพราะอาศัยลาภ จึงมีการวินิจฉัย

4. เพราะอาศัยการวินิจฉัย จึงมีความกำหนัด (หรือความคิด) ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ

5. เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ จึงมีการฝังใจ

6. เพราะอาศัยการฝังใจ จึงมีการหวงแหน

7. เพราะอาศัยการหวงแหน จึงมีความตระหนี่

8. เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการอารักขา

9. เพราะมีการอารักขาเป็นเหตุ จึงมีการจับท่อนไม้ การจับศัสตรา การทะเลาะ การแตกแยก การกล่าวขัดแย้งกัน การชี้หน้ากัน การพูดส่อเสียด การพูดปด และธรรมที่เป็นบาปอกุศลอีกเป็นอเนก

นี่คือธรรมที่มีความทะยานอยากเป็นมูล 9 อย่าง ทั้งหมดนี้คือพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในอภิธรรมปิฎก เล่มที่ 35 หน้า 527

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น พระพุทธองค์ทรงแสดงโดยปรมัตถ์ คือไม่มีการยกบุคคลขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์เฉกเช่นพระสูตรที่ทรงแสดงโดยบุคลาธิษฐาน จึงทำให้เข้าใจยากอยู่บ้างสำหรับท่านที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้านำเอาเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นในสังคมรอบๆ ตัวเราเข้ามาเป็นอุทาหรณ์ก็พอจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมือง อันเนื่องมาจากการที่บุคลากรทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ได้มีการโยกย้ายข้าราชการถึง 4 รายในช่วงเวลาที่เข้ามารับตำแหน่งยังไม่ถึงเดือน และเป็นการโยกย้ายกลางปีที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน รวมไปถึงเหตุผลที่ให้ในการโยกย้ายก็ไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้สังคมรับได้ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่ฟังเท่าไหร่ๆ ก็ยากที่จะเห็นด้วยและคล้อยตาม และจะด้วยเหตุนี้กระมังที่เป็นชนวนให้ข้าราชการส่วนหนึ่งจากหลายๆ กระทรวงออกมาประกาศจะตั้งสหภาพข้าราชการเพื่อปกป้องอำนาจการเมืองรังแกโดยไม่เป็นธรรม และดูเหมือนว่าทันทีที่ข้าราชการออกมาเคลื่อนไหวในการจัดตั้งสหภาพ ทางฝ่ายการเมืองก็เริ่มออกมาแสดงการทักท้วงโดยอ้างกฎหมายอาจตั้งไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ทางฝ่ายข้าราชการก็ตอบโต้ว่าตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีอะไรห้ามไว้

ไม่ว่าการรวมตัวกันเพื่อตั้งสหภาพของข้าราชการในครั้งนี้จะบรรลุผลหรือไม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างนักการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายโยกย้ายข้าราชการประจำ โดยอาศัยตำแหน่งทางการเมืองในฐานะผู้กำกับดูแลส่วนราชการ จะด้วยเหตุอ้างความเหมาะสมหรือมีการกระทำผิดแล้วโยกย้าย และข้าราชการประจำซึ่งถูกโยกย้ายและได้รับผลกระทบในทางลบ ก็มีเหตุอ้างจะด้วยไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้ง

ทั้งสองฝ่ายก็ถือได้ว่ารวมอยู่ในปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งเป็นไปตามเหตุคือความทะยานอยากอันเป็นมูลเหตุให้เกิดบาปอกุศล 9 อย่างดังกล่าวแล้วข้างต้นอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการอธิบายขยายความพุทธพจน์ที่ทรงแสดงไว้ในแง่ของธรรมาธิษฐาน ในแง่ของบุคลาธิษฐานได้ดังต่อไปนี้

เริ่มด้วยฝ่ายการเมือง ผู้กระทำการโยกย้ายก็เพื่อสนองความต้องการหรือความอยากที่จะได้ข้าราชการที่สามารถสนองความต้องการของตัวเอง และในขณะเดียวกันอาจมีเจตนาแฝงเพื่อการล้างแค้นแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบในอดีตด้วย

ดังนั้นจึงถือได้ว่าการโยกย้ายในครั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ได้มาซึ่งบุคคลที่ตนเองต้องการเป็นประเด็นแรก ส่วนเมื่อได้แล้วก็จะนำไปสู่การแสวงหาลาภผลที่จะพึงมีพึงได้หรือไม่มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับบุคลากรที่เข้ามาทดแทนคนที่ถูกโยกย้ายไปอีกทอดหนึ่ง

ในส่วนของข้าราชการผู้ถูกโยกย้าย แน่นอนว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบในสิ่งที่ตนเองเคยมีและเคยได้ จะเป็นยศศักดิ์ ตำแหน่ง รวมถึงผลประโยชน์อันเกิดจากตำแหน่ง ก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องต่อสู้ด้วยความหวงแหน

ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว ปรากฏการณ์ความขัดแย้งในครั้งนี้ ไม่ว่าจะมองจากฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายข้าราชการประจำ ก็พูดได้ว่าเป็นบทพิสูจน์ความเป็นสัจธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้เมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้วนั่นเอง

ไม่ว่าโดยนัยแห่งธรรมะจะเป็นอย่างไร และใครจะเป็นคนผิดในแง่ของธรรมะ แต่ในแง่ของโลกียะหรือในแง่ของโลกแห่งปุถุชนคนมีกิเลสแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะบ่งบอกถึงพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ทั้งในส่วนของนักการเมืองและข้าราชการได้อย่างชัดเจนว่า ใครทำอะไร เพื่อใคร และจากการกระทำที่ว่านี้ใครได้ประโยชน์ และใครเสียประโยชน์

เริ่มด้วยฝ่ายการเมืองที่มักอ้างความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้ามองในแง่ของการบริหารที่ยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งแล้ว ถึงแม้จะมีอำนาจในการโยกย้ายในฐานะผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้ส่วนราชการต้องทำตามนโยบาย ก็ใช่ว่าโยกย้ายและแต่งตั้งใครได้โดยไม่ฟังเสียงของผู้ถูกโยกย้าย และที่สำคัญ ไม่ฟังประชาชนคนทั้งประเทศที่มีส่วนในการบริหารประเทศในฐานะเจ้าของอำนาจและอธิปไตยตัวจริง

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ค่อนข้างผิดปกติ และขัดแย้งต่อความนึกคิดของคนทั่วไป ทั้งนี้จะเห็นได้จากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกศาสตร์ดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลชุดนี้เพิ่งจะเข้ารับตำแหน่ง และมีการแถลงนโยบายไปได้ไม่ถึงเดือนก็มีการโยกย้าย จะบอกได้อย่างไรว่าข้าราชการคนไหนไม่สนองนโยบายที่วางไว้

2. การที่จะโยกย้ายใคร และด้วยเหตุอ้างอันใด จะต้องมีความเป็นธรรมและมีความชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับได้ทั้งในส่วนของผู้ถูกโยกย้าย และประชาชนผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และที่สำคัญเป็นคนจ่ายภาษีให้ประเทศเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารประเทศจะต้องรับรู้ และมีความเห็นไปในทางเดียวกันกับรัฐบาล จึงจะได้ชื่อว่าทำเพื่อปวงชน

แต่การโยกย้ายข้าราชการระดับสูงทั้ง 4 รายที่ผ่านมา นอกจากมองในแง่ของเวลาที่รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานแล้ว เหตุอ้างในการโยกย้ายก็ไม่ชัดเจน และเป็นธรรมพอที่จะรับได้ว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อาจมองในแง่ของรัฐบาลที่เข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือคณะบุคคลเฉพาะกิจมากกว่า

ด้วยเหตุผล 2 ประการที่กล่าวมา ผู้เขียนเชื่อว่าถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังดำเนินการโยกย้ายข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการทหารในทำนองนี้อีก ก็จะเป็นเหตุให้เกิดกระแสต้านเพิ่มขึ้น และรุนแรงขึ้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าถึงแม้จะมีกระแสต้านจากข้าราชการประจำอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลที่ใครต่อใครเชื่อว่าเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มอำนาจเก่า คงจะยุติพฤติกรรมในลักษณะนี้ได้ยาก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกศาสตร์ดังต่อไปนี้

1. การที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ต้องพบกับความกดดันจากภายในพรรคซึ่ง ส.ส.ส่วนใหญ่มาจากพรรคไทยรักไทย และประกอบกับกลุ่มทุนเป็นกลุ่มเดียวกับพรรคไทยรักไทยเดิม ย่อมหลีกเลี่ยงที่จะโยกย้ายข้าราชการในส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกับคดีความที่กลุ่มอำนาจเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตผู้นำรัฐบาล และครอบครัวต้องเผชิญอยู่เป็นไปได้ยาก

2. เมื่อใดก็ตามที่การโยกย้ายข้าราชการตามนัยแห่งข้อหนึ่ง และนำเอาข้าราชการที่สังคมเห็นว่าจะเข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความรอดพ้น แน่นอนว่า ข้าราชการที่ถูกโยกย้ายจะได้รับแรงหนุนจากกลุ่มข้าราชการด้วยกัน รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่รักความเป็นธรรม เมื่อนั้นรัฐบาลก็จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ยาก แต่เชื่อว่าต้องทำเพื่อความอยู่รอดในตำแหน่งทางการเมือง

3. คดีความที่อดีตผู้นำรัฐบาลและพวกพ้องซึ่ง คตส.ดำเนินการสอบสวนอยู่จะค่อยๆ ทยอยขึ้นสู่ศาล จึงทำให้เวลาในการรอคอยไม่ดำเนินการโยกย้ายเพื่อแก้ไขปัญหาคงทำไม่ได้

ด้วยเหตุ 3 ประการนี้ เชื่อว่ารัฐบาลนี้ถึงแม้จะพยายามหลีกเลี่ยงการเป็นหุ่นเชิดก็คงหลีกได้ไม่หมด สุดท้ายต้องดำเนินการไปตามความทะยานอยากบงการ และสุดท้ายก็จะตกอยู่ภายใต้กระแสแห่งบาปอกุศลธรรมครอบงำ 9 ประการแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น