xs
xsm
sm
md
lg

ยอดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ลดวูบ เร่งรัฐแก้ค่าเงินก่อนหมดแรงสู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา -ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราในจังหวัดชลบุรี จี้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาค่าเงินก่อนผู้ส่งออกทยอยปิดโรงงานมากขึ้น เพราะไม่สามารถแบกรับการขาดทุนจากค่าเงินได้อีก เผยระยะ 5 ปีที่ผ่านมายอดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยหายไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้าน เหตุสำคัญยังอยู่ที่การไม่พัฒนาตนเองของผู้ผลิตทั้งในแง่การดีไซน์และคุณภาพสินค้า ทำให้คู่แข่งเบียดตลาดได้

นายจาริต เมาฬีกุลไพโรจน์ ประธานกลุ่มโพเดียม โฮม เซ็นเตอร์ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ภายใต้แบรนด์โพเดียม ซึ่งมีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในเขตอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และโชว์รูมจำหน่ายสินค้าทั้งในกรุงเทพฯและชลบุรี เผยถึงตลาดเฟอร์นิเจอร์ส่งออกของไทยว่านับจากนี้ไปจะริบหรี่ลงเรื่อยๆ เห็นได้จากยอดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ในช่วง 4-5 ปีก่อนที่เคยมีมูลค่ารวม 7-8 หมื่นล้านบาท แต่ในปีที่ผ่านมากลับมียอดส่งออกรวมเหลือเพียง 4 หมื่นล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการถูกแชร์ตลาดจากผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ที่ขณะนี้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออกแซงหน้าไทย

ซ้ำยังสามารถดึงดูดความสนใจของกลุ่มบายเออร์รายใหญ่ทั้งในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น ให้เดินทางไปชมและสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศเหล่านี้ แทนผู้ผลิตในไทย ที่ปัจจุบันจำนวนโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์เริ่มลดลงเรื่อยๆ จากปัญหาค่าเงินบาทที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนจากค่าเงินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการไม่พัฒนาศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ทั้งด้านการดีไซน์ และคุณภาพ จนไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อในต่างประเทศ

“ความตกต่ำของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย ส่วนสำคัญมาจากการที่ผู้ผลิตไม่พยายามยกระดับและพัฒนาคุณภาพสินค้าของตน ทำให้คู่แข่งตามทันและแซงหน้า เมื่อ 10 ปีก่อนมาเลเซีย อินโดนีเซียและสิงคโปร์ต้องตามก้นเรา แต่ตอนนี้เขาแซงหน้าเราไปหมดแล้ว”

นอกจากนั้นการไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือแม้แต่มาตรการด้านการส่งออก ซึ่งในความเป็นจริงผู้ผลิตก็ไม่ควรที่จะหวังพึ่งรัฐบาล เพราะแม้แต่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ก็ยังถูกจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีอนาคต ทั้งที่ในอดีตเคยทำรายได้ให้แก่ประเทศ แต่เพราะเราเองมีข้อเสียเปรียบเรื่องวัตถุดิบทางธรรมชาติที่ตอนนี้หมดไปแล้ว การจะหันมาเล่นตลาดล่างจึงทำไม่ได้ ทำให้จีนและเวียดนามที่ได้เปรียบเรื่องค่าแรงและวัตถุดิบชิงตลาดส่วนนี้ไป

นายจาริต ยังเผยอีกว่า ขณะที่ปัญหาค่าเงินบาทเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่สามารถซ้ำเติมตลาดที่อ่อนแออยู่แล้วให้รุนแรงมากขึ้น และแม้ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมสาขาเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมเครื่องเรือนไทย จะพยายามผลักดันให้มีการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตที่เหลืออยู่ประมาณ 300 โรงงานจากเดิมที่มีมากกว่าพันโรงเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อย่างยั่งยืน ตั้งแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลในช่วงที่ผ่านๆ มา และคาดว่าในปี 2551 ยอดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยจะเหลือเพียง 50% ของยอดส่งออกในปี 2550 เท่านั้น

“ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยถึงทางตันคือ 1.ในช่วงที่ผ่านมาการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตในประเทศไม่ดีเท่าที่ควร 2.ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยทำให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านนี้ไม่ได้รับการสานต่อ 3.กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่ฉุดรั้งอุตสาหกรรมนี้ไม่ให้ก้าวหน้า โดยสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการเป็นมาตรการเร่งด่วนระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยไม่ให้ตายก็คือ การแก้ไขเรื่องค่าเงิน และให้การสนับสนุนอุตสาหกรรม ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่าการกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศ ” นายจาริต กล่าว

ขณะที่การจะอยู่รอดของผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทย ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกก็คือ ผู้ผลิตต้องร่วมใจกันหันมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อจับตลาดบนที่มีกำลังซื้อ และหนีการแข่งขันในตลาดล่างซึ่งผู้ผลิตไทยเสียเปรียบจีนและเวียดนาม ที่สำคัญยังเป็นการรักษาระดับชั้นการส่งออกของไทยไม่ให้ตกไปกว่าที่เป็นอยู่ และหากผู้ผลิตในประเทศสามารถรวมตัวกันผลิตสินค้าที่มีดีไซน์หลากหลายและคุณภาพดีแล้ว จะทำให้บายเออร์ต่างประเทศหันมาให้ความสนใจการจัดงานเฟอร์นิเจอร์แฟร์ในไทยเช่นในอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น