xs
xsm
sm
md
lg

“โอ๋สืบ6”หมดทางกลับตร.ศาลปค.ชี้ถูกปลดชอบแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่ ที่ให้คุ้มครองชั่วคราว พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง หรือ ฤทธิรงค์ เทพจันดา อดีตผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผกก.สส.น.6) กรณีที่ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 มีหนังสือคำสั่งที่ 165/2550 ลงวันที่ 1 ต.ค.2550 ให้ลดโทษ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ จากไล่ออกจากราชการ เป็นปลดออกจากราชการ และให้ยกเลิกคำสั่ง ที่ 17/2550 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ไล่ออกจากราชการ
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ขณะรับราชการเป็น ผกก.สส.น.6 ได้รับการมอบหมาย ให้รักษาความปลอดภัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2549 ทำให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีถูก ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไต่สวนและวินิจฉัย ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง ตาม ม.79(2), (5) และ (6) พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และ ป.อาญา ม.147 และ 200 ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจที่ 17/2550 ลงวันที่ 20 ก.พ.2550 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการการ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งที่ 165/2550 ลงวันที่ 1 ต.ค.2550 ลดโทษจากไล่ออกจากราชการ เป็นปลดออกจากราชการ
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้ดุลพินิจไม่ชอบในการออกคำสั่งลงโทษ โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและความผิดทางวินัยร้ายแรงก่อนออกคำสั่ง ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และองค์ประกอบความผิดทางวินัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้เป็นเหตุ ในการออกคำสั่งลงโทษ จึงขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด้วย
โดยศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องออกจากราชการน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ ม.80 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เมื่อพิจารณาถึงความเสียหายของผู้ฟ้องคดีไม่ได้เงินเดือน และรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าแล้ว กรณีจึงเป็นความเสียหายที่ยากแก่การ เยียวยาภายหลัง จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ปลด ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ต่อมาผู้ถูกฟ้องที่ 2 และ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่ แต่ผู้ฟ้องคดี แย้งว่า คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว และภายหลังศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการแล้ว ได้มีการรายงานตาม สายการบังคับ โดยมีการนำเสนอ ก.ตร.พิจารณากำหนดตำแหน่งรองผู้บังคับการประจำสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 20 ก.พ.2550 ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร.สั่งการเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2551 เห็นชอบแล้ว
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าคำสั่งปลดผู้ฟ้องออกจากราชการ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัย ทั้งการที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง อาจจะเป็นเหตุให้คำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็คงเป็นแต่เพียงเหตุให้คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่านั้น หาใช่เป็นเหตุที่จะทำให้ถือว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 3 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ แม้คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี แต่การให้คำสั่งปลดออกจากราชการ มีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างพิจารณาคดีก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงจนไม่อาจเยียวยา แก้ไขได้ในภายหลัง
เพราะถ้าต่อมาศาลเพิกถอนคำสั่งปลดออกจากราชการผู้ฟ้องคดีก็กลับคืนสู่สถานะเดิม โดยกลับเข้ารับราชการและได้รับสิทธิประโยชน์ที่สูญเสียไปนับแต่ถูกลงโทษ ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 72 วรรค 3 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เห็นควรมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น โดยให้ยกเลิกคำสั่งทุเลาการบังคับคดีของศาลปกครองชั้นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น