xs
xsm
sm
md
lg

“วีระ” ยื่น ป.ป.ช.สอบศาล ปค.เชียงใหม่ ทุเลาคำสั่งปลด “โอ๋ สืบ6” มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วีระ” ส่งตัวแทนยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบ กรณีศาลปกครองเชียงใหม่ สั่งทุเลาคำสั่งปลด “โอ๋ สืบ6” โดยมิชอบ ชี้ปมชวนสงสัย ผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนทั้งชื่อ-นามสกุล ย้ายภูมิลำเนาจากโคราช ไปเชียงใหม่ แถมมีอดีตนายตำรวจที่รู้จักกันเป็นตุลาการฯ พร้อมจี้สอบข่าวมือมืดเตรียมช่วยเหลือกลับเข้ารับราชการ

วันนี้ (11 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.00 น.นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ให้เจ้าหน้าที่ของกลุ่มเดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีอาจมีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

หนังสือดังกล่าวได้ขอให้ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนกรณี พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา หรือ “โอ๋ สืบ6” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง ได้นำกรณีที่ตนถูกคำสั่งปลดออกจากราชการ ฐานเป็นผู้สั่งการให้ นายจรัล จงอ่อน และ นายชัยสิทธิ์ ลอมะ 2 อันธพาล ไปทำร้ายประชาชนที่ตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเดือน ส.ค.2549 ไปยื่นฟ้องที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองให้ปลดออกจากราชการดังกล่าว และ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์เตรียมกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง

หนังสือของกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชน ระบุว่า การที่ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองเชียงใหม่และศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งดังกล่าว มีประเด็นข้อสงสัยที่ต้องตรวจสอบ 5 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.เหตุใดผู้ฟ้องคดีจึงเปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่ทั้งหมด 2.ผู้ฟ้องคดีได้ย้ายภูมิลำเนาจากจังหวัดนครราชสีมาไปจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้นำคดีดังกล่าวฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ทั้งที่มูลคดีดังกล่าวเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจาก พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ถูกคำสั่งลงโทษจากสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลคดีจึงเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้ฟ้องคดีควรจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่กำหนดให้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาหรือมีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลปกครองชั้นต้นนั้น

หนังสือฯ ระบุอีกว่า พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่เชียงใหม่ หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว เป็นการเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากภูมิลำเนาที่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีตุลาการศาลปกครองเชียงใหม่คนหนึ่งเป็นอดีตนายตำรวจซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน และ ข้อสงสัยประการที่ 3 ก็คือ คดีดังกล่าว ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มอบหมายให้องค์คณะคดีพิจารณาพิพากษา ซึ่งองค์คณะคดีนี้มีตุลาการศาลปกครองคนหนึ่งเป็นอดีตข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจตรี

ข้อสงสัยที่ 4 คำสั่งลงโทษ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ออกจากราชการและคำสั่งที่ให้ลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ เป็นคำสั่งที่ออกตามมติอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้ ไม่ใช่มติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)

ข้อสงสัยที่ 5 การที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า คำสั่งลงโทษ ปลด พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ออกจากราชการน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 80 วรรค 2 นั้น ปรากฏว่า ศาลปกครองเชียงใหม่ไม่ได้ระบุเหตุผลว่า ไม่ได้มีการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มาตราใด และที่ว่า มิได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 80 วรรค 2 ก็ไม่ได้ระบุข้อความให้ชัดเจน เพราะมาตราดังกล่าวมีอยู่หลายประเด็น

ทั้งนี้ มาตรา 80 วรรคสองบัญญัติว่า “การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ และแจ้งให้กรรมการทุกคนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน เว้นแต่กรรมการนั้นจะได้ทราบการบอกนัดในที่ประชุมแล้ว กรณีดังกล่าวจะทำหนังสือแจ้งนัดเฉพาะกรรมการที่ไม่ได้มาประชุมก็ได้”

จะเห็นได้ว่า มาตรา 80 วรรค 2 ดังกล่าว บัญญัติคำว่า “กรรมการ” ไม่ใช่ "อนุกรรมการ” และ มติที่จะทำให้มีผลตามกฎหมายในการออกคำสั่งดังกล่าว จะต้องเป็นมติคณะกรรมการข้าราชการดำรวจ (ก.ตร.) ไม่ใช่มติอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

“ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นชัดว่า ผู้มีอำนาจพิจารณาชี้ขาดอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คือ ก.ตร.ไม่ใช่อนุกรรมการ ก.ตร.ดังนั้น คำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและคำสั่งที่ให้ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการ เป็นปลดออกจากราชการ เป็นคำสั่งที่ออกตามมติอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจจึงยังไม่มีผลใช้บังคับ เพราะจะต้องเป็น อ.ก.ตร.พิจารณา

“การที่ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 165/2550 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 (คำสั่งปลดออกจากราชการ) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุผลเพราะคำสั่งปลดออกจากราชการยังไม่มีผลใช้บังคับ

“ที่สำคัญ ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับคำขอที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 17/2550 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 เมื่อคำสั่งปลดออกจากราชการยังไม่มีผลใช้บังคับ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 17/2550 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 (คำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ) จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คำสั่งไล่ออกยังมีผลบังคับอยู่ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจะขอกลับเข้ารับราชการไม่ได้ และไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ และหากผู้ใดทำการช่วยเหลือให้ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา กลับเข้ารับราชการโดยมิชอบก็จะมีความผิดตามกฎหมาย”

หนังสือของ นายวีระ ระบุอีกว่า ยังมีประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งว่า องค์คณะตุลาการศาลปกครองในคดีดังกล่าวนี้ ทำการไต่สวนคู่กรณีอย่างถูกต้องชอบธรรม ครบถ้วน ละเอียดรอบคอบหรือไม่ ทั้งในแง่ของข้อกฎหมาย และในแง่ของพยานหลักฐาน มีการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 80 วรรคสองดังกล่าวจริงหรือไม่ (หากมีการไม่ปฏิบัติตามมาตรา80 วรรคสองดังกล่าวจริง เห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญร้ายแรงและอนุกรรมการ ก.ตร.เองก็สามารถจะดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา 80 วรรคสองได้ และจะทำให้มติอนุกรรมการ ก.ตร.ที่ให้ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างที่ได้ให้เหตุผลไว้ว่ามาตรา 80 วรรคสองใช้กับกรรมการ ไม่ใช่ อนุกรรมการ)

เรื่องดังกล่าวสาระสำคัญจริงๆ อยู่ที่การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และการมีมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงแก่ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองเชียงใหม่ก็ไม่รับฟ้องในส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และยังให้เป็นพยานในคดีนี้

นอกจากนี้ การที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าวก็ไม่น่าจะสมเหตุสมผล หรือมีน้ำหนักเพียงพอ เนื่องจากในอนาคต หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า คำสั่งทางปกครองดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ก็จะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ เพราะให้คืนเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินที่ได้จากการมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้ไปโดยไม่มีสิทธิ เนื่องจากถูกคำสั่งไล่ออก หรือ ปลดออกจากราชการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยอมคืนเงิน และจะมีปัญหาที่รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่สูงขึ้นไปอีก

“นอกจากนี้ ยังมีระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 72 วรรคหนึ่งกำหนดให้ การมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองให้กระทำโดยองค์คณะหลังจากตุลาการผู้แถลงคดีได้เสนอคำแถลงการณ์แล้ว ข้อ 90 กำหนดให้คำสั่งชี้ขาดคดี นอกจากจะต้องระบุรายการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 วรรคหนึ่ง และจำนวนค่าธรรมเนียมที่คู่กรณีจะได้รับคืนแล้ว ให้ระบุชื่อตุลาการเจ้าของสำนวน และตุลาการผู้แถลงคดีด้วย ปรากฏว่า ในคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง

“ในกรณีดังกล่าวนี้ ไม่ได้มีการระบุชื่อตุลาการผู้แถลงคดีแต่อย่างใด ประเด็นนี้น่าสงสัยอย่างมาก ว่า ทำไมจึงไม่ยอมใส่ชื่อผู้แถลงคดี ทำให้น่าเชื่อว่าผู้แถลงคดีอาจมีความเห็นขัดแย้งกับองค์คณะตุลาการศาลปกครองคณะดังกล่าว จึงต้องการจะปกปิดหลักฐานหรือข้อเท็จจริงนี้ ไม่ให้สาธารณะได้รับทราบ”

จากเหตุผลดังกล่าวมาทั้งหมด จึงน่าเชื่อว่า องค์คณะตุลาการศาลปกครองในคดีดังกล่าวนี้ น่าจะกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (ตาม ป.อาญา มาตรา 157)

พร้อมกันนี้ ขอเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ในการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนอกจากต้องขอเอกสารจากศาลปกครองเชียงใหม่แล้ว ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำการขอเอกสารจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย เพื่อจะได้ทราบว่ามีผู้ใดบ้าง เช่น ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอนุกรรมการ ก.ตร.และ ก.ตร.และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางจะช่วยเหลือผู้ฟ้องคดีหรือไม่ หากมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางช่วยเหลือผู้ฟ้องคดี (พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา) โดยมิชอบ หรือมีมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการตำรวจ เนื่องจากทราบมาว่าขณะนี้มีการช่วยเหลือให้ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ได้กลับเข้ามารับราชการตำรวจแล้ว จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบด้วยว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบทำการช่วยเหลือให้ผู้ฟ้องคดีกลับข้าราชการตำรวจ
กำลังโหลดความคิดเห็น