xs
xsm
sm
md
lg

"โอ๋ สืบ 6 "ฟ้องศาลปค.เชียงใหม่ ถอนคำสั่งไล่ออก-กรุยทางกลับตร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"โอ๋ สืบ 6" ย่องเงียบร้องศาลปกครองเชียงใหม่ ให้ทุเลาคำสั่งไล่และปลดออก หวังเปิดทางกลับรับราชการตำรวจ ระบุ คำสั่งไล่และปลดออก ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทำให้หมดโอกาสและเสียเวลาเข้าโรงเรียนและดำรงตำแหน่งเป็น"ผู้การ"ติดยศ พล.ต.ต. ทั้งที่หนทางสุดสดใส

วานนี้(20 ม.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2550 เป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (สนว.ตร.) โดย พล.ต.ท.เอก อังสนานนท์ ผบช.สนว.ในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งให้"ไล่ออก"พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา" รองผบก.อก.สนว. อดีตผกก.สส.บก.น.6 หรือ"โอ๋ สืบ 6" ที่มีหลักฐานปรากฏทางภาพโทรทัศน์ของเอเอสทีวี โดยมีพฤติกรรมสั่งให้อันธพาลรุมทำร้ายประชาชนที่ไปต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ภายหลัง พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) จนได้ลดโทษเหลือเพียงปลดออกจากราชการนั้น จากนั้นมา พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เก็บตัวเงียบมาตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ซึ่งปัจจุบันปรากฏว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ได้ไปเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์" ซึ่งแปลว่า "เปี่ยมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน ทรงไว้ซึ่งความรู้อันเจิดจรัส(รุ่งเรือง)" แทน

**ร้องขอทุเลาคำสั่งไล่ออก-ปลดออก**

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2551 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งทุเลาการบังคับ ตามคำสั่งศาลปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 332/2550 ระหว่าง พ.ต.อ.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ(ผบช.สนว.)ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย

คำสั่งดังกล่าวระบุรายละเอียดว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ผกก.สส.น.6) ได้รับมอบหมายให้รักษาความปลอดภัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2549 ในวันดังกล่าว ได้มีการชุมนุมของฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายต่อต้านนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้นายวิชัย เอื้อสิยาพันธุ์ และนายฤทธิรงค์ ลิขิตประเสริฐกูล ฝ่ายต่อต้านที่ตะโกนขับไล่นายกรัฐมนตรีถูกทำร้ายร่างกาย ต่อมาวันที่ 25 ส.ค. บุคคลทั้งสอง ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจปทุมวัน ให้ดำเนินคดีอาญาผู้ฟ้องคดี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เนื่องจากเป็นผู้สั่งการให้นายจรัล จงอ่อน และนายชัยสิทธิ์ ลอม๊ะ ทำร้ายร่างกายตนเอง และละเว้นไม่ทำการจับบุคคลทั้งสอง พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อไต่สวนและวินิจฉัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมกาารไต่สวนกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2549 และมีมติเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2550 ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูล เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79(2) (5) และ(6) และมีมูลความผิดทางอาญาคามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200

**อ้างถูกกลั่นแกล้งให้ถูกรับโทษร้ายแรง**

ต่อมาวันที่ 20 ก.พ.2550 คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการพิจารณาสั่งลงโทษของสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ มีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้ออกคำสั่ง สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจที่ 17/2550 ลงโทษผู้ฟ้องคดีออกจากราชการในวันเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่ง ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ลงมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สั่งลดโทษจากไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เป็นปลดออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกคำสั่งที่ 165/2550 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2550 ลดโทษจากไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ และให้ยกเลิกคำสั่งที่ 17/2550 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2550 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ไต่สวนและชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัยผู้ฟ้องคดี ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ไม่ได้ให้เวลาตามสมควร ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไม่แจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ไม่ให้โอกาสในการนำพยานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหา ใช้ดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานไม่ถูกต้อง เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงผู้ฟ้องคดี อันมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี ให้ต้องรับโทษทางวินัยร้ายแรงเกินกว่าข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้ดุลยพินิจไม่ชอบในการออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและปลดออกจากราชการ ไม่พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฏหมายและองค์ประกอบความผิดวินัยร้ายแรงก่อนออกคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดี ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นข้อเท็จจริง ข้อกฏหมาย และองค์ประกอบความผิดทางวินัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้เป็นเหตุในการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี รวมทั้งไม่วินิจฉัยความชอบในการพิจารณามีมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้

**ขอเพิกถอนคำสั่งทั้งหมด**

1. เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 11/2550 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 ที่เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนและชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงของผู้ฟ้องคดี

2.เพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 17/2550 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และคำสั่งที่ 165/2550 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

3.เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการประชุมครั้งที่ 27/2550 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 ที่ไม่พิจารณาอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและองค์ประกอบความผิดทางวินัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้เป็นเหตุในการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี

ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 17/2550 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 และคำสั่งที่ 165/2550 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ไม่รับคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไว้พิจารณา และกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นพยานในคดีนี้และไม่รับคำขอที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 17/2550 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นคำชี้แจงในประเด็นเกี่ยวกับคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งตามปกครองสรุปได้ว่าคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและคำสั่งที่ให้ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ออกตามมติอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เกี่ยวกับการอุทธรณ์ซึ่งคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นเป็นการสั่งในประเด็นเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีก่อน และการให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง จึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าว

ศาลไต่สวนคู่กรณีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2550 ผู้ฟ้องคดีให้ถ้อยคำว่า คำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายหลายประการเช่น ไม่ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินสวัสดิการทั้งของตนและครอบครัว ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับ หรือการพิจารณาเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตลอดจนได้รับความเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียง หากผู้ฟ้องคดีไม่ถูกปลดออกจากราชการและดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการครบ 4 ปี หลังจากเข้ารับการอบรมโรงเรียนผู้บังคับการผู้ฟ้องคดีก็จะมีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการและจากประวัติการรับราชการผู้ฟ้องคดีจะเป็นบุคคลในอันดับแรกหรืออันดับต้นๆที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนระดับตำแหน่ง หากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งการปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แม้ว่าภายหลังศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวก็ไม่อาจนับระยะเวลาที่เสียไปได้ ความเสียหายดังกล่าวจึงยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ให้ถ้อยคำว่า ข้าราชการตำรวจที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในช่วงเวลาใดจะไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่งในช่วงเวลานั้นการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ก็ไม่นำช่วงเวลาที่ถูกออกจากราชการมาพิจารณาเช่นเดียวกับการออกเครื่องราชอิสริยาภรณ์

กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 165/2550 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาหรือไม่

ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 72 วรรคสาม กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่ากฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ทั้งการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎในชั้นไต่สวนจากการให้ถ้อยคำของผู้ถูกฟ้องคดีได้ความว่า ข้าราชการตำรวจรายใดที่ถูกออกจากราชการจะไม่สามารถนำระยะเวลาที่ออกจากราชการมาพิจารณาเพื่อให้ได้รับการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง เช่นเดียวกับการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่ให้แก่ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งที่มีเงินประจำตำแหน่งและต้องปฏิบัติงานจริง หากผู้ใดถูกคำสั่งให้ประจำหรืออย่างใดๆที่ไม่ได้มีการปฏิบัติงานจะไม่ได้รับเงินตอบแทน

**ศาลสั่งทุเลาจนกว่าจะมีคำพิพากษา**

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และพระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 80 วรรคสอง ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนอกจากไม่ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง สวัสดิการอื่นๆ ทั้งของตนเองและครอบครัว รวมถึงความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ซึ่งผู้ฟ้งคดีอาจมีสิทธิ์ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นหากไม่ถูกปลดออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีก็ไม่อาจได้รับเงินประจำตำแหน่งและไม่สามารถได้รับการนับระยะเวลาในช่วงที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเพื่อที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรณีจึงเป็นความเสียหายที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง และการให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ฟ้องคดี อีกทั้งการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 165/2550 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังไม่ทราบเหตุผลว่า เหตุใด พ.ต.อ.ธนายุตม์ หรือฤทธิรงค์ จึงไปดำเนินฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งเขตอำนาจสอบสวนสวนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ร้องมีภูมิลำเนา หรือหน่วยงานในสังกัด อยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของศาลปกครองเชียงใหม่ ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบดีกันว่า พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เดิมนั้น มีครอบครัวอยู่ที่ จ.นครราชสีมา

พ.ต.อ.ธนายุตม์ หรือฤทธิรงค์ จบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาตรีนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล นครราชสีมา เป็นนักเรียนนายร้อยอบรมรุ่น 15 รุ่นเดียวกับ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจบหลักสูตร ผกก. รุ่น 35 ก่อนมาเป็นผกก.สส.บก.น.6 ดำรงตำแหน่งเป็น ผกก.สภ.อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งว่ากันว่า มีสถิติคดีฆ่าตัดตอนสูงที่สุดในจังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น