xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 71 ปฐมบทสู่การก่อตัวของขบวนการนิสิตนักศึกษา (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: เรืองวิทยาคม

ในการเรียนปีที่ 4 นั้น ถึงแม้ผมจะทำงานอยู่ที่บริษัท สากลสถาปัตย์ จำกัดแล้ว แต่ก็ได้เพียรปลีกเวลาไปเรียนเท่าที่จะสามารถจัดเวลาได้ และเป็นการเรียนทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักศึกษาอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาด้วย

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมผมจึงสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างในห้วงเวลานั้น แต่มันก็เป็นไปแล้ว

การเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ไม่ต้องใช้เวลามากมายอะไรนักเพราะได้คุ้นเคยกับแบบแผนการสอนของครูบาอาจารย์เป็นอย่างดีมาแล้ว ดังนั้นวิชาส่วนใหญ่ที่ผู้บรรยายมีเอกสารประกอบและมักจะบรรยายตามเอกสารประกอบนั้นก็เป็นอันไม่ต้องเข้าฟัง เพราะเพียงแค่ขอเอกสารประกอบการบรรยายจากเพื่อนฝูงมาอ่านดู ประกอบกับอ่านตัวบทกฎหมายแล้วก็เพียงพอ

เวลาเรียนจริง ๆ จึงเรียนเฉพาะวิชาที่ผู้บรรยายบรรยายไปอย่างหนึ่ง และมีเอกสารประกอบการบรรยายไปอีกอย่างหนึ่ง แต่บางครั้งผมก็ไม่ได้เข้าฟังคำบรรยาย ในกรณีนี้ผมก็จะขอยืมเทปของเพื่อนฝูงที่อัดคำบรรยายไว้มาฟังประกอบเอกสารการบรรยายนั้น

การเรียนในปีที่ 4 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นดังนี้ จึงทำให้ผมยังมีเวลาเหลืออีก และเวลาที่เหลือนั้นก็ได้ใช้ไปในการทำกิจกรรมนักศึกษาต่อเนื่องมาจากปีก่อน แต่ปีนี้เบาหน่อยหนึ่งเพราะรุ่นน้องเข้ามารับช่วงงานเป็นส่วนใหญ่

ในขณะนั้นความขัดแย้งภายในระหว่างคณะได้รับการชำระสะสางจนบางเบาไปหมดแล้ว มีการประสานงานระหว่างผู้นำนักศึกษาคณะต่าง ๆ และระหว่างผู้นำชมรมต่าง ๆ ของแต่ละคณะ
จากความที่เคยพิพาทบาดหมางกลายมาเป็นความร่วมมือกัน บางกิจกรรมก็ทำร่วมกัน บางกิจกรรมก็สนับสนุนกันและกัน สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดการประสานงานในมิติใหม่ขึ้นคือระหว่างคณะ ทำให้เกิดความสามัคคีภายในมหาวิทยาลัยที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อนักศึกษาทุกคณะมีการประสานงานและรวมตัวกันได้ พลังของเยาวชนก็ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ แม้ว่าจะยังไม่มีใครรู้และเข้าใจมันก็ตาม

แล้วอยู่มาก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้! เพราะรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ท่านเห็นชอบให้มีการขึ้นค่ารถเมล์โดยสารจาก 50 สตางค์ เป็น 75 สตางค์ เท่ากับขึ้นราคาถึง 25% องค์กรนักศึกษาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยจึงไม่พอใจ ประกอบทั้งการเคลื่อนไหวกิจกรรมค่อนข้างจะอิ่มตัวแล้วและมีความสุกงอมพอประมาณในสถานการณ์นั้น ๆ แล้ว

ในหมู่แกนนำนักศึกษาจึงมีความคิดอยากลองวิชากันขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มแกนนำจำนวน 12 คน ผมก็ได้รับการชักชวนจากเพื่อนนักศึกษา คือคณัศ พันธรักษ์ราชเดช ให้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในครั้งนี้

ได้มีการประชุมกำหนดแผนการเคลื่อนไหวให้เป็นรูปแบบการชุมนุมประท้วงและเดินขบวน โดยตั้งหลักเริ่มต้นกันที่ท้องสนามหลวง

เป็นการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนเป็นครั้งแรกหลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยถูกยึดโดยฝ่ายทหารในห้วงเวลาก่อนหน้านั้น และหลังจากนั้นแล้วก็ไม่เคยมีปรากฏการชุมนุมประท้วงหรือเดินขบวนของนักศึกษาอีกเลย

การชุมนุมเดินขบวนครั้งนี้จึงมีนัยทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองในมิติแห่งการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษา

พวกเราระดมนักศึกษาได้ประมาณ 200 คน พร้อมทำป้ายโปสเตอร์ต่าง ๆ ไม่กี่แผ่น และออกไปตั้งหลักกันที่ท้องสนามหลวง ใช้โทรโข่งกล่าวปราศรัยแล้วเดินไปใกล้ ๆ ในระยะทางสั้น ๆ
แต่นักข่าวก็มาทำข่าวกันเป็นจำนวนมากเพราะเป็นเรื่องแปลกที่การชุมนุมประท้วงและเดินขบวนเกิดขึ้นในยุคสมัยเผด็จการ ซึ่งสมัยนั้นเป็นความผิดและอาจถูกจับกุมคุมขังได้โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาด้วยซ้ำไป

แต่รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ท่านก็ไม่ว่าอะไร เพราะคงจะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่รุนแรงอะไรนัก และรัฐบาลก็ได้ผ่อนปรนลดค่าโดยสารรถเมล์ลงมาจาก 75 สตางค์ มาเป็น 50 สตางค์ตามเดิม

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าแกนนำนักศึกษาแต่ละคนไม่เคยมีประวัติในเรื่องการเคลื่อนไหวหรือการต่อต้านรัฐบาล ภาพลักษณ์จึงออกไปในลักษณะที่เป็นการเคลื่อนไหวด้วยจิตใจบริสุทธิ์ และเป็นการสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท่านคงคิดที่จะสร้างความศรัทธาในหมู่ประชาชนว่าถึงแม้เป็นรัฐบาลเผด็จการก็รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้ว่าจะเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ตาม

ผมเข้าใจว่ารัฐบาลคงคิดเอาอย่างหลัง และหวังจะสร้างคะแนนนิยม ซึ่งก็ได้ผลมาก เพราะคนจำนวนหนึ่งก็เห็นว่ารัฐบาลมีน้ำใจกว้าง รับฟังแม้กระทั่งเสียงเรียกร้องของเด็กๆ

แต่พวกเราถือว่าการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ระยะเวลาสั้น ๆ ในประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์และความเดือดร้อนของประชาชนคนชั้นกลางนั้นประสบชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ และมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายประการ เช่น

ประการแรก เป็นการพิสูจน์ทัศนะความคิดบางประการว่าเผด็จการทั้งปวงล้วนเป็นเสือกระดาษ ไม่ว่าเผด็จการนั้นจะเป็นชาติมหาอำนาจหรือเป็นเผด็จการในประเทศ ขอเพียงไม่กระทบหรือเผชิญหน้าอย่างสำคัญ พวกเขาก็พร้อมจะล่าถอยเสมอ และถ้าประชาชนมีความพร้อม พวกเขาก็ไม่อยากจะต่อสู้

ประการที่สอง เป็นการพิสูจน์ว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนแม้จากภาคนักศึกษาก็สามารถมีพลังและสามารถกดดันต่อรัฐบาลได้ในบางระดับ โดยเฉพาะถ้าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของคนหมู่มากก็ยิ่งมีพลังมากขึ้น ดังนั้นการชี้นำประเด็นการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่จึงมีผลต่อชัยชนะอย่างสำคัญ

ประการที่สาม เป็นการกอบกู้ศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังจากถูกอำนาจเผด็จการยึดครองไประยะหนึ่ง รวมทั้งการส่งสมุนบริวารเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัยในรูปแบบต่างๆ

ทั้งสามประการนี้นั้นได้ขยายผลออกไปทั้งภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย

ได้มีการสรุปผลและบทเรียนของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ในประการดังกล่าวนั้น ซึ่งอาจถือได้ว่านี่คือบทเรียนการเคลื่อนไหวมวลชนที่เริ่มต้นจากขบวนการนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรก หลังจากที่มหาวิทยาลัยเคยถูกยึดไปเมื่อหลายปีก่อน

การสรุปบทเรียนดังกล่าวทำให้แกนนำนักศึกษาในทุกคณะได้รู้และเข้าใจบทบาท ตลอดจนพลังอันบริสุทธิ์ของเยาวชนที่จะส่งผลต่อบ้านเมืองและรัฐบาล ประกอบทั้งขณะนั้นหนังสือชีวทัศน์เยาวชนซึ่งเป็นหนังสือที่ชี้นำการใช้ชีวิต การมองโลกส่วนตัวและมองโลกภายนอกของเยาวชน ได้เผยแพร่ค่อนข้างจะกว้างขวางแล้ว จึงทำให้บรรดาแกนนำนักศึกษามีความมั่นอกมั่นใจในพลังของเยาวชนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ภายในมหาวิทยาลัยนั้น การเคลื่อนไหวกิจกรรมนักศึกษาในทุกคณะและในทุกชมรมมีความคึกคักยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางความคิดประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง และมีการตั้งกลุ่มเพื่ออภิปรายปัญหาต่าง ๆ อย่างกว้างขวางด้วย

ภายนอกมหาวิทยาลัย ก็เกิดความสนใจขึ้นในบรรดานิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทำให้การเคลื่อนไหวภายในแต่ละมหาวิทยาลัยค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และทำให้นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยมีความตื่นตัวในทางการเมืองมากขึ้น

ในห้วงเวลานั้น สิ่งที่เรียกว่าวีรชนเดือนตุลาก็ดี คนเดือนตุลาก็ดียังไม่กำเนิดขึ้น

ผลจากการเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยทำให้การตื่นตัวทางการเมืองในหมู่นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เริ่มมีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างผู้นำชมรมหรือผู้นำกลุ่มต่างๆระหว่างมหาวิทยาลัย


มีการแลกเปลี่ยนเอกสารเผยแพร่ระหว่างกัน มีการประชุมปรึกษาร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนผู้นำการอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

และที่เกิดปรากฏการณ์ใหม่ก็คือเริ่มมีเอกสารของฝ่ายสังคมนิยมหรือฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามาเผยแพร่อย่างเงียบ ๆ มากขึ้น

โปรดติดตามตอนที่ 71 “ปฐมบทสู่การก่อตัวของขบวนการนิสิตนักศึกษา ตอน 2 (จบ)” ในวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น