xs
xsm
sm
md
lg

จ่อปลด"ธาริษา"สังเวย 30% แฉใบสั่งทักษิณตั้ง "ธีระชัย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จำเลยคดีที่ดินรัชดาสั่งหมอเลี้ยบเร่งปลด "ธาริษา" พ้นเก้าอี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เซ่นมาตรการ 30%-เจ๊งค่าเงิน 4 แสนล้าน แฉใบสั่งตั้ง "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" เสียบแทน วงการหนุนปลดธาริษา เพราะขาดภาวะผู้นำ หากล่าช้าไทยจะเจ๊งค่าเงินจนล้มละลาย แต่การส่งธีระชัยถือเป็นวาระซ่อนเร้นของทักษิณ เหตุเคยอุ้มชูกันมา จับตารวยค่าเงินภาค 2 นายแบงก์เสนอตั้ง "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" จะเหมาะสมกว่า ตลาดคาดการณ์บาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและจำเลยในคดีที่ดินรัชดา เร่ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินลงทุนระยะสั้น พร้อมปลด นางธาริษา วัฒนเกส ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากทำให้ ธปท.ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการเข้าแทรกแซงในช่วงที่ผ่านมาจน ธปท.ขาดทุนไปแล้ว 4 แสนล้านบาท หลังจากนั้นให้แต่งตั้งนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำหน้าที่แทน

"แม้ว่าแบงก์ชาติจะแถลงข่าวยกเลิกมาตรการ 30% มีผลตั้งแต่วันจันทร์ (3 มี.ค.) ไปแล้ว แต่การเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ ยังเดินหน้าต่อ โดยนายกฯ ตัวจริง (พ.ต.ท.ทักษิณ) ต้องการให้แต่งตั้งคุณธีระชัย ซึ่งเป็นลูกหม้อแบงก์ชาติที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านปริวรรตเงินตรา จึงเหมาะกับผู้นำแบงก์ชาติในภาวะที่ดอลลาร์อ่อนค่าในขณะนี้"

แหล่งข่าวอ้างว่า จากการสอบถามผู้บริหารธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ ธปท. เนื่องจากนางธาริษาขาดภาวะผู้นำ ในโลกการเงินเสรีที่เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน ดังนั้นการที่ไทยใช้ระบบที่อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวจำเป็นต้องใช้ผู้ว่าฯ ธปท.ที่เชี่ยวชาญหรือมีบารมีมากพอเพื่อปกป้องค่าเงินบาท ขณะที่นางธาริษาไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านปริวรรตเงินตรา

นอกจากนี้นายแบงก์ยังเห็นว่า ธปท.ยุคปัจจุบันไม่โปร่งใส เห็นได้จากพยายามปกปิดธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนในงบประจำปี โดยการไม่เปิดเผยส่วนของกำไรหรือขาดทุนค่าเงิน นอกจากนี้ ธปท.ยังอ้างว่าผลขาดทุนเป็นเพียงการขาดทุนทางบัญชี อย่างไรก็ตามหากประเมินจากตัวเลขรวมแล้วคาดว่า ธปท.ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการเข้าแทรกแซงไม่น้อยกว่า 380,000-400,000 ล้านบาท

"การเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเป็นเรื่องการบ้าน ไม่ใช่การเมืองเหมือนการปลดข้าราชการ เพราะหากปล่อยไว้ผลขาดทุนจากการแข็งค่าของเงินบาทจะเกิดขึ้นต่อเนื่องนำไปสู่การล้มละลายทางฐานะการเงินของไทยเหมือนปี 40 เนื่องจากต่างชาติทราบข้อมูลทุนสำรองและการแทรกแซงของแบงก์ชาติ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนเก็งกำไรจะโจมตีเมื่อไหร่เท่านั้นเอง"

แหล่งข่าวยอมรับว่า การเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ ธปท. รัฐบาลต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ดังนั้นอาจจะตั้งกรรมการขึ้นมาสอบผู้ว่าฯ ธปท.กรณีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ ต้นตอความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไทยกำลังเผชิญเกิดจาก ธปท.ซึ่งเป็นผู้ถือเงินบาทรายใหญ่ที่สุดประมาท เข้าไปเป็นผู้เล่น แทนที่จะซื้อดอลลาร์เฉพาะในตลาดสปอต (ส่งมอบทันที) กลับเข้าไปซื้อขายในตลาดสวอปโดยการซื้อดอลลาร์ล่วงหน้า หวังเป็นเป็นผู้กำหนดราคา โดยลืมอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง ทำให้เงินบาทกระจายไปอยู่ในมือนักเก็งกำไร ทำให้ ธปท.ต้องแทรกแซงต่อไป

"การยกเลิกมาตรการ 30% ช่วงแรกเจอปัญหาเงินเก็งกำไรทะลักเข้ามาทำให้บาทแข็ง แต่หลังจากนั้นอุปสงค์อุปทานก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติเพราะเป็นกลไกตลาดที่แท้จริง ไม่ใช่บิดเบือน หลังจากนั้นแบงก์ชาติต้องควบคุมเงินบาทให้อยู่ในกรอบที่วางไว้ ประเด็นอยู่ที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่เป็นใคร น่าเชื่อถือขนาดไหน การกำหนดช่วงการเคลื่อนไหวค่าเงินปัจจุบันทำอยู่แล้ว แต่คุณธาริษาควบคุมให้อยู่ในกรอบไม่ได้"
แหล่งข่าวกล่าว และว่า ผู้บริหาร ธปท.หวังว่าจะมีเม็ดเงินมหาศาลจากการลงทุนระยะยาวผ่านเมกะโปรเจกต์พร้อมออกพันธบัตรช่วยพยุงค่าเงินไม่ให้แข็งค่ามากไปกว่านี้ ซึ่งการคลอดเมกะโปรเจกต์ยังเป็นเรื่องอนาคต ขณะที่เครื่องมือทางการเงินอื่นแทบไม่เหลือ เช่น การจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่สามารถทำได้เพราะถูกแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ

ส่วนกรณีที่จะส่งนายธีระชัยเข้าไปเป็นผู้ว่าฯ ธปท.นั้น แหล่งข่าวแบงก์พาณิชย์เห็นว่า แม้ว่านายธีระชัยจะมีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญด้านปริวรรตเงินตรา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ โดยก่อนหน้านี้นายธีระชัย เคยออกมาแสดงหลักฐานยืนยันเรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้นรวมถึงเรื่องการเสียภาษีกรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ที่ถือครองทั้งหมดให้ บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ว่าไม่พบความผิดปกติ และสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากถือว่เป็นการขายจากบุคคลธรรมดา
 
ซึ่งภายหลังจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ออกมาระบุว่าพบความผิดและความไม่โปร่งใสจากการกระทำดังกล่าว ทำให้ ก.ล.ต.ยอมรับว่าในเวลานั้นข้อมูลไม่เพียงพอจึงจะนำเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
 
จากประเด็นดังกล่าวรัฐบาลอาจถูกมองว่าการตั้งนายธีระชัยอาจมีวาระซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์เรื่องค่าเงิน เนื่องจากเมื่อปี 2540 มีข่าวลือว่า บริษัทในเครือข่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีมีกำไรจากการลอยค่าเงินบาท เพราะได้ข้อมูลภายในจาก ธปท.และกระทรวงการคลัง ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทรอบนี้อาจมีการอินไซด์ข้อมูลเพื่อเก็งกำไรอีกครั้ง ดังนั้นผู้เหมาะสมที่จะมาแทนนางธาริษาในขณะนี้น่าจะเป็น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ลูกหม้อ ธปท. อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. 
 
สำหรับนายธีระชัย เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 46 และหมดวาระเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 50 และ ครม.ให้ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะมีการแต่งตั้ง ก.ล.ต.ชุดใหม่ เมื่อร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่มีการเสนอแก้ไขประกาศใช้ในเร็วๆ นี้
 
คาดบาทเด้งแข็งค่าต่อ

นายกอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา จะยังคงมีผลต่อค่าเงินบาทในวันจันทร์และอังคารนี้อย่างต่อเนื่อง โดยน่าจะทำให้ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ประกาศยกเลิกนั้นเป็นช่วงใกล้ปิดตลาดทำให้ผลจากการประกาศยกเลิกยังไม่ได้แสดงออกมาอย่างแท้จริงนัก

ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากตลาดรับรู้ข่าวอย่างเต็มที่แล้วค่าเงินบาทก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัว ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ การเก็งกำไรค่าเงินจะทำโดยวิธีใดต่อไป แม้ว่าจากการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้มีการเก็งกำไรลดลงบ้าง และคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะที่ค่าเงินบาทในตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ (ออฟชอร์) และตลาดในประเทศ (ออนชอร์) จะมาอยู่ในระดับเดียวกัน

"การยกเลิกมาตการกันสำรอง 30% ครั้งนี้เชื่อว่าเพราะ ธปท. มีแรงกดดันเชิงบวกจากปัจจัยเรื่องการมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์มีความสับสนเกี่ยวกับมาตรการนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งต่อจากนี้หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เชื่อว่า ธปท.ก็จะยังเข้าแทรกแซงบ้างเป็นครั้งคราว"

นายกอบสิทธ์ กล่าวว่า ในส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่กับตะกร้าเงินสกุลที่สำคัญนั้น หากเป็นเพียงระยะสั้นมองสามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยหากจะทำแบบผูกค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่นแบบถาวร เนื่องจากจะทำให้ ธปท.สูญเสียอำนาจในการบริหาร เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะขึ้นอยู่กับประเทศที่นำค่าเงินไปผูกด้วย

"ยกตัวอย่างเช่น หากนำค่าเงินบาทไปผูกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หากค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง ก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปด้วย เมื่อเทียบกับเงินในสกุลอื่น ซึ่งอาจทำให้มีแนวโน้มของเงินเฟ้อที่มากขึ้น และทำให้เราสูญเสียการบริหารเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจเราจะโยงกับสหรัฐฯมากขึ้น อีกทั้งค่าเงินในแต่ละประเทศไม่ได้สมดุลกันด้วย"

จี้เร่งดูแลผู้ส่งออกรายเล็ก

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ฝ่ายการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%นั้น เป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันอยู่แล้วว่าจะยกเลิกภายในปีนี้ ดังนั้นภายหลังจากที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เงินบาทก็ไม่น่าจะแข็งค่าขึ้นรุนแรงอีก

สำหรับผลกระทบต่อผู้ส่งออกที่มีหลายๆ ฝ่ายเป็นห่วงนั้น ในช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกรายเล็กได้รับผลกระทบต่อค่าเงินบาทเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ก็ควรที่จะมีการดูแลผู้ส่งออกรายย่อยที่จะต้องได้รับผลกระทบมากขึ้นด้วย จึงน่าจะมีมาตรการเข้ามาดูแลตรงนี้ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลควรที่จะหันมาใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่านี้ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศอย่างจริงจัง โดยอาศัยความได้เปรียบจากการแข็งค่าของเงินบาทในการนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรเพื่อใช้ในการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น