นายแบงก์ประเมิน ธปท.มี 2 ทางเลือก กำหนด ดบ.นโยบาย วันนี้ “ลด-คง” ดอกเบี้ย R/P เพื่อส่งสัญญาณต่อระบบศก. หลังมีหลากหลายปัจจัยกดดัน “ทีดีอาร์ไอ-กสิกรไทย” ฟันธง กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย ชี้ ศก.จะแข็งแกร่งขึ้นจากการลงทุนเมกะโปรเจกต์ และการอัดฉีดกระตุ้นการบริโภคฟื้นความเชื่อมั่น ขณะที่ “ไทยธนาคาร-นครหลวงไทย” เชื่อเงินเฟ้อกดดันหั่น ดบ.ลง 0.25-0.50% เนื่องจากภาวะ ดบ.โลก และราคาน้ำมัน
วันนี้ (27 ก.พ.) มีรายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมรอบที่ 2 ของปี ในวันนี้ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย : อาร์/พี) ระยะ 1 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 3.25% โดยระบุว่าปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงมากและมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงตัวแปรในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยการอัดฉีดการอุปโภคบริโภค และฟื้นความเชื่อมั่น
โดยปัจจัยความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญในขณะนี้ ได้แก่ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจรุนแรงและกินเวลายาวนานกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลตามมาให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากและรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก รวมถึงราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงถีบตัวสูงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยดังกล่าวกำลังบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจโลก และส่งผลให้นักลงทุนเริ่มถอยหนีออกจากการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า มีแนวโน้มเสื่อมค่าลง
ดังนั้น การตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 27 ก.พ.นี้ จะสะท้อนถึงมุมมองและการให้น้ำหนักความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจว่าเป็นเช่นไร
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า การประชุมในวันพรุ่งนี้ ธปท.คงจะตัดสินใจลำบาก เพราะต้องมองปัจจัยเสี่ยงทั้ง 2 ด้าน ซึ่งมีความกดดันอยู่ไม่น้อยไปกว่ากัน ทั้งด้านการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงประเมินได้ยากมากว่าจะลดดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าแนวโน้มน่าจะเอนเอียงมาทางคงดอกเบี้ยมากกว่า
นายชัยนันท์ ลภิธนานุวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายงานลูกค้ารายย่อยธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้ม กนง.น่าจะปรับลดดอกเบี้ย เพื่อให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของ เฟด คาดว่าน่าจะลดลงอีก 0.50% หากปรับลดก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนต้องการด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ต่างๆจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
ดร.บรรลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายนบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) มองว่า การประชุม กนง.ในวันนี้ เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากมาก เพราะการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย หรือคงดอกเบี้ย เพื่อส่งสัญญาณต่อระบบเศรษฐกิจ ต่างก็มีผลกระทบทั้ง 2 ด้าน เปรียบเทียบกับการเดินทางที่กำลังไปเจอทางสองแพร่งที่ต้องตัดสินใจว่าเส้นทางใดมีอันตรายน้อยที่สุด
“ก่อนหน้านี้ ธปท.มีแนวโน้มที่ค่อนทางลดดอกเบี้ย พอช่วงใกล้ถึงวันประชุมฯ ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ อีกครั้งหนึ่ง แรงกดดันเงินเฟ้อจึงเพิ่มขึ้น ทำให้ลดดอกเบี้ยได้ยากขึ้น โดยเชื่อว่า การพิจารณาครั้งนี้ ธปท.น่าจะคิดมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าจะให้ฟันธงจริงๆ คิดว่าน่าจะคงไว้ที่ระดับ 3.25% เหมือนเดิม"
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เชื่อว่า กนง.จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม 3.25% เนื่องจากกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ที่เพิ่มสูงขึ้น
“ผมไม่เชื่อว่า ธปท.จะใช้นโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวะที่เงินเฟ้อน่าเป็นห่วงเช่นนี้”
นายสมชัย กล่าวว่า แนวโน้มต้นทุนการกู้เงินของภาครัฐและเอกชนก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะการกู้เงินของรัฐบาล ที่จะมีการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เป็นภาระกับเงินงบประมาณในปีต่อๆ ไป
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 2551 อยู่ที่ 4.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานอยู่ที่ 1.2% โดยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากราคาน้ำมันสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนของสินค้าปรับเพิ่มขึ้น