อุบลราชธานี-กรมการขนส่งทางบก เตรียมสร้างสถานีรับ-ส่งสินค้า ของอีสานตอนล่างที่ จ.อุบลฯ เพราะมีศักยภาพด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมและเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีน ด้านเอกชนขานรับพร้อมลงทุน โดยให้รัฐเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลอยู่ห่างๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนสำคัญของการขนส่งระบบล้อเลื่อน ปรับราคาสูงขึ้น กรมการขนส่งทางบก ได้จัดระดมสมองการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลัก และตามจังหวัดชายแดนครั้งที่ 3 ที่โรงแรมอินเตอร์เนชั่นแนล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยมีผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้าของภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีเข้าร่วม
สำหรับการสัมมนาระดมสมองของผู้ประกอบธุรกิจครั้งนี้ ผู้แทนบริษัทเอเชี่ยนเอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ได้นำเสนอผลงานการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าที่ จ.อุบลราชธานี โดยสรุปว่า เพราะจังหวัดอุบลราชธานีมีปริมาณการผลิตและการบริโภคภายในจังหวัดสูง มีผลิตภัณฑ์มวลรวมมากเป็นอันดับที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือรองจาก จ.นครราชสีมา และขอนแก่น
รวมทั้งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชาและลาว สามารถใช้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าภายในกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงคือ ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ
การขนส่งทางบกของจังหวัดอุบลราชธานี จึงมีความเหมาะสมที่จะตั้งเป็นสถานีขนส่งสินค้าของภาคอีสานตอนล่าง เพราะเอื้อต่อการพัฒนากลุ่มจังหวัดตามแนวชายแดนด้านนี้ และผู้ประกอบการการค้า การขนส่ง การท่องเที่ยว จะได้รับประโยชน์จากความพร้อมที่มีการวางโครงข่ายพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น
ด้านนายรณยุทธ ตั้งรวมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งสถานีขนส่งในส่วนภูมิภาค ว่า เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เพราะสถานีขนส่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งศูนย์รวมสินค้าและกระจายสินค้าในภาคอีสานตอนล่าง ทำให้แบ่งเบาภาระให้ผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการขนส่งทั้งขาไปและขากลับ ซึ่งเหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักในการประกอบธุรกิจขนส่งแบบล้อเลื่อนมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้ลงนามความร่วมมือ GMS กับประเทศเพื่อนบ้านในอนุลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยประเทศจีน เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงขนถ่ายสินค้าทางบกถึงกัน จึงต้องจัดให้มีจุดรวมสินค้าตามจังหวัดหัวเมืองชายแดนและหัวเมืองสำคัญ ซึ่งหัวเมืองชายแดนในภาคอีสานที่กำลังดำเนินการคือ สถานีขนส่งจังหวัดมุกดาหาร
สำหรับการจัดตั้งสถานีขนส่งที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดไว้ 3 แนวทางคือ 1.รัฐเป็นผู้ลงทุน 100% 2.เอกชนลงทุนโดยรัฐบาลให้การสนับสนุน 3.ให้เอกชนลงทุน 100% โดยรัฐเป็นผู้ให้ใบอนุญาต ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ กำลังมีการหารือในเรื่องดังกล่าวด้วย
ด้านนายปราโมทย์ กงทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าอีสานกล่าวว่า การจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันแพง ค่าขนส่งก็ไม่สามารถปรับขึ้นได้ตามราคาน้ำมัน ถ้ามีสถานีขนส่งสินค้า จะลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการขนส่งสามารถอยู่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง ซึ่งจะมีผลไปถึงประชาชนที่ใช้บริการไม่ต้องมาแบกรับภาระค่าขนส่งสินค้า เมื่อน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักของการประกอบธุรกิจประเภทนี้ปรับขึ้นอีก รวมทั้งสถานีขนส่งสินค้าควรมีอยู่ตามเมืองหลักและเมืองชายแดน ที่มีความพร้อมทุกจังหวัด
สำหรับการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าควรให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะสามารถจัดทำสถานีขนส่งได้เร็วกว่าภาครัฐ ที่ติดขัดเรื่องระเบียบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยรัฐทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลและเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้เท่านั้นก็พอ